fbpx

Author Archives: GRANTScreativeWe40

พาไปดู 10 บ้าน ที่ประตูหน้าต่างเปิดกว้างได้ใจ

พาไปดู 10 บ้าน ที่ประตูหน้าต่างเปิดกว้างได้ใจ

ความฝันของคนรักบ้านหลายๆ คนคือการได้เปิดบานหน้าต่างออกให้กว้างที่สุดเพื่อรับวิวสวยๆ ภายนอกบ้าน ทิวทัศน์ภายนอกนอกจากจะทำหน้าที่เป็นฉากหลังให้กับการใช้ชีวิตแล้ว หลายครั้งที่ดีไซน์ของบ้านเราก็กลายเป็นหนึ่งในบรรยากาศที่ดีส่งกลับคืนไปให้กับธรรมชาติที่รายรอบอีกด้วย งานออกแบบที่ดีจึงสะท้อนถึงความใส่ใจของเจ้าของบ้าน ไปพร้อมกับการสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยงามให้กับเมืองในแง่มุมมิติทางสังคม วันนี้เราจึงพาคุณไปดูบ้าน 10 หลังจากรอบโลก ที่จะเปิดมุมมองการตกแต่งบ้าน ไปพร้อมกับมุมมองของบรรยากาศและเมือง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสังคมของการอยู่อาศัย

U House : Canalli Arquitetura, Brazil

ประเทศบราซิลเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศแบบเมืองร้อนใกล้เคียงกับบ้านเรา และบ้านหลังนี้ที่อยู่ในแถบภูเขา จึงถูกออกแบบเพื่อคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งเรื่องทิศทางของแสงแดด ทิศทางลม และฝน เพื่อควบคุมอุณหภูมิของการอยู่อาศัยให้พอเหมาะพอดี การออกแบบเลือกใช้บางส่วนของผนังกรุไม้ร่วมกับผนังส่วนใหญ่ที่เป็นบานเลื่อนกระจกแบบเต็มผืน โดยใช้การวางผังบ้านรูปตัว U เข้าช่วยในการควบคุมลักษณะอากาศ​ บางห้องจึงสามารถจัดวางผืนกระจกได้รอบด้าน และโดยรวมของบ้านมีกระจกที่เปิดมองเห็นวิวได้ครบ 360 องศา

Baby Point Residence : Batay-Csorba Architects, Canada

บ้านหลังน่ารักเปิดหน้ากว้างของบานกระจกและผืนผนังล้อไปกับความลาดเอียงของหลังคาทรงจั่ว ภายนอกออกแบบให้กลมกลืนกับบรรยากาศธรรมชาติและเรื่องราวที่มาของผืนที่ดินที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 1820 ตรงกันข้ามกับภายในที่ออกแบบให้คลีนด้วยการใช้สีขาวกับทุกพื้นผิว เติมไลฟ์สไตล์ของการอยู่บ้านที่ตัดกันกับร่มเงาสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ด้านนอก ติดตั้งมู่ลี่แบบม้วนเหนือกรอบบานประตูสำหรับกรองแสงในเวลาที่ต้องปิดอำพราง และยังช่วยเน้นให้เส้นของกรอบหน้าต่างกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมได้อย่างเรียบร้อย

House of Pipes : Parallax, India

บ้านกลางสวนมะพร้าวที่เล่นกับความสูงชะลูดของลำต้นด้วยการทำบ้านยกใต้ถุนแบบที่พวกเราคุ้นเคย การยกระดับเช่นนี้นอกจากจะช่วยเปิดทัศนียภาพให้มองเห็นได้สูงและกว้างไกลขึ้นแล้ว ยังช่วยในการระบายอากาศสำหรับบ้านในเขตเมืองร้อน โครงสร้างหลักวางตัวตามแนวนอน ระเบียงชายคาส่วนหน้าสุดป้องกันด้วยแนวระเบียงที่ปิดสูงตลอดแนว แต่ด้วยการใช้โครงสร้างเหล็กที่มีความบางจึงไม่กีดขวางทัศนวิสัยภายนอก เจ้าของเลือกใช้การเปิดกระจกบานเลื่อนเป็นผืนผนังบานใหญ่ เปิดรับบรรยากาศภายนอกเต็มที่โดยยังสามารถปกป้องบ้านจากสภาพอากาศที่ปรวนแปรด้วยการใช้ชายคา

H House : BAUM, Japan

อย่างที่ทราบโดยทั่วไปว่า บ้านในประเทศญี่ปุ่นมักคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวเป็นสำคัญ​ เช่นเดียวกันกับบ้านหลังนี้ ที่แม้ภายนอกจะเห็นเป็นผนังและหน้าต่างกรอบใหญ่ แต่ความสนุกอยู่ที่พื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวที่เปิดออกสู่บรรยากาศนอกบ้านอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับปรัชญาการใช้ชีวิตในวิถีเซน พื้นที่ส่วนตัวแห่งนี้ซ่อนตัวอย่างสงบบนชั้นดาดฟ้าตามขวางกับส่วนหน้าบ้าน หากแต่ยังเป็นหนึ่งในหน้าต่างบานหลักของบ้านที่ดึงเอาแสงสว่างเข้ามาสร้างชีวิตชีวาให้กับครอบครัว กรอบบานหน้าต่างกรอบไม้บานใหญ่ดีไซน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบ้านที่เน้นพื้นผิวไม้เป็นสำคัญ ความเป็นธรรมชาติจึงคงอยู่ในทุกจุดของการอยู่อาศัย

Elm Grove House : Ben Walker Architects, Australia

บ้านทรงกล่องยังเป็นอะไรได้อีกมากตราบที่นักออกแบบจะรังสรรค์ได้ เช่นเดียวกับบ้านทรงกล่องหลังนี้ ที่ใช้การเว้นช่วงชายคาเข้าไปสำหรับกันฝน และสร้างให้ผืนผนังทั้งผืนกลายเป็นกระจกที่สามารถเปิดได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นผืนผนังกระจกบ้านเลื่อนเพื่อเชื่อมต่อสนามหญ้าทั้งสนามเข้ามาอยู่กับบ้าน หรือจะเป็นบานหเหนือกรอบบานประตูที่ใช้บานกระทุ้ง ที่ทั้งปลอดภัยและสามารถระบายอากาศได้ในเวลาเดียวกัน นับเป็นการใช้ศิลปะของการจัดเรียงกรอบบานประตูหน้าต่างที่ช่วยสร้างสถาปัตยกรรมที่ทั้งสวยงามและตอบความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอย

The Summit House : Architecture architecture, Australia

ความสนุกของบานหน้าต่างในบ้านหลังนี้คือการเล่นกับรูปทรงเรขาคณิตที่ประกอบร่างกันขึ้นเป็นสถาปัตยกรรม จากภายนอกที่มองเห็นชั้นเป็นผนังกระจกสลับทึบรูปสามเหลี่ยม เมื่อเข้ามาภายในมีการเล่นกับผนังและผังพื้นของบ้านรูปทรงโค้ง เปิดออกสู่ทัศนียภาพกว้างขวางผ่านผืนผนังกระจกและประตูบานเลื่อน ร่วมกับบานเปิดที่ติดตั้งตามความต้องการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ผังพื้นแบบเปิด และใช้การจัดสรรพื้นที่ด้วยผนังลอย แต่เพราะรอบด้านที่เป็นกระจกจึงไม่ทำให้รู้สึกกีดขวางหรืออึดอัดแต่อย่างไร ในทางตรงกันข้าม กลับเปิดมุมมองใหม่ๆ ในทุกพื้นที่ของบ้านได้อย่างกว้างขวาง

Old Brick New House : Wrzeszcz Architekci, Poland

จากโรงนาเก่าเปลี่ยนร่างกลายมาเป็นบ้านหลังใหม่ การรีโนเวตครั้งนี้อยู่ภายใต้บริบทของสิ่งแวดล้อมและป่าที่อยู่รอบด้านเป็นสำคัญ​ สถาปนิกจึงออกแบบให้ดึงเอาแสงธรรมชาติเข้ามาได้ผ่านกระจก ส่วนใดที่เปิดออกได้ก็เปิดออกให้สุดผ่านบานเลื่อนไซส์ยักษ์ตรงกลาง ส่วนที่เหลือใช้บานประตูแบบสะวิงสำหรับการใช้งานที่ต่างออกไป ความพิเศษคือกระจกหน้าต่างของบ้านชั้นบนที่ถูกกรองแสงและความเป็นส่วนตัวด้วยผนังก่ออิฐ เป็นการใช้ดีไซน์เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้กับบ้าน พร้อมกับขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ของวัสดุก่อสร้างได้มากกว่าที่เคย

The House of Jesus : Rubens Cortés Arquitectos + Raúl Rodríguez Ruiz (RRR), Spain

บ้านกล่องกระจกที่ความตื่นเต้นอยู่ที่การออกแบบโครงสร้างทุกอย่างให้ดูบางเบา ตั้งแต่กระจก เสาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 25 เซนติเมตร แต่สามารถยื่นขยายส่วนกันสาดออกไปได้กว้างมาก สร้างความรู้สึกเบาให้กับงานสถาปัตยกรรมและวัสดุทุกส่วน ความพยายามลดเส้นรบกวนให้ได้มากที่สุดแสดงออกได้ชัดเจนผ่านการใช้บานเลื่อนขนาดใหญ่ และผืนผนังกระจกไร้รอยต่อ เพราะแม้เพียงรายละเอียดเล็กน้อยเช่นนี้ ก็ช่วยเน้นให้สถาปัตยกรรมได้แสดงแนวความคิดที่ซ่อนไว้ได้ตอบทุกจุดประสงค์

Chimney House : Atelier DAU, Australia

เรามักเห็นกันชินตาว่า บ้านที่ต้องการผืนผนังกระจกส่วนมากมักเลือกใช้กรอบประตูหน้าต่างแบบบานเลื่อน บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างทางเลือกที่ดีของการใช้กรอบบานประตูหน้าต่างกระจกแบบสะวิงขนาดโอเวอร์ไซส์เป็นการเปิดออกจากบ้านไปสู่สวนหลังบ้าน เพื่อสร้างความต่อเนื่องของสเปซบ้านตั้งแต่พื้นที่หน้าบ้าน เข้าสู่โถงสูง ห้องที่เป็นเหมือนแกลเลอรี่ ก่อนเชื่อมต่อสู่พื้นที่ธรรมชาติให้เป็นพื้นที่เดียวกันทั้งหมดยามเมื่อผลักประตูเปิดออก และแม้ส่วนหน้าบ้านจะดูปิดทึบด้วยแผ่นเหล็กเจาะรู แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตในบ้านผ่านบานกระจกที่กรุเต็มผืน

Alley Cat Backyard Home : SHED Architecture & Design, USA

ด้วยข้อจำกัดของขนาดและพื้นที่ของบ้านที่ต่อเนื่องไปในเขตที่พักอาศัย ผนังบ้านจึงถูกใช้เป็นเครื่องหมายบ่งบอกความเป็นส่วนตัวด้วยการกรุทึบทั้งหมด และให้หน้าที่บานหน้าต่างไปอยู่ตรงส่วนหลังคาแทน ด้วยความลาดเอียงที่ไม่ชันมากนัก กรอบบานหน้าต่างเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นทั้งหน้าต่างสำหรับชมวิวพร้อมกับเป็นสกายไลต์ไปในตัว และพื้นที่หลังบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว ก็เลือกเจาะช่องใหญ่ที่สุดติดตั้งกรอบบานประตูแบบเลื่อนขนาดโอเวอร์ไซส์ เชื่อมต่อกิจกรรมของสวนหลังบ้านและห้องนั่งเล่นให้เป็นพื้นที่เดียวกัน

ภาพและข้อมูลจาก archdaily.com

เมืองไทยเมืองร้อน มาออกแบบหน้าต่างให้รับลม แต่หลบแดดกันเถอะ!

เมืองไทยเมืองร้อน มาออกแบบหน้าต่างให้รับลม แต่หลบแดดกันเถอะ!

สำหรับประเทศไทยเมืองร้อน ที่มีแค่ฤดูร้อนกับฤดูร้อนมาก โจทย์สำคัญของงานออกแบบจึงเป็นเรื่องของการรับลมให้มากที่สุด และการหลบแดดให้ดีที่สุด เพื่อลดความร้อนสะสมภายในบ้านและถ่ายเทอากาศให้อยู่สบายตลอดทั้งวันยาวไปจนถึงกลางคืนที่นอนหลับได้อย่างสนิท หน้าต่างก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บ้านอยู่สบายแม้จะอากาศร้อน ว่าแล้วเราก็ขอชวนคุณมาออกแบบหน้าต่างให้รับลม แต่หลบแดดไปพร้อมๆ กับทริคเหล่านี้จากทอสเท็ม (TOSTEM)

ระบายอากาศในทุกช่องอับ

ทิศใต้คือทิศที่รับลมได้ดีที่สุด แต่ก็แดดแรงตลอดทั้งวันเช่นเดียวกัน ทางออกที่ดีคือการใช้หน้าต่างบานเล็กที่อาจจะไม่ต้องเปิดเต็มที่อย่างการใช้บานกระทุ้ง พร้อมกับหลักการออกแบบหน้าต่างเพื่อให้ลมเข้าได้ดีที่สุด คือการเปิดช่องเปิดจากสองด้านของผนังให้ตรงกันพอดี โดยให้ทิศทางที่ลมเข้ามีขนาดหน้าบานเล็กกว่าทิศทางที่ลมออก จะช่วยสอบแนวลมให้แรงขึ้น รวมทั้งในแนวช่องอับต่างๆ อย่างใต้บันได แนวข้างเสา หรือมุมห้อง ก็สามารถใช้บานกระทุ้งในการช่วยระบายอากาศให้อยู่สบายขึ้นได้

ระบายอากาศส่วนบันได

พื้นที่ใช้งานน้อยอย่างบันได ติดตั้งบานหน้าต่างสำหรับระบายอากาศอย่างบานกระทุ้งที่ทั้งปลอดภัยและเพิ่มการไหลเวียนลมของอาคารทุกชั้นได้ดี ผนังส่วนบันไดของบ้านบางหลังอาจจะตรงกับทิศทางของแดดบ้าง แต่ก็สามารถใช้ผ้าม่านบางๆ ช่วยเสริมเพื่อกรองแสงบางส่วน หรือปิดบังในช่วงเวลาที่ไม่ต้องการใช้งาน

หน้าต่างเล็กแต่พอดี

แม้ผนังบางส่วนจะไม่สามารถเปิดทั้งหมดให้รับแดดแรงได้ ติดตั้งบานหน้าต่างไว้สักหน่อยสำหรับระบายอากาศ เลือกขนาดที่พอดีกับดีไซน์ของห้องและสถาปัตยกรรมของตัวบ้าน เพียงพอให้มีพื้นที่ระบายอากาศ เพื่อช่วยระบายอากาศเก่าจากในห้องออกไปไหลเวียนกับอากาศนอกบ้าน และเปิดระบายทิ้งไว้ในเวลากลางวัน กลางคืนจะได้นอนหลับสบายไม่อบอ้าว

ชายคาเป็นผู้ช่วย

สำหรับบ้านในเขตเมืองร้อน ชายคาเป็นผู้ช่วยสำคัญที่ช่วยบดบังและกรองแสงให้กับกรอบบานประตูหน้าต่างที่กรุกระจก เปิดไลฟ์สไตล์โล่งโปร่งภายในบ้านออกสู่ธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ จะเป็นรูปแบบฝ้าทึบปกป้องเต็มที่ หรือไม้ระแนงสำหรับกรองแสง ก็เลือกรูปแบบตามทิศทางแดดที่ส่องเข้าสู่ตัวห้อง รวมทั้งเลือกวัสดุและดีไซน์ให้เข้ากับทั้งภายนอกและภายในบ้าน

ให้ประตูช่วยระบายอากาศอีกแรง

ในพื้นที่อับอย่างหลังบ้าน ที่จำเป็นต้องระบายทั้งกลิ่นและไอร้อนจากการประกอบอาหาร หรือหากไม่ได้ใช้งาน แต่เพราะเป็นห้องเล็กๆ จึงต้องการการระบายอากาศไม่ให้พื้นที่อบอ้าว หากแค่หน้าต่างไม่เพียงพอ แนะนำให้ใช้ประตูช่วยในการระบายอากาศด้วย ตัวอย่าง Ventilation Door ของทอสเท็ม ที่สามารถเปิดหน้าบานเพียงเล็กน้อยเพื่อระบายอากาศในตอนกลางวัน ป้องกันอากาศร้อนในตอนกลางคืน หรือจะเปิดออกเต็มที่เพื่อรับลมก็ช่วยให้การไหลเวียนอากาศดียิ่งขึ้นอีก

Salee Boutique Hotel โรงแรมที่แสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างแข็งแรงผ่านงานสถาปัตยกรรม

Salee Boutique Hotel โรงแรมที่แสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างแข็งแรงผ่านงานสถาปัตยกรรม

สำหรับนักท่องเที่ยว หากเอ่ยถึงเชียงใหม่ ภาพของอาหารเหนือขึ้นชื่อหรือสถานที่ท่องเที่ยวสุดเก๋คงเป็นภาพแรกที่ผุดขึ้นมา แต่สำหรับเหล่านักออกแบบแล้วนั้น จังหวัดนี้กลับเป็นพื้นที่ปล่อยของที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม ส่งผลให้การแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะต้องออกแบบให้ไม่ซ้ำแล้ว งานออกแบบยังต้องมีเอกลักษณ์จนเกิดเป็นภาพจำที่ส่งผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย ด้วยประเด็นที่น่าสนใจดังกล่าว วันนี้เราจึงได้รับเกียรติจาก คุณวรพจน์ ลิ้นกนกรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิร์คสเปซอาร์คิเทกเจอร์สตูดิโอ จำกัด มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจในการออกแบบ Salee Boutique Hotel โรมแรมที่อัดแน่นด้วยกลิ่นอายของความเป็นเชียงใหม่เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่ในขณะเดียวกันก็มีฟังก์ชันที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานสำหรับแขกที่เข้ามาพักได้เป็นอย่างดี

สะลี บูติก โฮเทล หรือ Salee Boutique Hotel ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากนัก ด้วยทำเลที่มีศักยภาพอีกทั้งยังติดถนนเส้นรอบเมืองเชียงใหม่ทำให้เจ้าของโครงการจัดสินใจทำโรงแรมขึ้นมา โดยเป็นโรงแรมขนาดเล็กที่ออกแบบและก่อสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด มีห้องพักจำนวน 22 ห้องและมีรูปแบบห้องพักให้เลือกถึง 4 แบบด้วยกัน โดยเริ่มออกแบบตั้งแต่กลางปี 2016 จนก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2019 ที่ผ่านมานี่เอง แต่นอกจากทำเลทองของโครงการแล้ว ทางเจ้าของโครงการยังให้คุณค่ากับงานออกแบบเป็นอย่างมากและไว้วางใจให้เวิร์คสเปซอาร์คิเทกเจอร์สตูดิโอดูแลงานออกแบบทั้งหมด “แนวคิดหลักที่ทาง Workspace มักใช้ในการคิดงาน คือ การผสานวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นๆ เข้ากับสถาปัตยกรรมอย่างกลมกลืน ซึ่งก็เป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบที่ สะลี บูติก โฮเทล เช่นเดียวกัน สำหรับการออกแบบโรงแรมแห่งนี้สิ่งสำคัญที่เราต้องการ คือ การใส่ความเป็นสถาปัตยกรรมของเชียงใหม่ที่มีรายละเอียดการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ผสมผสานเข้ากับความทันสมัยของวัสดุและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมในยุคนี้ โดยให้ทั้งสองอย่างนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวครับ

ซึ่งสำหรับจุดเด่นของที่นี่อยู่ที่การออกแบบองค์ประกอบ (element) ทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน อย่างการเลือกใช้โฟมสำหรับงานก่อสร้างและตกแต่งอาคารมาขึ้นงานบัวปั้นย่อมุม โดยสั่งขึ้นรูปสำเร็จมาจากโรงงานแล้วจึงนำมาฉาบปูนทาสี ที่หน้างาน ทำให้ผนังอาคารไม่เกิดการรับภาระน้ำหนักที่มากเกินไป อีกทั้งวัสดุดังกล่าวยังทนต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างดี ซึ่งอีกนัยหนึ่ง งานปั้นบัวย่อมุมนี้ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสถาปัตยกรรมล้านนา เราจึงได้นำองค์ประกอบที่โดดเด่นดังกล่าวมาเรียบเรียงในภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยร่วมกันคิดกับทางเจ้าของโครงการในการหาวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและติดตั้งง่ายซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจมากครับ” เมื่อได้แนวความคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีความท้าทายในการออกแบบโครงการด้านอื่นๆ อีกหรือไม่ “ความท้าทายของ สะลี บูติก โฮเทลนี้ คือ เรื่องที่ดินของโครงการที่ตั้งอยู่ริมถนนครับ ด้วยกฎหมายการก่อสร้างอาคารทำให้อาคารที่ออกแบบจำเป็นต้องมีระยะถอยร่นที่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้การวางอาคารเพื่อตอบโจทย์ของเจ้าของโรงแรมในเรื่องจำนวนห้องทำได้อย่างจำกัด และลงตัวที่จำนวน 22 ห้อง แต่อย่างไรก็ตามด้วยระยะร่นนี้เองที่ทำให้อาคารมีด้านหน้าที่ตอบรับกับมุมมองที่ดีมาก เห็นรายละเอียดในการออกแบบสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน เกิดภาพจำติดตา อีกทั้งยังทำให้เกิดลานด้านหน้าที่เป็นทางเข้าโรงแรมที่สวยงามด้วยครับ เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงแรม”

เมื่องานสถาปัตยกรรมภายนอกลงตัวแล้วทางเวิร์คสเปซอาร์คิเทกเจอร์สตูดิโอ มีแนวความคิดในการตกแต่งภายใน การเลือกใช้วัสดุและไลท์ติ้งของ สะลี บูติก โฮเทลอย่างไร “แนวความคิดหลักในการตกแต่งภายใน คือ การออกแบบให้งานสถาปัตยกรรมไหลต่อเข้ามาในงานตกแต่งภายใน เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการรับรู้ ร่วมกับแนวความคิดที่พยายามจะผสมผสานงานสถาปัตยกรรมเชียงใหม่ให้เข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวครับ เช่น ลายผนังก่ออิฐโชว์แนวหรือลายของผ้ามัดย้อมที่สะท้อนมาที่ผนังห้อง นอกจากนี้ต้องขอบคุณทางเจ้าของโครงการที่ร่วมออกแบบไปกับเรา ไอเดียหลายๆ อย่างรวมถึงของตกแต่งที่เจ้าของโครงการไปเสาะหามาจากงาน craft ในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงทำให้งานตกแต่งภายในดูกลมกลืนและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นครับ”

ความสนุกในการออกแบบสะลี บูติก โฮเทล “ส่วนหนึ่งความสนุกในการออกแบบสะลี บูติก โฮเทลเป็นเรื่องของข้อจำกัดเรื่องของระยะร่นที่ได้กล่าวไปครับ นอกนั้นก็เป็นเรื่องของความสนุกของงานที่ทางสถาปนิกต้องการจะทำให้ที่ดินที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงการลงทุน อาคารสวยงามไม่พอธุรกิจก็ต้องไปได้ดีด้วย สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การได้ลองแนวคิดและออกแบบใหม่ๆ ที่เจ้าของโครงการอนุญาตให้สถาปนิกได้ลองออกความคิดอย่างเต็มที่โดยไม่ปิดกั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ปิดกั้นแล้วยังช่วยคิด ผลักดันและส่งเสริมในหลายๆ ส่วนครับ จนทำให้สะลี บูติก โฮเทลเสร็จออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้”

จากงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมเห็นได้ชัดว่าสถาปนิกให้ความสำคัญกับช่องเปิดที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องถึงแพทเทิร์นของงานย่อมุมบนผนังอาคารในเวลาเดียวกันค่อนข้างมาก ไม่ทราบว่ามีแนวความคิดในการเลือกแบรนด์วงกบหน้าต่างอย่างไร “เราเลือกใช้ TOSTEM รุ่น WE 70 สี Autumn Brown สำหรับหน้าต่างของทางสะลี บูติก โฮเทลทั้งหมดครับ เนื่องจากตัวโรงแรมตั้งอยู่ติดกับถนน อีกทั้งแนวกันสาดของอาคารก็มีไม่มากนัก เราจึงต้องการคุณสมบัติของหน้าต่างที่กันน้ำได้อย่างดีเยี่ยมและมีค่าการกันเสียงที่ดีในเวลาเดียวกันเพื่อที่ถึงแม้โรงแรมจะอยู่ติดถนนแต่ภายในห้องก็ยังเงียบและคงความเป็นส่วนเอาไว้ได้ ซึ่งทาง TOSTEM เองสามารถตอบโจทย์ที่เราต้องการได้ทั้งหมด นอกจากนี้ด้วยคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ของ TOSTEM เรามั่นใจว่าจะทำให้เกิดปัญหาการบำรุงรักษาในอนาคตที่บานปลาย สามารถลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เป็นจำนวนมากครับ”

แม้ว่าการออกแบบ สะลี บูติก โฮเทล จะไม่ได้ง่ายและมีความท้าทายเข้ามาทดสอบไม่น้อย ทั้งเรื่องของข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่โครงการที่ต้องทุ่มเทประสบการณ์ในการออกแบบใส่ไปในโครงการนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงการใช้ระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ สะลี บูติก โฮเทล จะพร้อมอวดโฉม แล้วความสุขที่ได้จากการออกแบบโรงแรมแห่งนี้คืออะไร “ความสุขที่ได้จากการออกแบบ สะลี บูติก โฮเทล สำหรับเราคือ การได้ใช้ความคิดอย่างอิสระ ได้ทดลองออกแบบ รวมถึงรายละเอียดในงานสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ครับ และอย่างยิ่งอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญอย่างเจ้าของโครงการที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันทำให้งานนี้ออกมาได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากครับ”

สำหรับ สะลี บูติก โฮเทล โรงแรมขนาดเล็กที่ดีไซน์ไม่เล็กตาม เพราะเป็นโรงแรมที่กล้าจะเป็นตัวเอง กล้าที่จะนำเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาสร้างให้เกิดเส้นสายที่ใหม่ขึ้น สบายตาขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายอย่างมีชั้นเชิง ทั้งในส่วนของอาคารภายนอกที่มีการทอนรายละเอียดของย่อมุมมาใช้กับงานผนังอาคาร การตกแต่งภายในที่ร้อยเรียงงานออกแบบจากภายนอกเข้ามาได้ไม่เคอะเขิน นั่นจึงทำให้ที่นี่เป็นตัวอย่างของงานออกแบบที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างแข็งแรงผ่านงานสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนและน่าค้นหาในเวลาเดียวกัน

เลือกบานประตูหน้าต่าง สำหรับห้องครัว

เลือกสรรบานประตู-หน้าต่างสำหรับห้องครัว

ห้องครัว คือพื้นที่การใช้งานสำคัญที่ควรให้ความสำคัญ นั่นก็เพราะเป็นห้องที่มีความต้องการพิเศษหลายประการจากฟังก์ชันที่ต้องใช้งาน เพื่อให้เราสามารถใช้งานส่วนอื่นของบ้านได้อย่างมีความสุขไปพร้อมกับการได้ลิ้มรสอาหารอร่อยจากครัวหลังบ้านของเราเอง ห้องสำหรับประกอบอาหารเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องมีการจัดการกลิ่นและการระบายอากาศ ซึ่งวิธีที่ง่ายที่สุด ก็คือการเลือกใช้บานประตูหน้าต่างให้เหมาะกับการใช้งานพร้อมกับการเติมความงามให้กับห้องครัว หนึ่งในห้องแสนรักของสมาชิกในครอบครัว

ประตูระบายอากาศ

เลือกบานประตูหน้าต่าง สำหรับห้องครัว

ประตูของห้องครัวจำเป็นต้องทำหน้าที่ได้หลายๆ อย่าง ทั้งรักษาความปลอดภัยเพราะเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับพื้นที่นอกบ้าน แต่ในขณะเดียวกันต้องสามารถระบายอากาศและระบายกลิ่นจากในห้องครัว เพื่อรักษาสุขลักษณะที่ดีของบ้าน ทอสเท็ม (TOSTEM) จึงออกแบบ Airflow Door ที่สามารถเลือกระดับการเลื่อนเปิดหน้าบานตามฟังก์ชันทั้งหมดที่ต้องการ กรองผ่านทางมุ้งลวด – เปิดเพียง 35 มม. พร้อมล็อกบานเพื่อรักษาความปลอดภัยไปพร้อมกับการระบายความร้อน กลิ่น และเปิดเต็มบานขณะใช้งานห้องครัว หรือจะปิดสนิทก็ได้เช่นกัน

ประตู-หน้าต่างแต่ละซีรีส์ของ TOSTEM ต่างกันอย่างไร ?
ดูสินค้าเพิ่มเติม
แก้บ้านร้อนด้วยสินค้า TOTEM

หน้าต่างบานเลื่อน

เลือกบานประตูหน้าต่าง สำหรับห้องครัว

บานหน้าต่างที่เป็นที่นิยมในห้องครัวทุกบ้านนั่นคือบานเลื่อนกระจก เพราะสามารถเปิดออกอย่างเต็มที่เพื่อระบายกลิ่นและควันระหว่างการประกอบอาหาร หรือจะเปิดไว้ระบายอากาศ รวมทั้งบานกระจกยังเปิดให้แสงธรรมชาติเข้ามาทำให้ห้องครัวสว่างเต็มที่เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจขึ้นระหว่างการทำครัว และรังสี UV ยังช่วยสร้างสุขลักษณะที่ดีให้กับห้องครัวด้วย

หน้าต่างบานเปิด

เลือกบานประตูหน้าต่าง สำหรับห้องครัว

บานหน้าต่างแบบเปิดเป็นบานอีกประเภทที่นิยมกันมากในประเทศไทย ปรับจากหน้าต่างบานเปิดแบบเดิมๆ ด้วยการกรุหน้าบานด้วยกระจกเพื่อดึงเอาแสงสว่างมาสร้างสุขภาวะที่ดีในการทำครัว ลองปรับจากหน้าต่างบานกว้างให้แคบลง เติมดีไซน์ให้กับฟังก์ชั่นการระบายอากาศ โดยที่พื้นที่ตู้บิลท์อินบนผนังครัวยังใช้งานเก็บของได้เต็มที่ตามความต้องการ อีกทั้งการติดตั้งบานหน้าต่างเช่นนี้ข้างอ่างล้างมือ ยังช่วยให้อ่างล้างมือแห้งอยู่เสมอ

หน้าต่างบานกระทุ้ง

เลือกบานประตูหน้าต่าง สำหรับห้องครัว

หน้าต่างบานกระทุ้งทำหน้าที่เช่นเดียวกันกับหน้าต่างบานเปิด เพียงเปลี่ยนทิศทางจากการเปิดออกในแนวขวางเป็นการเปิดออกในแนวดิ่ง หน้าต่างแบบนี้ทำให้สามารถเปิดทิ้งไว้สำหรับระบายอากาศได้ตลอดทั้งวัน โดยยังคงความปลอดภัยในการใช้งานด้วย

บานเลื่อนแบ่งฟังก์ชัน

เลือกบานประตูหน้าต่าง สำหรับห้องครัว

นอกจากบานหน้าต่างที่เชื่อมต่อกับพื้นที่ภายนอกบ้านแล้ว บานหน้าต่างแบบบานเลื่อนก็สามารถใช้กั้นแบ่งพื้นที่ภายในบ้านได้เช่นกัน เพื่อป้องกันกลิ่นและควันจากการประกอบอาหารที่จะเล็ดลอดออกไปสู่ห้องอื่นๆ และยังสามารถใช้ส่วนนี้เป็นส่วนเซอร์วิส เปิดออกเพื่อส่งอาหารต่อมายังห้องรับประทานอาหารได้โดยไม่ต้องเดินผ่านเข้าออกหลายครั้ง หรือใช้พื้นที่นี้เป็นส่วนกิจกรรมของครอบครัวในการช่วยตั้งโต๊ะอาหาร เติมความอบอุ่นในครอบครัวผ่านการสร้างสรรค์พื้นที่ภายในบ้าน

เลือกบานประตูหน้าต่าง สำหรับห้องครัว

ความต่างของการทำสีแบบอะโนไดซ์ และ Powder Coat

ความต่างของการทำสีแบบอะโนไดซ์ และ Powder Coat

สำหรับงานออกแบบที่ดีต่อผู้ใช้งานนั้นไม่อาจเลือกเพียงความสวยงามหรือฟังก์ชันการใช้งานได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับงานทำสีวงกบอะลูมิเนียมในปัจจุบันที่พัฒนาทั้งการดูแลรักษา ความคงทนไปจนถึงการสามารถสั่งทำให้เป็นรูปทรงและขนาดต่างๆ ได้นอกเหนือจากสี่เหลี่ยมแบบทั่วไป โดยเฉพาะในเรื่องของสีสันที่มีให้เลือกกว่าอดีตอยู่มาก ซึ่งวิธีการสำหรับทำสีให้กับวงกบประตูหน้าต่างนิยมทำกัน 2 วิธี คือ สีชุบอะโนไดซ์ (Anodized) ซึ่งเป็นวิธีทีทอสเท็ม (TOSTEM) เลือกใช้ และแบบสีพ่น Powder Coated ที่พบเห็นกันได้ทั่วไป โดยทั้งสองวิธีมีความแตกต่างกันในรายละเอียดค่อนข้างมาก ซึ่งในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกันมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการเลือกใช้วงกบอะลูมิเนียมให้เหมาะสมกับอาคารของคุณ

ที่มาของสีสัน

เริ่มแรกขอแนะนำวิธีทำสีแบบสีชุบอะโนไดซ์ (Anodized Color) คือการนำเส้นอะลูมิเนียมลงชุบด้วยกระแสไฟฟ้าจนเกิดเป็นชั้นฟิล์มอะลูมิเนียมออกไซด์ จนเกิดเป็นเฉดสีต่างๆ ตั้งแต่เฉดสีอ่อนอย่างสีซิลเวอร์ไปจนถึงเข้มสุดอย่างสีดำ แล้วจึงนำอะลูมิเนียมเข้ากระบวนการอบผิวเพื่อความทนทาน ซึ่งต่างจากวิธี Powder Coated ที่เป็นการใช้สีฝุ่นพ่นลงบนพื้นผิวของอะลูมิเนียมแล้วจึงค่อยอบ ด้วยขั้นตอนและวิธีการที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อนกว่าทำให้วิธีทำสีแบบ Anodized Color หรือสีชุบอะโนไดซ์ให้อะลูมิเนียมให้สีสันที่มีมิติกว่าแบบ Powder Coated อย่างชัดเจน

ระยะเวลาการใช้งานและการดูแลรักษา

เนื่องจากกระบวนการที่ทำให้เม็ดสีติดกับพื้นผิวที่แตกต่างกันทำให้วิธีการทำสีแบบ Anodized Color ที่สร้างเนื้อสีด้วยกระแสไฟฟ้าให้ผิวมีความแข็งแร่ง เนื้อสีติดอยู่ทนทานได้ยาวนานและทนทานต่อการขูดขีดการกัดกร่อนของพื้นผิวได้ดี โดยความแข็งแรงของพื้นผิวนั้นเกิดจากความหนาของชั้นสีที่ทำการชุบไว้ทำให้วิธีการทำสีแบบ Anodized Color ส่งผลให้วงกบอะลูมิเนียมมีอายุการใช้งานยาวนานและดูแลรักษาได้ง่ายกว่าการทำสีแบบ Powder Coated

สวยงามคงทนไม่หวั่นต่อสภาพแวดล้อมภายนอก

วิธีการทำสีแบบ Anodized Color นอกจากให้สีสันสวยงามมีมิติแล้ว ผิวอะลูมิเนียมที่ได้ยังที่มีความเนียนเรียบ ลื่น ไม่ซีดจางแม้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงตลอด ทั้งยังทนต่อรังสี UV และการชะล้างจากน้ำฝนซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้สีซีดจาง จึงทำให้กรอบบานประตูหน้าต่างแบบ Anodized Color คงความสวยได้ยาวนานทนทานเหมาะกับการใช้งานภายนอก

ความคุ้มค่า

เนื่องจากวิธีการทำสีแบบ Anodized Color สามารถคงความสวยงามได้ตลอดอายุการใช้งาน จากสีที่เรียบเนียนติดแน่นทนนาน การเลือกกรอบบานที่ทำสีด้วยวิธี Anodize Color จึงนับว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เนื่องจากอาคารภายนอกจะทำความสะอาดได้ยากกว่าภายในการใช้อะลูมิเนียมที่มีคุณภาพสูง ไม่ต้องทำความสะอาดบ่อยย่อมช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เป็นจำนวนมาก

หลักการออกแบบช่องบานเปิดของอาคารสูง

หลักการออกแบบช่องบานเปิดของอาคารสูง

อาคารยิ่งสูง ก็ยิ่งมีปัจจัยของงานออกแบบที่จำเป็นต้องใส่ใจเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะกับประสิทธิภาพของบานหน้าต่าง ส่วนประกอบที่จะต้องสัมผัสและปะทะกับสิ่งแวดล้อมภายนอกตลอดเวลา และยังรุนแรงกว่าการอยู่ใกล้ระดับพื้นดินทั่วไป เราชวนคุณมารู้จักกับหลักการออกแบบช่องเปิดของอาคารสูง เพื่อการเลือกใช้บานหน้าต่างที่เหมาะสมทั้งฟังก์ชั่นการใช้งาน และเสริมให้สถาปัตยกรรมงดงามตามดีไซน์

ช่องเปิดตามข้อบังคับ

ช่องเปิดออกสู่ภายนอกสำหรับอาคารสูงนั้น มีหน้าที่สำหรับการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ ซึ่งตามกฎกระทรวงบอกไว้ว่า ช่องเปิดที่ออกสู่ภายนอกอาคารจำเป็นต้องเปิดได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพื้นที่ห้องนั้น ซึ่งจะเป็นบานหน้าต่างแบบบานกระทุ้ง บานสะวิง บานเกล็ด หรือประตูสำหรับเปิดออกสู่ระเบียงในแต่ละส่วนได้อย่างปลอดภัย

ชนิดช่องเปิด

ชนิดของช่องเปิดสำหรับอาคารสูงนั้น ควรคำนึงถึงความปลอดภัยมาเป็นอันดับแรก ทั้งความปลอดภัยในเรื่องระยะความสูงจากพื้น ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักติดตั้งส่วนล่างเป็นหน้าต่างบานฟิกซ์ร่วมกับหน้าต่างบานกระทุ้ง บานสะวิง หรือบานเลื่อนที่อยู่ด้านบน รวมทั้งความปลอดภัยจากความรุนแรงของสภาพอากาศ ซึ่งอยู่ที่มาตรฐานของกรอบบานและกระจกเป็นสำคัญ

กระจกสำหรับช่องเปิด

กระจกเป็นอีกส่วนประกอบที่สำคัญนอกเหนือจากกรอบบานหน้าต่างสำหรับอาคารสูง เพราะเป็นพื้นผิวที่ต้องสัมผัสกับแรงปะทะจากสิ่งแวดล้อมภายนอกโดยตรงตลอดเวลา กฎกระทรวงจึงออกมาเพื่อบังคับว่า กระจกสำหรับอาคารสูงจะต้องเป็นกระจกตั้งแต่สองชั้นขึ้นไปประกบกัน โดยมีวัสดุคั่นกลางระหว่างชั้นและยึดกระจกให้ติดแน่นเป็นแผ่นเดียว

GRANTS Series

ด้วยลักษณะพิเศษของบานหน้าต่างสำหรับอาคารสูงที่จำเป็นต้องมีประสิทธิภาพเหนือกว่าอาคารทั่วไป ทอสเท็ม (TOSTEM) เองก็มีผลิตภัณฑ์รุ่น GRANTS Series ที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบสำหรับอาคารสูงโดยเฉพาะ ทั้งเรื่องคุณสมบัติการต้านทานแรงลมตามระดับความสูงของอาคาร ที่ยิ่งสูง ยิ่งต้องต้านแรงลมได้มากขึ้น, การป้องกันน้ำรั่วซึม จากแรงดันลมและน้ำฝน, การป้องกันอากาศรั่วไหลเพื่อความอยู่สบาย และการป้องกันเสียงจากภายนอก จึงนับเป็นความงามของงานสถาปัตยกรรมที่มาพร้อมกับคุณสมบัติของฟังก์ชันการใช้งานตามมาตรฐานในระดับสากล และไม่จำกัดเพียงแค่อาคารสูงเท่านั้น อาคารแบบใดก็สามารถใช้งานกรอบบานรุ่น GRANTS ได้อย่างทนทานและงดงาม

UNIQUE FEATURES

นอกจากคุณสมบัติของกรอบบานตามมาตรฐานแล้ว กรอบบานประตูหน้าต่างรุ่น GRANTS ของทอสเท็ม (TOSTEM) ยังมาพร้อมกับฟีเจอร์พิเศษที่เสริมประสิทธิภาพให้เต็มที่ขึ้นอีก ทั้งส่วนคู่ชนกลางบานเลื่อนที่ซ้อนตัวเข้าหากันแบบสลิม ดีไซน์ซ่อนกรอบบานเข้าภายในวงกบ ระบบป้องกันน้ำ 2 ชั้น และอุปกรณ์ดีไซน์แบบ L-Fit ทั้งยังสามารถติดตั้งมุ้งจีบเป็นบานเสริมสำหรับวันสบายๆ อากาศดีที่ต้องการเปิดหน้าต่างรับลมได้อีกด้วย