fbpx

Author Archives: GRANTScreativeWe40

ออกแบบบานเปิดอย่างไรไม่ให้บ้านร้อน

ออกแบบบานเปิดอย่างไรไม่ให้บ้านร้อน

เมืองไทยกับอากาศร้อนเป็นของคู่กัน ทางเลือกสำหรับบ้านจึงเป็นการเปิดช่องหน้าต่าง แต่การเปิดบานหน้าต่างสำหรับบ้านในเมืองไทยก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะขณะเดียวกับที่ได้ระบายอากาศร้อน บางครั้งก็เป็นการรับไอร้อนและแสงแดดที่จ้าเกินไปเข้าสู่ตัวบ้านเช่นกัน การเลือกตำแหน่ง วิธีการเปิด และจำนวนของบานเปิดจึงควรมีเคล็ดลับเพื่อให้หน้าต่างบานนี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ทั้งในเชิงฟังก์ชั่นและความงามให้กับตัวบ้าน

ความรู้เบื้องต้นเพื่อบ้านเย็นลง

“ไอความร้อน” และ “การระบายอากาศ” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บ้านไม่ร้อน ข้อแรกที่ควรต้องทราบคือ คุณสมบัติของความร้อนที่จะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นหากความร้อนที่ลอยตัวขึ้นไปใต้ฝ้าได้ถูกระบายออกบ้านก็จะเย็นลง และอีกส่วนคือลมที่พัดผ่านเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งจะทิศทางที่ดีที่สุดที่ทำให้บ้านเย็นคือทิศทางที่อยู่ตรงข้ามกันพอดี เพราะลมจะเข้าบ้านก็ต่อเมื่อมีทางระบายออกอีกทาง

หนึ่งห้องควรมีบานเปิดสองด้าน

ธรรมชาติของลมที่จะไม่พัดเข้าหากพื้นที่หากมีช่องเปิดเพียงช่องเดียว นั่นก็เพราะลมเก่าภายในห้องออกไม่ได้ ดังนั้นการเจาะช่องสำหรับหน้าต่างของสองฟากผนังควรตรงกันพอดี โดยให้ทิศทางที่ลมเข้ามีขนาดหน้าบานเล็กกว่าทิศทางที่ลมออก เพื่อสอบลมให้พัดแรงขึ้น หรือหากไม่สามารถทำให้ตรงกันพอดีได้ ควรให้มีบางส่วนที่ทับเหลื่อมกัน เพื่อให้มีทางเข้า-ออกของลม อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ ทิศที่เลือกเจาะหน้าต่างควรเป็นไปในทิศทางเหนือ-ใต้ เพราะลมจากทิศเหนือจะพัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม (4 เดือน) และลมจากทิศใต้จะพัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน (8 เดือน) ดังนั้นทิศทางที่ดีที่สุดของการทำบานเปิดคือ บานเล็กกว่าทางทิศใต้ตรงกับบานใหญ่กว่าทางทิศเหนือ

หน้าต่างบานเปิดรับลมเต็มที่

สำหรับหน้าต่างที่ติดตั้งในทิศทางที่เหมาะสมสำหรับการรับลม เราขอแนะนำให้ติดตั้งหน้าต่างแบบบานเปิด หรือบานสไลด์ซึ่งมีพื้นที่ซ่อนเก็บหน้าบาน เพราะสามารถเปิดออกทั้งสองด้านได้อย่างอิสระ มากกว่าบานเปิดแบบเลื่อนซ้อนกันสองด้าน บานเลื่อนขึ้นลง หรือบานกระทุ้ง นับเป็นการใช้ช่องเปิดที่เจาะและออกแบบมาแล้วให้เกิดฟังก์ชั่นเรื่องการรับลมสูงสุด และทางที่ดีควรติดตั้งมุ้งลวดซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ตัวบ้านขณะเปิดหน้าบาน เหลือเพียงลมเย็นสบายและแสงธรรมชาติเอื้อเข้าสู่ตัวบ้านได้ตามต้องการ หรือหากต้องการเพิ่มความปลอดภัยก็สามารถติดตั้งเหล็กดัดเพิ่มเติมได้อีก

หน้าต่างทรงสูง

สำหรับบ้านดีไซน์โมเดิร์น อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือหน้าต่างทรงสูงเท่าบานประตูหรือสูงจรดฝ้าเพดาน โดยแบ่งบางช่วง เช่น ช่วงบานหน้าต่างแบบเปิดหรือบานกระทุ้งสูงจากพื้น 85 เซนติเมตร ที่เหลือเป็นบานแบบฟิก ก็ช่วยให้อากาศระบายได้ดี และมีแสงธรรมชาติส่องเข้าได้ตลอดทั้งวัน

บานเกล็ดกับผนังหายใจได้

บานเกล็ดสามารถติดตั้งได้ทั้งกับผนังส่วนภายนอกบ้านเป็นเหมือนกับผนังหายใจได้ และเป็นพาร์ทิชั่นกั้นแบ่งระหว่างสองพื้นที่ภายในบ้าน โดยไม่สูญเสียการหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน หรือในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตั้งบานหน้าต่างแบบเปิดหรือเลื่อนตามปกติได้จากเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัว บานเกล็ดคือทางเลือกที่ดี เพราะสามารถเลือกเปิดปิดเพื่อระบายอากาศได้ และสามารถติดตั้งมู่ลี่เพิ่มเติมได้หากต้องการความเป็นส่วนตัวขึ้นอีก

บานกระทุ้งคู่บานหน้าต่างหลัก

จากภูมิปัญญาของบ้านเรือนไทยที่มักจะมี “หย่อง” หรือแผงไม้ลายฉลุโปร่งสำหรับระบายความร้อนเมื่อปิดบานหน้าต่างทึบติดตั้งอยู่ใต้บานหน้าต่าง ประยุกต์ให้เข้ากับบ้านสมัยใหม่ด้วยการใช้หน้าต่างบานกระทุ้งความสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ติดตั้งคู่กับบานหน้าต่างหลัก พอดีกับที่สามารถเปิดออกเพื่อระบายอากาศได้ โดยไม่เกิดอันตรายจากการบุกรุกหรือตกหล่นกรณีอยู่ชั้นสูง หรือหากหน้าต่างอยู่ชั้นบนซึ่งไม่ได้เป็นจุดเสี่ยงต่อการบุกรุก ก็สามารถใช้หน้าต่างส่วนล่างซึ่งเป็นบานกระทุ้งให้สูงขึ้นได้อีกตามสัดส่วนความสวยงามของงานดีไซน์ช่องเปิดและสอดคล้องไปกับงานสถาปัตยกรรมภายนอก หรือจะออกแบบเป็นบานกระทุ้งขนาบข้างกับบานหน้าต่างหลักก็เกิดเป็นกริดที่สวยงามไปอีกแบบ

ระบายลมพื้นที่ใต้หลังคา

อย่างที่เล่าไปข้างต้นว่า อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นหลายบ้านจึงมักติดตั้งบานเกล็ดซี่ถี่ๆ บริเวณใต้จั่วหลังคาหรือส่วนที่สูงที่สุดของห้อง เพื่อให้อากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นมีทางออกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ภายในห้องเย็นขึ้น และอากาศก็ถ่ายเทได้ดีขึ้น แต่อาจมีความยุ่งยากตรงนี้เป็นจุดที่น้ำรั่วซึมจากหลังคาได้ง่าย จึงควรติดตั้งรอยต่อให้ปิดสนิท หรือใช้ชายคาช่วยกันน้ำก่อนในขั้นต้น

อย่าลืมป้องกันความร้อนจากภายนอก

ลำพังแค่การเปิดช่องเปิดไม่สามารถช่วยลดความร้อนได้ ด้วยสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เช่น ผนังผืนใหญ่ หรือช่องเปิดหน้าต่างทิศทางตรงกับแสงแดดพอดี จึงจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยเพื่อลดความร้อนจากแดดแรงภายนอก ได้แก่ การเบิ้ลกระจกสองชั้นหรือกระจกอินซูเลตซึ่งมีฉนวนกันความร้อน เพื่อช่วยกักเก็บความเย็นภายในบ้านให้ยาวนานขึ้น หรือการติดตั้งฟิล์มกรองแสงกันรังสีอัลตราไวโอเล็ต ลดความร้อนลงก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน

ต่อเติมอย่างไรให้สวยงาม ทนทาน และใช้งานได้ดี

ต่อเติมอย่างไรให้สวยงาม ทนทาน และใช้งานได้ดี

ปัญหาหนักใจของหลายบ้านนอกจากเรื่องการดูแลรักษาและซ่อมแซม ก็เป็นเรื่องของการต่อเติม ถึงตอนพูดจะเป็นเรื่องง่ายว่าอยากจะเพิ่มตรงนู้นเติมตรงนี้ แต่พอต้องลงมือทำจริงๆ กลับมีหลายเรื่องที่ต้องคำนึงถึง แต่การรู้ไว้ก่อนและรอบคอบตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนต่อเติมนับเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้คุณไม่ต้องกลับมาปวดหัวทีหลังเมื่อมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นตามมา หัวข้อในวันนี้ จึงขอรวบรวมข้อควรคำนึงถึงในการต่อเติมบ้านตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการต่อเติม ไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด

1 กฎหมาย เรื่องแรกสุดที่ควรใส่ใจ

(Photo by Josh Wilburne on Unsplash)

ไม่ว่าคุณจะต้องการต่อเติมเพิ่มส่วนใดออกจากตัวบ้าน ทั้งหมดนับรวมเป็น “การดัดแปลง” ในทางกฏหมายทั้งหมด หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมจึงต้องมีกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยล่ะ ทั้งที่เป็นพื้นที่บ้านของเราเอง? นั่นก็เพราะเพื่อให้พื้นที่โดยรอบบ้านของเรามีพื้นที่เปิดโล่งสำหรับใช้เป็นเส้นทางอพยพในยามฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นการสร้างสุขลักษณะที่ดีในการอยู่อาศัย ทั้งในเรื่องการระบายอากาศและแสงสว่าง ส่วนระยะของระยะร่นสำหรับบ้านหรืออาคารพาณิชย์แต่ละประเภทนั้น สามารถตรวจสอบได้จากกฎกระทรวงฉบับ 55 เรื่องระยะร่นและระยะห่าง (ลิงค์ http://bit.ly/2PFFPdz) และอย่าลืมแจ้งข่าวคราวให้กับเพื่อนบ้านก่อนที่จะทำการต่อเติมทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ผิดใจกันอีกภายหลัง

2 ฟังก์ชั่นเรื่องใหญ่ แต่โครงสร้างก็ต้องใส่ใจด้วย

(ภาพจาก Contemporist)

แน่นอนว่าก่อนการต่อเติมจะเริ่มต้นขึ้น เราเองก็รู้แล้วว่าต้องการต่อเติมพื้นที่ใหม่เพื่อจุดประสงค์การใช้งานอย่างไร การต่อเติมเพิ่มมาจากตัวบ้านเดิมเราแนะนำให้ขึ้นโครงสร้างใหม่แยกออกจากบ้านเดิม ไม่ควรติดตรึงหรือเชื่อมต่อโครงสร้างใหม่ไว้กับโครงสร้างเดิม ควรเริ่มตั้งฐานรากและเสาสำหรับโครงสร้างใหม่เลย จากเหตุผลในเรื่องการรับแรงบวกกับการทรุดตัวของพื้นดิน ลองคิดง่ายๆ ว่าโครงสร้างบ้านหนึ่งหลังถูกคำนวณไว้เพื่อรับน้ำหนักตัวบ้านเองเท่านั้น หากมีการเพิ่มน้ำหนักจากส่วนต่อเติมเข้าไปอีกอาจทำให้โครงสร้างเดิมรับแรงกระทำไม่ไหว ส่งผลให้โครงสร้างทรุดตัวลง ไม่เพียงกับโครงสร้างใหม่ที่ต่อเติมเท่านั้น แต่ยังอาจฉุดดึงโครงสร้างเดิมให้พังไม่เป็นท่าได้ ถึงแม้จะเป็นฐานรากที่รับน้ำหนักได้เท่ากัน แต่ฐานรากของบ้านเดิมที่ผ่านการใช้งานแล้วย่อมเสื่อม

3 ตรวจเช็คสภาพอาคารเดิม

(ภาพจาก pinterest)

ก่อนจะทำการเพิ่มพื้นที่ใหม่ ควรเช็คส่วนของอาคารเดิมที่จะถูกต่อเติม ทั้งในส่วนโครงสร้างหลักและส่วนประกอบอื่นๆ หากพบเจอปัญหาที่โครงสร้างหลักควรรีบแก้ไขเพื่อสุขภาพของตัวบ้านเราเอง รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ เช่น รอยร้าวหรือการชำรุดเสื่อมสภาพของผนังอาคารเดิม ควรรีบทำการแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพราะป้องกันเอาไว้ดีกว่าแก้แน่นอน

4 เฝ้าระวังจุดเชื่อมต่อ

(ภาพจาก czmcam)

สืบเนื่องจากข้อข้างบนที่บอกว่าโครงสร้างทั้งสองห้ามติดตรึงไว้ด้วยกันโดยเด็ดขาด เรื่องสำคัญลำดับต่อมาที่ต้องใส่ใจนั่นก็คือรอยต่อระหว่างพื้นผิวของบ้านหลังเดิมและพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ส่วนหลังคาด้านบนสุดและรอยต่อระหว่างฝาผนังสองอาคารที่มักเป็นจุดรั่วซึมของน้ำฝน ซึ่งจะเข้ามาทำความเสียหายให้ภายในพื้นที่ต่อเติมใหม่ทั้งในเรื่องความชื้นและเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งจุดเชื่อมต่อทุกจุดของพื้นที่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรอบวงกบประตูหน้าต่าง หรือหลังคาชายคาบ้าน ทุกจุดที่มีการเชื่อมต่อจึงควรตรวจสอบให้ดีตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างว่ามีการเชื่อมหรือซีลด้วยการฉาบเรียบหรือยาแนวรอยต่อโพลิยูรีเทน ส่วนรอยต่อหลังคาควรมีการติดตั้งปีกนกไว้ก่อนยาแนวเพื่อช่วยบังน้ำฝนก่อนอีกขั้นหนึ่ง อย่าลืมเลือกวัสดุอุปกรณ์และวิธีการก่อสร้างที่ดีและได้มาตรฐาน

5 ฟังก์ชั่นก็มา ความงามก็ต้องมี

(Photo by Cassie Boca on Unsplash)

หลายคนที่คิดถึงการต่อเติม เรื่องฟังก์ชั่นมักจะมาเป็นอันดับแรกเสมอ จากเหตุผลที่เราต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม จนความงามถูกมองกลายเป็นเรื่องรอง แต่อย่าลืมว่า การต่อเติมบ้านไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็เป็นส่วนที่ถูกมองเห็นจากภายนอกเสมอ งานออกแบบที่เกิดขึ้นจึงควรทำให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเดิมของบ้าน ทั้งในแง่การเลือกดีไซน์และวัสดุที่สอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน หรืออาจส่งเสริมให้บ้านหลังเดิมดูสวยงามมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก

6 Prefab วัสดุทางเลือก

(ภาพ Tostem-Photo)

นวัตกรรมการก่อสร้างทุกวันนี้มีงานระบบ Prefabrication หรือชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่่ช่วยทุ่นเวลาเรื่องการติดตั้งและค่าแรงงานที่ทำงานหน้าไซต์งาน หรือทางเลือกของห้องสำเร็จรูปที่ทุกชิ้นส่วนมาพร้อมประกอบแบบเสร็จสรรพ ซึ่งมีข้อดีตรงที่ผ่านการผลิตจากเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดี รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของส่วนประกอบทุกส่วนมาแล้วตั้งแต่โรงงาน เรื่องที่เจ้าของบ้านต้องคิดถึงจึงเหลือเพียงแค่เรื่องการเตรียมพื้นที่สำหรับห้องใหม่ และคุณภาพงานขณะติดตั้งหน้างานเท่านั้น รวมทั้งใช้เวลาเพียง 2 วันก็ได้ใช้ห้องใหม่แบบไม่ต้องรอ

รายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปดูได้ที่ www.tostemthailand.com

ความจริงเรื่องการติดตั้งมุ้งลวด

ความจริงเรื่องการติดตั้งมุ้งลวด

ในขณะที่เราต้องการระบายอากาศและความโปร่งโล่งให้กับบ้าน แมลงและยุงก็เป็นสิ่งกวนใจที่มาพร้อมอากาศเสมอ มุ้งลวดจึงเป็นทางเลือกที่ทุกบ้านเลือกใช้กับช่องเปิด ไม่ว่าจะเป็นกับช่องประตูหรือหน้าต่าง เบื้องหลังตะแกรงลวดบางๆ นี้ ยังมีรายละเอียดซ่อนอยู่มากมายที่ชวนให้คุณมาทำความรู้จักตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในบ้านที่ต้องอาศัยอยู่ทุกวัน

เลือกมุ้งลวดจากฟังก์ชั่นที่ต้องการ

ฟังก์ชั่นของมุ้งลวดอย่างที่เราคุ้นเคยกัน คือมุ้งลวดที่ติดตั้งกับกรอบบานของประตู-หน้าต่าง ซึ่งก็มีจำแนกตามรูปแบบการใช้งานลงไปอีกว่า จะเลือกใช้เป็นมุ้งลวดแบบบานเลื่อนหรือบานเปิด-ปิดสำหรับติดตั้งเสริมกับบานประตูทั้งแบบทึบหรือแบบกระจก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งานว่าเหมาะสมกับรูปแบบใด เช่น ประตูทางเข้าหลักของบ้านที่ใช้เป็นบานทึบแบบเปิดออก อาจเลือกใช้มุ้งลวดแบบบานเลื่อนหากมีพื้นที่สองข้างของหน้าบานเหลือสำหรับการเลื่อนออก ช่วยเพิ่มพื้นที่การใช้งานภายในบ้านมากกว่าการใช้มุ้งลวดแบบบานเปิด-ปิด ที่ต้องเผื่อพื้นที่สำหรับการเปิด-ปิดมุ้งลวดภายในบ้านอีก นอกจากนั้นยังมีมุ้งลวดแบบอื่นๆ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของมุ้งลวดแบบเดิมๆ อย่างเรื่องความสะดวกในการใช้งานและความสวยงาม เช่น การใช้มุ้งลวดพับจีบ ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะใช้การสไลด์แล้วตัวมุ้งลวดจะถูกพับซ้อนกันเข้าไปเก็บอยู่ในขอบของหน้าบานแบบบานเฟี้ยม จึงสามารถเปิดหน้าบานออกได้สุด และไม่เกะกะระหว่างการใช้งาน อีกแบบคือมุ้งลวดม้วนเก็บที่ทำงานเหมือนกับม่านม้วน นั่นคือเมื่อไม่ต้องการใช้งาน ก็ม้วนไปเก็บอยู่กับขอบวงกบของหน้าต่าง และบานรางเลื่อนเองก็สามารถม้วนเก็บไปกับตัวม่านได้ในกรณีติดตั้งกับประตู ซึ่งแบบม้วนก็เพิ่มเรื่องความทนทานในการใช้งานมุ้งลวดขึ้นไปได้อีก

(เครดิตภาพ archdaily)

เลือกวัสดุตามงบประมาณ

แน่นอนว่าอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกชนิดของวัสดุมุ้งลวดคือเรื่องราคา เพราะวัสดุแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป วัสดุสำหรับมุ้งลวดก็มีทั้งเส้นอะลูมิเนียมแบบที่เราเห็นกันตั้งแต่เด็ก ถึงจะมีข้อดีเรื่องความโปร่ง แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องความทนทานที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ ว่าพอใช้งานไปสักพัก เส้นอะลูมิเนียมจะเปราะเมื่อโดนความชื้นมากๆ มุ้งลวดแบบไฟเบอร์ เป็นวัสดุที่แก้ไขข้อเสียของมุ้งลวดอะลูมิเนียมตรงที่ไม่เป็นสนิม และไม่สะท้อนแสงแวววาว แต่หากเมื่อใช้งานไปนานเข้าก็อาจฉีกขาดได้ง่าย หรือถ้าโดนแรงกระแทกจังๆ ก็อาจเสียรูปทรงในการใช้งานไปเลย อีกแบบก็คือ มุ้งลวด uPVC จากวัสดุพลาสติก ที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวมุ้งลวดด้วยการเติมสารป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตและป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น ภายในห้องจึงอยู่สบายและประหยัดพลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศ วัสดุอีกแบบที่นำมาทำมุ้งลวดคือไนล่อน แต่ก็มีความแตกต่างจากสองแบบข้างต้นคือ แม้จะเหนียว แต่ความทึบของเส้นลวดทำให้ดูไม่โปร่ง ส่งผลต่อการระบายอากาศซึ่งไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งมุ้งลวดนิรภัยที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม ที่มีหัวใจหลักในเรื่องความแข็งแรงทนทาน และสามารถติดตั้งได้กับบ้านริมทะเลที่มักเกิดการกัดกร่อนจากไอเกลือ

(เครดิตภาพ newblinds)

ติดตั้งมุ้งลวด ด้านในหรือด้านนอก?

การติดตั้งทั้งสองแบบก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป แบบที่นิยมกันในบ้านเราคือการติดตั้งจากด้านใน เพราะอิงจากทิศทางการเปิดประตูบ้านที่ต้องผลักออกจากตัวบ้าน รวมทั้งความนิยมของการใช้วัสดุมุ้งลวดแบบอะลูมิเนียมซึ่งบอบบางและเสื่อมสภาพเร็ว จึงมักติดตั้งมุ้งลวดเอาไว้ในบ้านเพื่อให้สะดวกต่อการดูแลรักษาและเปลี่ยนใหม่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หากเราเลือกวัสดุของมุ้งลวดที่แข็งแรงมาตั้งแต่ต้น การติดตั้งมุ้งลวดเอาไว้ด้านนอกเป็นทางเลือกที่ดี เพราะฝุ่นละอองต่างๆ ที่ผ่านจากอากาศภายนอกเข้าสู่ภายในบ้านจะถูกดักจับขั้นต้นที่มุ้งลวด เมื่อเราปิดบานหน้าต่างด้านใน ฝุ่นก็จะยังคงกักอยู่นอกหน้าต่าง ไม่เข้ามาก่อกวนและกำเนิดโรคภูมิแพ้ ข้อดีต่อมาคือ อายุการใช้งานของมุ้งลวดจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวลาใช้งานเราเพียงเปิดปิดหน้าต่างเท่านั้น ไม่ต้องแตะต้องกับตัวมุ้งลวดเลย ไม่เหมือนกับปกติที่ต้องเปิดมุ้งลวดก่อนถึงจะปิดหน้าต่างได้ บางทีมือก็เผลอไปโดนตัวมุ้งลวดจนเสียรูปร่างไปอีก ถัดมาคือเรื่องการดูแลรักษาและทำความสะอาด เพราะกักฝุ่นเอาไว้ข้างนอกทั้งหมด การทำความสะอาดก็ทำได้ง่าย ไม่เปรอะเปื้อนพื้นที่ภายในบ้าน รวมทั้งตัวน้ำฝนเองก็ช่วยชะล้างทำความสะอาดมุ้งลวดไปในตัวด้วย ส่วนใครที่กลัวเรื่องความแข็งแรงในฤดูพายุฝน ตัวกรอบมุ้งลวดเองก็มีระบบกันยกบาน ป้องกันมุ้งลวดร่วงหล่น จึงอยู่บนพื้นที่ติดตั้งได้อย่างแน่นหนา

(เครดิตภาพ archdaily)

จากทั้งหมดที่เล่ามา น่าจะพอเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับการตัดสินใจเลือกมุ้งลวดครั้งต่อไป ทั้งในเรื่องฟังก์ชั่น วัสดุ รวมถึงเรื่องรูปแบบการติดตั้ง ซึ่งข้อหลังอาจจะดูผิดแปลกจากความคุ้นเคยของช่างชาวไทยอยู่บ้าง แต่ด้วยคุณภาพมาตรฐานของวัสดุก็จะเป็นคำตอบให้ได้ว่า แบบไหนคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้ของคุณ

รู้จักกระจกที่ใช้กับกรอบบานอะลูมิเนียม

รู้จักกระจกที่ใช้กับกรอบบานอะลูมิเนียม

กระจกมีหน้าที่สำคัญสำหรับกั้นแบ่งสองพื้นที่ออกจากกัน แต่ในขณะเดียวกัน คุณสมบัติความโปร่งใสหรือโปร่งแสงของกระจกก็เป็นเหมือนกับการหยิบยืมบรรยากาศของฝั่งตรงข้ามมาใช้งาน กระจกจึงมีส่วนสำคัญกับคอนเซ็ปต์ “Inside Out-Outside In” หรือการดึงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาเป็นวิวของบ้าน และทำให้ภายในบ้านเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศภายนอก

หากแต่เบื้องหลังกระจกใสยังมีคุณสมบัติที่แตกต่าง ซึ่งเกิดขึ้นจากนวัตกรรมการพัฒนาวัสดุเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานและรูปลักษณ์ที่ผู้ใช้งานต้องการ ซึ่งกรอบบานอะลูมิเนียมก็เป็นหนึ่งในวัสดุยอดนิยมสำหรับติดตั้งเป็นกรอบบานหน้าต่างและประตูของบ้าน ด้วยข้อดีมากมายทั้งเรื่องความทนทานและความสวยงาม การเลือกกระจกใช้งานให้เหมาะสมกับบานกรอบอะลูมิเนียมจึงเป็นเหมือนกับการจับคู่อย่างไรให้ลงตัว เพื่อให้ช่องเปิดนี้มีดีไซน์และใช้งานได้ดีตลอดอายุการใช้งาน

กระจกเทมเปอร์ : Tempered Glass

(เครดิตภาพ Farallon)

นับเป็นกระจกนิรภัยที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ด้วยความแข็งแกร่งที่ถูกพัฒนามากขึ้นกว่ากระจกใสในอดีต ซึ่งความแข็งแกร่งนี้เกิดจากการสร้างแรงอัดให้กับผิวของกระจกแล้วให้ความเย็นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผิวภายนอกสามารถต้านแรงกระทำได้มากกว่าเดิมและแข็งแรงขึ้นถึง 4 เท่า แต่หากโดนแรงกระแทกจนแตกแล้ว กระจกเทมเปอร์จะแตกแบบละเอียดทั้งแผ่น ไม่ใช่แบบรอยร้าวเหมือนกระจกทั่วไป ดังนั้น การเลือกกระจกเทมเปอร์จึงมีข้อควรรู้คือ ควรวัดไซส์ที่ต้องการใช้งานให้เรียบร้อย เพราะกระจกที่ผ่านกระบวนการเทมเปอริงแล้วจะไม่สามารถถูกตัดหรือกระแทกได้อีก

กระจกลามิเนต : Laminated Glass

(ภาพจาก trombe.co.uk)

อีกรูปแบบหนึ่งของกระจกนิรภัยที่เกิดจากการนำกระจกสองชิ้นมาประกบกันด้วย Polyvinyl Butyral หรือ PVB ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มที่ทำให้กระจกยึดเกาะกันได้สูงและใสเป็นพิเศษ ซึ่งข้อดีของฟิล์มตัวนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดกระจกแตก แผ่นฟิล์มจะทำหน้าที่ยึดตรึงกระจกไว้ เศษกระจกจึงแตกสร้างอันตรายให้ผู้ใช้งาน รวมทั้งความพิเศษจากการเป็นกระจกสองชั้น จึงกันเสียงและกันรังสีอัลตราไวโอเล็ตได้ดีกว่ากระจกธรรมดา วิธีการสังเกตกระจกลามิเนตก็คือ ลองพลิกสันของกระจกขึ้นมาดู จะเห็นเป็นกระจกสองแผ่นประกบติดกันแบบแซนด์วิชโดยมีชั้นฟิล์มบางๆ อยู่ตรงกลาง

กระจกอินซูเลต / กระจกสองชั้น : Insulated Glass

(เครดิตภาพ Peter Jurkovič)

กระจกชนิดนี้เกิดจากกระจกสองชิ้นเช่นเดียวกับกระจกลามิเนต แต่เชื่อมต่อระหว่างกระจกสองแผ่นด้วยช่องว่าง(อากาศแห้ง)หรือก๊าซอาร์กอนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อย ตรงกลางนี้เองที่ตัวป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากกระจกบานหนึ่งไปยังกระจกอีกบาน อากาศภายในอีกด้านจึงมีอุณหภูมิต่ำกว่าภายนอก และเก็บกักรักษาอุณหภูมิภายในได้ดีมาก บางที่จึงอาจเรียกว่า กระจกฉนวนกันความร้อน เพราะช่องว่างตรงกลางซึ่งทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนให้กับตัวกระจกและบ้าน นอกจากการป้องกันความร้อนแล้ว เสียงก็เป็นสิ่งรบกวนอีกชนิดที่กระจกอินซูเลตสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเกิดจากหลักการของกระจกชนิดนี้เช่นเดียวกัน

กระจกตัดแสง : Tinted Glass

(เครดิตภาพ Bamford McLeod)

ถ้าพูดถึงการทำให้บ้านเย็นลง กระจกตัดแสงน่าจะเป็นตััวเลือกแรกๆ ของคนไทย ด้วยชื่อที่บอกชัดเจนว่า กระจกตัดแสง คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดจึงเป็นการป้องกันและสะท้อนกลับพลังงานแสงอาทิตย์กลับสู่ภายนอก โดยยังคงเปิดรับแสงสว่างให้เข้ามาภายในบ้าน ความสนุกของการใช้กระจกตัดแสงคือ สีสันหลากหลายที่เกิดจาก การผสมโลหะออกไซด์ไว้ตั้งแต่ระหว่างกระบวนการผลิตกระจก อีกทั้งยังสามารถเลือกระดับการสะท้อนกลับของความร้อนสู่ภายนอก และปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาภายในได้ตามความต้องการอีกด้วย

กระจกสะท้อนแสง : Reflective Glass

(ภาพจาก architectural digest)

กระจกชนิดนี้เป็นขั้นกว่าของกระจกตัดแสง ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกระจกตัดแสง เพียงแต่เปลี่ยนแปลงการเคลือบผิวด้านนอกของกระจกมาเป็นโลหะเงินบริสุทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฉนวนกันความร้อนจากพลังงานดวงอาทิตย์ ความพิเศษของกระจกชนิดนี้จึงอยู่ที่การประหยัดพลังงาน เพราะลดความร้อนสะสมภายในตัวบ้าน จึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าและค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศ ทีนี้ก็อยู่ที่เจ้าของบ้านเองแล้วว่ากระจกชนิดใดที่ตอบโจทย์หน้าที่การใช้งาน รูปลักษณ์ รวมทั้งงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งการปรึกษากับดีไซเนอร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านประตู-หน้าต่างจะเป็นผู้ให้คำตอบที่ดีและตอบรับกับวัตถุประสงค์การใช้งานของเจ้าของได้มากที่สุด

StudioK สถาปัตยกรรมขั้วตรงข้ามที่แตกต่างอย่างลงตัว

StudioK สถาปัตยกรรมขั้วตรงข้ามที่แตกต่างอย่างลงตัว

Location: เมืองเชียงใหม่, จังหวัดเชียงใหม่ Owner: นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล Architect 1: บริษัทแผลงฤทธิ์ จํากัด Architect 2: สุเมธ กล้าหาญ Materior Studio Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

ครั้งแรกที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายใต้ความร่มรื่นแห่งนี้ ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าพื้นที่ภายในจะเป็นอย่างไร เพราะหากลองสังเกตดูดีๆแล้ว ยังคงมีภาพความแตกต่างของรูปแบบสถาปัตยกรรมซ่อนอยู่ ทั้งสีสัน วัสดุ รวมถึงความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาเสมือนขั้วตรงข้าม และทั้งหมดที่เรากำลังกล่าวถึงนี้คือ “สตูดิโอเค” สตูดิโอที่ผลิตผลงานศิลปะร่วมสมัยในเมืองเชียงใหม่ของ “คุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล”ศิลปินรางวัลศิลปาธร ผู้สร้างสรรค์ผลงานผ่านภาพวาดอันโด่งดัง ซึ่งนอกจากเป็นสตูดิโอแล้ว ยังเป็นที่พักอาศัย รวมถึงเป็นแกลอรี่แสดงงานศิลปะของเขาอีกด้วย

เพิ่มเติมความเรียบง่าย

แรกเริ่มเดิมที อาคารแห่งนี้เป็นอาคารคอนกรีตเปลือยรูปตัว L ภายในถูกวางแผนไว้ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการทำงานศิลปะของคุณนาวินและทีมงาน รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะไปด้วยในตัว ซึ่งในส่วนของพื้นที่ทำงานและพื้นที่จัดแสดงศิลปะนั้นอยู่ส่วนด้านซ้ายของอาคาร ออกแบบโดย สำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์ / Plankrich แต่ในส่วนที่พักอาศัยภายใต้อาคารหลังเดิมถูกเติมเต็มเข้ามาในภายหลัง ก่อนหน้าอาคารสีดำทางขวาที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดไม่นาน เพื่อเป็นแกลอรี่อีกแห่งสำหรับรองรับงานศิลปะที่มีมากขึ้น ด้วยฝีมือการออกแบบของ “คุณสุเมธ กล้าหาญ Materior Studio

ส่วนพักอาศัยที่ต่อเติมขึ้นมา ด้านล่างเป็นพื้นที่โล่ง ที่ไว้ทำงานภายนอกได้

“การทำงานกับพี่นาวิน ต่างจากการทำงานสถาปนิกกับลูกค้า เหมือนเราช่วยกันออกแบบมากกว่า เพราะพี่นาวินเค้ามีไอเดียของเขาเองอยู่แล้วประมาณหนึ่ง” คุณสุเมธเล่าให้เราฟังถึงการเริ่มต้นออกแบบส่วนพักอาศัยภายในอาคารคอนกรีตเปลือยนี้ โดยเน้นการออกแบบตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยเอง นั่นคือ “ความเรียบง่ายและสะอาดตา” ด้วยการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดโทนสีอ่อนทั้งหมดเปิดช่องเปิดกว้างเพื่อให้สามารถดึงแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาใช้ได้ ใส่ฝ้าเข้าไป ซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่เดิมที่เผยให้เห็นสัจจะวัสดุของโครงสร้างดิบเปลือยของอาคารอย่างสิ้นเชิง

ในส่วนพักอาศัยประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอนอีกสองห้อง ถูกเชื่อมต่อกับห้องทำงานเดิมของคุณนาวิน เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน

ทุกพื้นที่เป็นแกลอรี่

ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นศิลปิน ผนังจึงถูกเติมเต็มความว่างเปล่าด้วยภาพวาดของผลงานต่างๆ ที่เจ้าของบ้านเป็นคนสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง แขวนไว้ในทุกๆพื้นที่ดั่งเป็นแกลอรี่ในที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นผนังหลังโซฟา ผนังทีวี ห้องนอน ห้องครัว ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดที่บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัว เสมือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงความรัก ความชอบ สานสัมพันธ์ความอบอุ่นของทุกคนในบ้าน

ตัวอย่างภาพวาดแขวนผนังภายในพื้นที่อยู่อาศัย

ดิบเปลือยแต่ปรุโปร่ง

แม้ว่าวัสดุและโครงสร้างภายนอกที่เป็นคอนกรีตเปลือย จะสร้างความรู้สึกถึงความหนักแน่นในรูปแบบของอาคาร แต่พื้นที่ภายในกลับดูปลอดโปร่งไปด้วยการออกแบบช่องเปิดในห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อไปยังสวน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้แสงธรรมชาติจากภายนอกสามารถเข้าถึงพื้นที่ภายในได้อย่างเต็มที่ และบรรยากาศถูกโอบล้อมไปด้วยความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียว

เก่าปูน ใหม่เหล็ก

“พยายามให้พื้นที่ด้านล่างกั้นผนังน้อย วัสดุแตกต่าง เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดดูเบาลอย ไม่หนักมากเกินไป” คุณสุเมธกล่าวถึงเหตุผลที่อาคารใหม่นี้ใช้วัสดุเมทัลชีทสีดำแทนที่จะใช้ปูนเปือยเหมือนกับอาคารเดิม โดยด้านล่างเป็นพื้นที่คล้ายใต้ถุน ที่มีพื้นที่ของสตูดิโอเวิร์คชอป และลานจอดรถ ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ของแกลอรี่ที่ภายในแสดงงานศิลปะของทาง StudioK เอง

ผนังอาคารในชั้นสอง ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุเมทัลชีทเพราะด้วยโครงสร้างใหม่ที่ออกแบบมาเป็นโครงสร้างเหล็ก จึงตอบโจทย์ในเรื่องของการทำงานที่ง่าย เพราะมีน้ำหนักเบา รวมถึงสีดำที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโดยมีความแตกต่าง แต่ไม่แปลกแยกจากเดิม ยังอยู่กลมกลืนและเชื่อมต่อกับอาคารเก่าและบริบทอาคารโดยรอบได้อย่างดี

ภายในเป็นสีขาว ให้เหมือนภาพพื้นหลังของงานศิลปะ ทำให้งานที่จัดแสดงมีความโดดเด่นมากขึ้น โดยเปิดช่องแสงในส่วนด้านข้าง และมีสกายไลท์ด้านบนเพื่อให้แสงเข้ามาอย่างทั่วถึง และเท่ากันในทุกๆพื้นที่

พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างแกลอรี่ใหม่กับอาคารหลังเดิม

แตกต่างแต่กลมกลืน

แม้ว่าภายใต้พื้นที่ของ StudioK นั้น จะมีความแตกต่างทางวัสดุและรูปแบบอาคาร แต่สถาปนิกได้พยายามเชื่อมต่อภาพรวม รวมถึงจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ลงตัว การเพิ่มเติมอาคารหลังใหม่เข้าไปให้กลมกลืนกับของเดิม ด้วยการออกแบบแพทเทิลบานหน้าต่างที่คล้ายของเก่าให้เส้นสายของอาคารต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเลือกใช้บานหน้าต่างที่มีประสิทธิภาพอย่าง TOSTEM เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้าน ในเรื่องของความคงทนจากน้ำ และการป้องกันเสียงที่ดี

ในส่วนพักอาศัยเลือกกรอบบานหน้าต่างเป็นสีดำ ส่วนอาคารแกลอรี่เป็นสีเทาๆเพื่อให้กลมกลืนกับผนังภายในที่มีสีขาว ไม่รบกวนงานศิลปะที่จัดแสดงนั่นเอง

เลือกเป็นบานกระทุ้งในส่วนด้านหน้า เพราะเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ที่สามารถเปิดไว้ให้อากาศถ่ายเทไปมาได้ และด้วยความต้องการออกแบบช่องเปิดกว้างเต็มพื้นที่ความกว้างของผนัง TOSTEM ก็สามารถออกแบบได้อย่างลงตัวตามแบบและขนาดที่ต้องการ พร้อมทั้งมีระบบล็อคที่เพิ่มความปลอดภัยอีกด้วย

การผสมผสานที่แตกต่างอย่างลงตัวภายในพื้นที่แห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการนำเสนอสิ่งใหม่ ที่จะออกแบบอย่างไรให้กลมกลืนโดยคิดถึงภาพรวม และบริบทโดยรอบ ทำให้ทุกพื้นที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมบูรณ์แบบและตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเดิม

ขอขอบคุณ

คุณสุเมธ กล้าหาญ จาก Materior Studio

โรงจอดรถสำเร็จรูป ทำเสร็จ จอดเลย ไม่ต้องรอนาน

โรงจอดรถสำเร็จรูป ทำเสร็จ จอดเลย ไม่ต้องรอนาน

ในประเทศที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นการสัญจรหลักอย่างในบ้านเรา จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำที่จอดรถในบริเวณบ้าน ถึงบ้านจัดสรรส่วนใหญ่จะจัดเตรียมที่จอดรถไว้ให้แล้ว แต่บางครั้งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งานอยู่ดี การต่อเติมที่จอดรถด้วยตัวเองจึงเป็นทางเลือกสามัญที่ทุกบ้านเลือกใช้

แต่พอคิดจะต้องต่อเติมก็เป็นปัญหาปวดหัวใหญ่อีก ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร งานออกแบบ หาผู้รับเหมา หรือต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ “โรงจอดรถสำเร็จรูป” จึงเป็นอีกทางเลือกสะดวก รวดเร็ว และสวยงามที่เราอยากแนะนำ

(เครดิตภาพทั้งหมด lixil-reformshop.jp)

มาตรฐานตั้งแต่โรงงานถึงโรงจอด

โรงจอดรถแบบสำเร็จรูป หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นระบบ Prefabrication ชื่อแบบที่เราคุ้นเคย นั่นก็คืออุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนผลิตจากโรงงาน และพร้อมนำมาประกอบที่หน้างานได้เลยทันทีจากฝีมือของช่างที่ทำงานตามขั้นตอนที่ถูกกำหนดมาอย่างเป็นระบบ นั่นหมายความว่าทุกกระบวนการผลิตถูกกำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว เพราะการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ จึงหมดกังวลในเรื่องความไม่สม่ำเสมอของงานการผลิต เนื้อวัสดุ ความแข็งแรง และวิธีการประกอบ อีกทั้งยังมีข้อดีในเรื่องการรับประกันคุณภาพของทั้งตัวผลิตภัณฑ์และขั้นตอนการประกอบ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน และตัวโครงสร้างก็สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

ประหยัดต้นทุนและเวลา

ประหยัดเงิน เป็นความต้องการลำดับแรกๆ ของการต่อเติม แต่ความประหยัดที่ว่าต้องมาพร้อมกับความคุ้มค่า โรงจอดรถสำเร็จรูปมีข้อดีที่ติดตั้งรวดเร็ว ใช้เวลาน้อย จึงช่วยลดต้นทุนในการทำงานติดตั้ง จากค่าใช้จ่ายกับบุคลากรช่างที่ไม่ต้องจ่ายหลายแรงกว่าจะทำงานเสร็จ และเพราะติดตั้งเร็ว หากเจ้าของบ้านเตรียมพื้นที่ด้วยการปรับระดับพื้นและลงเสาเข็มเรียบร้อยแล้ว ภายใน 1 วันก็สามารถใช้งานได้ทันที

ดีไซน์สวยงาม เข้ากับตัวบ้าน

ข้อดีอีกอย่างของโรงจอดรถแบบสำเร็จรูป คือเราได้เห็นแบบของโรงจอดรถที่หลากหลายตามแบบที่ผู้ผลิตดีไซน์เอาไว้ จึงสามารถเลือกแบบที่เข้ากับตัวบ้านและวัสดุที่ต้องการใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องกังวลว่าจะสร้างออกมาแล้วเหมือนที่คิดไว้ไหม รวมทั้งขนาดที่ถูกกำหนดเอาไว้ให้อย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับจำนวนรถ ปัญหาเรื่องที่จอดรถแคบเกินไป จอดรถไม่พอ หรือถอยเข้าซองยากจึงหมดไป เพียงแค่มีดีไซน์ จำนวนรถ และพื้นที่ว่างไว้ในใจ ก็จิ้มเลือกแบบเพื่อนำไปติดตั้งใช้งานได้เลย สนใจที่จอดรถสำเร็จรูป เข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tostemthailand.com/th/product_category/carport/