fbpx

Author Archives: GRANTScreativeWe40

HOUSE 362 เมื่อความธรรมดาส่งเสียงผ่านสถาปัตยกรรม

HOUSE 362 เมื่อความธรรมดาส่งเสียงผ่านสถาปัตยกรรม

“ความท้าทายในการออกแบบบ้านหลังนี้สำหรับผมคือ การที่เจ้าของบ้านไม่ได้มี requirementใดๆ เป็นพิเศษเลย ทั้งเรื่องของขนาดพื้นที่ หรืองานสถาปัตยกรรม นั่นคือทั้งความท้าทายและความยากในการออกแบบ HOUSE 362 ครับ” คุณจูน เซคิโน สถาปนิกผู้ออกแบบ

หากจะกล่าวถึงความหมายของคำว่า ‘ธรรมดา’ นั้น แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมให้คำจำกัดความและขอบเขตที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกันกับ ‘House 362’ บ้านสองชั้นรูปลักษณ์เรียบง่าย ที่ตั้งชื่อตามบ้านเลขที่ โดยสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับบ้านหลังเก่าที่ทางเจ้าของบ้าน คือ คุณกิตติภูมิ และ คุณศันสนัย์ พงษ์สุรพิพัฒน์ ให้โจทย์กับทาง คุณจูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design เพียงว่าขอให้บ้านดูธรรมดาที่สุด เรียบง่ายที่สุดและเป็นบ้านที่สมาชิกในครอบครัวสามารถรับรู้ถึงกันและกันได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของบ้าน

ซึ่งหลังจากได้ทำความเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์และความชอบของเจ้าของบ้านแล้วแบบที่ออกมาจึงกลายเป็นบ้านขนาด 350 ตร.ม. ที่สะอาดตาด้วยเส้นสายเรียบง่ายและตรงไปตรงมาด้านรูปลักษณ์ด้วยการออกแบบหลังคาจั่ววางอยู่บนกล่องสีขาว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านต่างจังหวัดในบ้านเราที่มีโครงสร้าง ‘ครึ่งปูนครึ่งไม้’ ทำให้ลุคของบ้านออกมามีความร่วมสมัยแต่ก็ยังรู้สึกอบอุ่นดูเป็นบ้านที่เหมาะกับการใช้ชีวิตจริงๆ สำหรับครอบครัว

(ภายนอกกรุไม้เพื่อให้บ้านมีบรรยากาศอบอุ่นยิ่งขึ้น) คุณจุนกล่าวเสริมว่า ในแบบเดิมก่อนหน้านั้นภายนอกนั้นไม่ได้ถูกกำหนดให้กรุไม้แต่อย่างใด เป็นเพียงบ้านกล่องเรียบๆ สีขาว แต่สุดท้ายจึงเสนอให้กรุไม้ไปเพื่อสร้างความอบอุ่นและดูเป็นกันเองเข้าถึงง่ายให้กับตัวบ้าน ซึ่งทางเจ้าของบ้านก็เห็นตรงกัน และตัดสินใจใช้ไม้จริงทั้งหมด เนื่องจากในความเรียบง่ายที่ต้องการนั้น วัสดุที่เป็นของจริงจะตอบโจทย์ได้ตรงที่สุดอีกทั้งยังมองว่าความเปลี่ยนแปลงของไม้จริงที่จะเกิดขึ้นตามกาลเวลาถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ดังนั้นไม้ที่กรุบริเวณผนังภายนอกจึงเลือกเป็นไม้สัก ส่วนพื้นระเบียงขนาดใหญ่ที่ยื่นไปในสนามหญ้าปูด้วยไม้ตะแบก โดยผ่านการทำสีให้มีสีอ่อนและคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เข้ากับภาพรวมของบ้านที่ดูขาวสะอาดตา

(ลายและผิวของไม้จริงสร้างความรู้สึกพิเศษที่แตกต่างให้ทุกครั้งที่สัมผัส)

(หลังคาทรงจั่วที่ถูกทอนรูปทรงให้ออกมาร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น)

(เวลาที่เปิดช่องเปิดทั้งหมดชานบ้านจะเชื่อมต่อกับฟังก์ชั่นภายในบริเวณ Double Space เกิดเป็นพื้นที่ใช้งานขนาดใหญ่ร่วมกัน)

สำหรับการออกแบบสเปซภายในนั้น ทางผู้ออกแบบจึงเลือก Double Space ให้เป็นพื้นที่หัวใจของบ้าน ซึ่งอยู่บริเวณ Common Area ที่ถูกออกแบบให้ลักษณะแบบโอเพ่นแปลน (Open Plan) เพื่อให้ทุกฟังก์ชั่นหลอมรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ดึงประโยชน์จากทิศเหนือที่อยู่ตำแหน่งหน้าบ้านด้วยการทำช่องเปิดขนาดใหญ่ตลอดแนวและสูงจรดฝ้าเพดาน เพื่อรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ รวมถึงในช่วงเวลากลางวันจะเปิดช่องเปิดทั้งหมด เพื่อให้ลมจากภายนอกเข้ามาภายในบ้านแทนการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน ยกเว้นในกรณีที่มีแขกมาเยี่ยมบ้านหรือสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนสนิทถึงจะเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นกรณีพิเศษ เพราะด้วยทิศทางของบ้านและช่องเปิดทำให้ภายในบ้านจะเย็นตลอดทั้งวัน

(วางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวชิ้นใหญ่เพียงตัวเดียว เพื่อให้จบในสเปซโดยไม่จำเป็นต้องมีของตกแต่งมากเกินความจำเป็น)

(ช่องเปิดขนาดใหญ่นอกจากจะทำหน้าที่รับแสงธรรมชาติแล้ว ยังช่วยเชื่อมความรู้สึกทางพื้นที่กับบ้านเก่าให้ยังเห็นกิจกรรมบางอย่างร่วมกันอยู่ เพราะถึงแม้จะแยกบ้านกันแต่ก็ยังรู้สึกถึงกันอยู่)

(ออกแบบให้บันไดทางขึ้นบ้านอยู่หลังกำแพงเพื่อความสบายตาและยังได้พื้นที่ใช้งานได้บันไดอย่างเต็มที่)

(บริเวณแพนทรี่ครัวและโต๊ะรับประทานอาหารเป็นพื้นที่ที่คุณศันสนัย์ชอบมากที่สุด เพราะเป็นอีกจุดที่เห็นสเปซของบ้านทั้งหมด)

จากโถงบันไดขึ้นมายังชั้นสองจะพบกับทางเดิน ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจให้เหมือนสะพานที่ทำหน้าที่แจกฟังก์ชั่นไปตามพื้นที่ของแต่ละคนในบ้านตามฝั่งซ้าย-ขวา โดยยังให้พื้นที่ส่วนนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Double Space อยู่เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการใช้พื้นที่ของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้นยังสร้างความรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวและรู้สึกถึงกันในครอบครัว ทำให้บ้านอบอุ่นไม่รู้สึกเหมือนต่างคนต่างอยู่

(จากโถงทางเดินชั้นสองก็ยังสามารถมองเห็นวิวด้านนอกผ่านช่องเปิดขนาดใหญ่ได้เช่นกัน) นอกเหนือจาก Double Space จะทำให้พื้นที่โปร่งโล่งแล้ว ผู้ออกแบบยังเพิ่มพื้นที่ทางแนวตั้งด้วยการออกแบบให้ฝ้าเพดานลาดเอียงไปตามความชันของโครงหลังจากจั่ว เพื่อเชื่อมความรู้สึกภายนอกสู่ภายในทางด้านสเปซ อีกทั้งพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการระบายและลดการสะสมของความร้อนในบ้านด้วยเช่นกัน เนื่องจากธรรมชาติของความร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นที่สูงและออกไปตามช่องระบายอากาศนั่นเอง

เนื่องจากเจ้าของบ้านต้องการให้บ้านดูเรียบร้อย น้อย และสะอาดตามากที่สุด เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จึงเลือกเป็นแบบบิลท์อินที่กลืนไปกับผนังเป็นหลัก และออกแบบพื้นที่เก็บของจำนวนมากเป็นพิเศษโดยอยู่ในตู้ตามผนัง หรือออกแบบบิลท์อินเพื่อสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงเท่านั้น และเน้นเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวเท่าที่จำเป็น

อีกหนึ่งความพิเศษของฟังก์ชั่นในบ้านคือ ห้องสำหรับทำกิจกรรมของครอบครัว ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ทำการบ้านของลูกชายวัยแปดขวบและเล่นดนตรีระหว่างคุณพ่อและลูกชาย บริเวณนี้จึงเลือกติดตั้งกระจกรอบทิศทางเช่นกับพื้นที่ Double Space ที่อยู่ติดกัน โดยทางผู้ออกแบบตั้งใจเลือกหน้าต่างประเภทบานกระทุ้งมาติดกันต่อหลายๆ บานจนเกิดเป็นแพทเทิร์นที่เรียบง่ายแต่ไม่ซ้ำใคร อีกทั้งยังได้ในเรื่องของฟังก์ชั่นที่สามารถเปิดเฉพาะบานที่ต้องการใช้ได้

“ก่อนหน้านี้ที่จะมาเป็นกระจกรอบบ้าน เราเคยคิดจะใช้บล็อกแก้ว แต่ก็เปลี่ยนเพราะต้องการความสบายตาที่บางกรณีบล็อกแก้วให้ไม่ได้ แล้วยังมีอีกเรื่องที่สำคัญคือ นอกจากเรื่องไม้จริงที่ทางคุณจุนแนะนำให้ติดภายนอกบ้านแล้ว อีกประเด็นที่คุณจุนเสนอให้ลงทุนกับบ้านคือ การเลือกใช้อะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐานกับส่วนของวงกบต่างๆ เนื่องจากเราเองก็กังวลเรื่องการรั่วซึมและเรื่องความปลอดภัยเป็นอยู่แล้ว ทางเราจึงไปเลือกดูระบบของแบรนด์ TOSTEM ด้วยตัวเอง จนแน่ใจแล้วว่าเป็นแบรนด์ที่ได้มาตรฐาน แล้วก็ยังทนเรื่องรับแรงไหวจากแผ่นดินไหวด้วย เราจึงตัดสินใจเลือกมาใช้กับทุกช่องเปิดในบ้าน ซึ่งพอติดตั้งจริงๆ ก็ค่อนข้างพอใจมาก เพราะนอกจากความแข็งแรงแล้ว ความบางและเส้นสายที่เรียบง่ายยังเข้ากับบ้าน ตรงกับความชอบของเราที่ชอบอะไรที่เรียบง่ายสบายสายตาอยู่แล้ว” คุณศันสนัย์ พงษ์สุรพิพัฒน์ เล่าถึงที่มาของช่องเปิดกระจกขนาดใหญ่รอบบ้าน

(ล็อคแบบก้านโยกแบบพิเศษเฉพาะแบรนด์ TOSTEM

(ล็อคเสริมแบบพิเศษเฉพาะแบรนด์ TOSTEM)

“ผมรู้สึกว่าบางที Concept ในการออกแบบบ้านอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดเสมอไป แต่เป็น Feeling ที่เกิดขึ้นในสเปซ ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างคนใช้พื้นที่จริงๆ ที่อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลาต่างหากคือ เรื่องสำคัญ เพราะการที่เจ้าของบ้านใช้สเปซทุกส่วนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เกร็งในการอยู่บ้านตัวเอง แล้วบ้านเองก็ให้ความเป็นมิตร อบอุ่นและเฟรนลี่กลับไป ผมว่าประเด็นนี้คือเรื่องที่ผมมีความสุขในการออกแบบบ้านหลังนี้ที่สุด” คุณจุน เซคิโน

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการบ้านธรรมดาเพื่อการอยู่การอยู่อาศัย กลับกลายเป็นความพิเศษในความธรรมดาด้วยการออกแบบผ่านงานสถาปัตยกรรมให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นตัวตนจนเกิดเป็นรูปลักษณ์อาคารที่มีเอกลักษณ์ จนไปถึงสเปซภายในที่ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ

Owner : คุณกิตติภูมิ-คุณศันสนัย์ พงษ์สุรพิพัฒน์

Architect : Junsekino Architect and Design

Photograph : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

INTHAMARA 29 จากมรดกทางโครงสร้างแบบคลาสสิก สู่สเปซในสไตล์โมเดิร์น

INTHAMARA 29 จากมรดกทางโครงสร้างแบบคลาสสิก สู่สเปซในสไตล์โมเดิร์น

“บ้านหลังนี้เกิดจากการรวมกันระหว่างความคลาสสิกที่คุณพ่อชอบ ผสมกับไสตล์โมเดิร์นเรียบๆ ที่คุณอ้วนซึ่งเป็นเจ้าของบ้านชอบ เฉพาะฉะนั้นบ้านจึงออกมาเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่มีกลิ่นอายของความคลาสสิกเจืออยู่ในรายละเอียด” คุณเบ๊น-ณฤชา คูวัฒนาภาศิร สถาปนิกผู้ออกแบบ

หากจะเรียกว่าเป็น ‘ความแตกต่างที่ลงตัว’ ก็คงไม่ผิดนักสำหรับการจับคู่กันระหว่างการออกแบบที่ต่างกันสุดขั้วของสไตล์โมเดิร์นและสไตล์คลาสสิกที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกันของ คุณอ้วน-วสุ เลาจริยกุ ที่แรกเริ่มนั้นต้องการปลูกบ้านใหม่ในพื้นที่เดิมของครอบครัวเพื่อสร้างเป็นเรือนหอ โดยตั้งใจรื้อบ้านหลังเดิมที่อยู่ติดกับบ้านของคุณพ่อซึ่งเป็นสไตล์คลาสสิกออกทั้งหมดแล้วสร้างเป็นสไตล์โมเดิร์นที่ชอบ แต่ทางคุณพ่อเสนอว่าให้เก็บเอกลักษณ์บางอย่างของความคลาสสิกไว้

นั่นจึงทำให้คุณอ้วนตัดสินใจรีโนเวตบ้านหลังนี้แทนการทุบใหม่ทั้งหลังเพื่อให้ยังคงกลิ่นอายบางอย่างของบ้านเดิมที่คุณพ่อชอบไว้อยู่ โดยได้ คุณเบ๊น-ณฤชา คูวัฒนาภาศิร สถาปนิกฝีมือดีจาก I like design studio มารับหน้าที่ช่วยทำให้สไตล์ที่แตกต่างกันนั้นผสมกลมกลืนออกมาเป็นบ้านที่กลมกล่อมไปทุกรายละเอียด

“ช่วงออกแบบและก่อสร้างจนมาถึงวันนี้เราก็เรียกบ้านหลังนี้กันจนติดปากว่า ‘บ้าน 29’ ตามชื่อซอยอินทามระ 29 ส่วนเรื่องการออกแบบนั้นถ้าเป็นเรื่องของสไตล์และความชอบไม่ได้ยากหรือมีปัญหาอะไร เนื่องจากผมและคุณอ้วนชอบอะไรคล้ายๆ กันอยู่แล้ว อย่างงานออกแบบสไตล์โมเดิร์นหรือความมินิมอล ชอบบ้านขาวๆ สะอาดๆ เหมือนกัน เมื่อถึงเวลาการออกแบบเลยค่อนข้างลื่นไหล อาจจะเพราะผมกับคุณอ้วนรู้จักกันมาก่อนจะเริ่มออกแบบเลยพอทราบความต้องการและสไตล์ของคุณอ้วนมาประมาณหนึ่ง ส่วนเรื่องความท้าทายในการออกแบบคงหนีไม่พ้นว่าจะทำอย่างไรให้ความคลาสสิกกับความโมเดิร์นให้ไปด้วยกันได้นั่นแหละ ซึ่งสุดท้ายเราจึงตัดสินใจเก็บโครงสร้างเดิมไว้แล้วใส่ Element ความเป็นโมเดิร์นลงไป”

(ต่อเติมชานบ้านขนาดใหญ่สำหรับใช้งานจริงลงบนโครงสร้างเดิม)

(เก็บโครงสร้างเสาเดิมของอาคารเอาไว้เพื่อรับระเบียงบริเวณชั้นสอง) เมื่อตัดสินใจที่จะออกแบบให้เป็นบ้านที่ผสมกันระหว่างสองสไตล์แล้วทางผู้ออกแบบจึงทุบพื้นเดิมทิ้งทั้งหมดแล้วเหลือไว้แต่โครงสร้างและจำนวนของเสาที่มีจำนวนมากที่เป็นภาษาของคลาสสิกไว้ด้านนอก เพื่อให้เวลาที่มองจากภายนอกก็ยังคงรับรู้ถึงเรื่องราวเดียวกันระหว่างบ้านของพ่อกับของลูกอยู่ จากนั้นจึงดันระยะกระจกให้อยู่ด้านในเสาเพื่อให้เกิดการเข้ามุมของกระจก ช่วยให้บ้านดูเบาและสบายตา อีกทั้งจากการรื้อพื้นเดิมออกนั้นก็เพื่อที่จะสามารถให้ทำให้ฝ้าเพดานมีระดับความสูงได้แบบโมเดิร์นเกิดเป็น Double Space ที่ต่อเนื่องกัน โดยทำโครงสร้างเหล็กมาช่วยเสริมบริเวณนี้เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง

(ช่องเปิดขนาดใหญ่บริเวณห้องนั่งเล่นทำหน้าที่เปิดรับแสงและลมธรรมชาติเข้ามาอย่างเต็มที่)

(เจาะช่องเปิดรอบทิศทางเพื่อสร้างบรรยากาศโปร่งโล่งให้กับสเปซ)

Double Space บริเวณห้องนั่งเล่นเกิดจากความต่อเนื่องจากการออกแบบฟังก์ชั่นและสเปซที่มีชนาด 6.0×10.0 ม. ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ถูกจำกัดด้วยโครงสร้างของบ้านเดิม ส่งผลให้จังหวะและขนาดของช่องเปิดมีขนาดใหญ่เพื่อให้พอเหมาะกับขนาดของบ้าน อีกทั้งยังเป็นรับเปิดรับแสงจากทางทิศตะวันออกที่อยู่หน้าบ้านได้เต็มที่ เสริมกับทำชานบ้านใหม่ให้กว้างกว่าปกติบนโครงสร้างเดิม โดยมีระเบียงชั้นสองที่ถูกเปลี่ยนจาก Canopy แบบคลาสสิกมาทำหน้าหน้าที่เป็นชายคาได้อย่างลงตัว

(คุมธีมการตกแต่งด้วยสีขาวจากกระเบื้องลายหินอ่อนเป็นหลัก เนื่องจากทำความสะอาดได้ง่ายและให้ลุคที่ดูโมเดิร์นเรียบหรูในตัวเอง)

(เพิ่มช่องเปิดบริเวณโถงบันไดเพื่อลดความอึดอัด) การเลือกใช้วัสดุเพื่อให้ยังคงกลิ่นอายแบบคลาสสิกก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อวันแรกที่ทำการรื้อบ้านหลังเดิมทางผู้ออกแบบก็ไปเลือกเก็บวัสดุเก่าอย่างหลังคาและไม้ เพราะสีสันและร่องรอยตามธรรมชาติทำให้เชื่อมเรื่องราวกับบ้านหลังของคุณพ่อที่อยู่ข้างกันได้ ส่วนการออกบ้านเพื่อให้โมเดิร์นมากขึ้นจึงไปเน้นตรงการลดทอนรายละเอียดของความคลาสสิกบางประการให้น้อยลงไป อย่างการยังเก็บบัวให้ล้อของเดิมแต่ลดจำนวนเส้นสายลง และเปลี่ยนวงกบประตูและหน้าต่างใหม่ทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียมเพื่อให้ดูเรียบร้อยขึ้น

(ผู้ออกแบบเสนอไอเดียเรื่องพื้นที่เก็บของที่ต้องมีปริมาณที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากบ้านโมเดิร์นต้องการความเรียบเป็นสำคัญจึงทำให้บ้านหลังนี้มีพื้นที่เก็บของจำนวนมากและหลายสไตล์ ทั้งเป็นตู้ที่ถูกออกแบบให้ฝังไปในผนังหรือชั้นวางของที่สูงจรดเพดาน)

(สะพานกระจกที่เป็นอีกหนึ่งกิมมิกของบ้าน ทำขึ้นเพื่อต้องการเชื่อมมุมมองจากชั้นล่างขึ้นชั้นบนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน)

“ผมเป็นคนแนะนำให้คุณอ้วนเลือกใช้ TOSTEM เพราะงานที่ผมออกแบบที่ผ่านมาได้มีโอกาสใช้TOSTEM พอเคยใช้แล้วรู้สึกว่าสินค้าได้มาตรฐาน มีคุณภาพแล้วราคาไม่ได้สูงจนเกินไปนัก จึงนำมาใช้กับบ้านคุณอ้วนต่อ โดยที่ช่องเปิดส่วนอื่นๆ ของบ้านเราใช้ขนาดมาตรฐานตามที่แบรนด์มี” คุณเบ๊น-ณฤชา สถาปนิกผู้ออกแบบ

จากมรดกทางโครงสร้างแบบคลาสสิกของบ้านเดิมสู่สเปซและรูปลักษณ์ในสไตล์โมเดิร์นที่ถูกเปลี่ยนให้เข้ากันด้วยการออกแบบ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนรสนิยมของเจ้าของบ้านแล้ว การเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการออกแบบสไตล์คลาสสิกเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นบัว เสาหรือวัสดุบางอย่างเอาไว้แสดงให้ถึงเรื่องความความผูกพันระหว่างครอบครัว รวมไปถึงเกิดเป็นพื้นที่ที่มีกลิ่นอายความอบอุ่นที่สัมผัสได้ชัดเจนในทุกๆ สเปซ

(สร้างลูกเล่นให้หน้าต่างบานกระทุ้งด้วยการย้ายตำแหน่งมายังบริเวณใต้กระจกเงา)

(ระบบล็อคดีไซน์พิเศษเพื่อการใช้งานที่สะดวกและปลอดภัย)

ขอขอบคุณ

Owner : คุณวสุ เลาจริยกุ

Architect : I like design studio โดย คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิร

Photograph : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

Introduction to Doors & Windows รู้จักรูปแบบของบานประตู-หน้าต่าง

Introduction to Doors & Windows รู้จักรูปแบบของบานประตู-หน้าต่าง

ประตู-หน้าต่างคือส่วนประกอบพื้นฐานที่สุดของบ้าน แต่เพราะดูเป็นเรื่องง่าย หลายคนก็เลยละเลย ทั้งที่จริงแล้วประตู-หน้าต่างคือผู้ช่วยสำคัญที่เสริมลุกให้ตัวบ้านเข้ากับคอนเซ็ปต์ที่ออกแบบไว้ และยังช่วยครีเอตรูปแบบของพื้นที่ตามฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต้องการอีกต่างหาก

ทีนี้พอจะต้องเลือกประตูและหน้าต่างก็เริ่มคิดไม่ออกแล้วว่า ควรจะเริ่มต้นจากตรงไหน เรามาไล่ดูประตู-หน้าต่างแต่ละแบบกันดีกว่า ในที่นี้เราเลือกแบ่งประเภทตามรูปแบบการเปิด แล้วค่อยๆ ดูไปทีละตัวว่าถูกใจกับหน้าตาหรือฟังก์ชั่นการใช้งานของตัวไหน แล้วเรื่องดีไซน์ก็จะตามมาได้เอง

บานเปิด (Swing Door) บานเปิดแบบธรรมดาสามัญที่สุด ความพิเศษที่เกิดขึ้นจึงอยู่ที่วิธีการดีไซน์หน้าบานให้เข้ากับสไตล์ของบ้านและระดับความเป็นส่วนตัวที่ต้องการ ข้อดีจึงอยู่ที่ใช้งานง่าย เปิดออกได้สุดบาน แต่ต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องระยะเปิดว่าจุดที่จะเปิดบานต้องไม่มีอะไรกีดขวาง และเมื่อเปิดหน้าบานทิ้งไว้แล้วไม่ไปขวางพื้นที่อื่น

บานเปิดแบบคู่ (Swing Bifold Door) บานเปิดแบบคู่ถูกแบ่งครึ่งออกเป็นสองบาน ประหยัดระยะเปิดที่ไม่ต้องกว้างเท่ากับบานเปิดสะวิงแบบเดี่ยว หรือหากต้องการไซส์แบบบานสะวิงธรรมดา ก็จะได้ทางเข้าห้องที่ใหญ่ขึ้นอีกแบบดับเบิ้ล แต่พอมีสองบาน การติดตั้งหน้าบานจะต้องทำงานเบิ้ลขึ้นเป็นสองเท่าจากหน้าบานเดี่ยว และจะต้องติดตั้งระยะบน-ล่างให้เท่ากันทั้งสองบานเพื่อให้งานดูเรียบร้อยสวยงาม

เครดิตภาพ : mydomaine

บานหมุน (Pivot Door) ประตูแบบบานหมุนมักพบใช้เป็นส่วนกั้นแบ่งและเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างสองห้องมากกว่าที่จะใช้เป็นประตูทางเข้าหลัก นั่นก็เพราะจุดหมุนซึ่งอยู่ตรงกลางทำให้บานเปิดหมุนออกได้เพียง 90 องศา จึงมักใช้หน้าบานตั้งแต่ 2 บานขึ้นไปเพื่อเปิดระยะผ่านเข้าออกให้กว้างขวางขึ้น แต่หากใช้บานเดียวสำหรับเป็นทางเข้าออกก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องควบคุมบาลานซ์ของหน้าบานจากจุดหมุนที่ต้องเลื่อนไปใกล้ขอบบานประตูมากขึ้น ซึ่งควรปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้คำนวณระยะและการติดตั้งให้

เครดิตภาพ : archdaily

บานหมุนแนวนอน (Vertical Pivot Window) บานหมุนแบบแนวนอนถูกนำมาใช้กับหน้าต่างสำหรับระบายอากาศ เพราะมุมที่เปิดออกทำได้มากที่สุดเพียง 90 องศา ซึ่งหากติดตั้งอุปกรณ์ล็อกที่หนาแน่น ก็จะสามารถปรับระดับองศาการเปิดที่ต้องการได้

เครดิตภาพ : hannaskoog

บานเฟี้ยม (Accordian Door) ข้อดีของบานเฟี้ยมที่สามารถเปิดออกได้เพื่อเชื่อมบริเวณทั้งสองพื้นที่เข้าด้วยกันโดยไม่มีอะไรขวางกั้น ทำให้นิยมใช้บานเฟี้ยมกับห้องที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สวน และพื้นที่ภายในห้องที่มีขนาดจำกัด แต่การติดตั้งบานเฟี้ยมแนะนำให้ควรติดตรึงไว้กับทั้งรางทั้งเหนือบานและบนพื้น เพื่อป้องกันหน้าบานแกว่งเมื่อต้องเปิดปิดบ่อยๆ ส่งผลถึงเรื่องอายุการใช้งานและอันตรายอื่นๆ ที่อาจตามมา

บานเลื่อนแบบแขวน (Top-Hung Sliding Door) บานเลื่อนแบบแขวนให้ลุกแบบโรงนา ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องทำรางบนพื้น เมื่อเปิดหน้าบานออกจึงราบเรียบเสมอกันทั้งสองห้อง ไม่มีการเดินสะดุด แต่ข้อเสียก็คือ หากบานประตูหนักมากและตัวแขวนด้านบนรับน้ำหนักได้ไม่ดี รวมทั้งการเปิดปิดบ่อยๆ แรงๆ ก็อาจทำให้หน้าบานตกเร็ว

เครดิตภาพ : studiomunge

บานกระทุ้ง (Awning) เพียงย้ายบานพับจากด้านข้างขึ้นไปไว้ด้านบน หน้าต่างบานเปิดธรรมดาก็กลายเป็นหน้าต่างบานกระทุ้งแล้ว หน้าต่างแบบนี้เหมาะสำหรับใช้ระบายอากาศ และป้องกันแสงสะท้อนจากแดดจัดของวัน ข้อแนะนำสำคัญคือควรติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ เช่น บานพับและขอสับให้แข็งแรงมากๆ เพราะบานพับเป็นตัวรับน้ำหนักเพียงตัวเดียวของหน้าบาน

บานชัตเตอร์ (Shutter Window) บานชัตเตอร์มักพบมากกับการใช้หน้าบานเป็นเกล็ดไม้ เพื่อความโปร่งโล่ง และสามารถระบายอากาศร้อนขึ้นด้านบนออกสู่ซี่ระหว่างเกล็ดไม้ได้ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นที่แบ่งระหว่างส่วนในบ้านกับพื้นที่สวนนอกบ้าน บานชัตเตอร์ประกอบด้วยส่วนรับน้ำหนักสองส่วน ได้แก่ ส่วนบานพับและรางด้านข้างสำหรับขัดกำกับความสูงของการเปิด จึงควรเลือกอุปกรณ์ล็อกให้แข็งแรง

เครดิตภาพ : pinterest

บานเกล็ด (Louver Window) บานเกล็ดกระจกแบบหมุนเป็นประเภทของหน้าต่างบานเกล็ดที่เราคุ้นเคยกันดี แต่แท้จริงแล้วบานเกล็ดยังรวมถึงไม้ และวัสดุอื่นได้อีก ฟังก์ชั่นหลักของบานเกล็ดคือใช้ระบายอากาศภายในห้อง โดยบานเกล็ดจะมีข้อจำกัดเรื่องความกว้างเนื่องมาจากน้ำหนักของกระจก ถ้ายิ่งกว้างมาก น้ำหนักมาก อุปกรณ์ประกอบก็ยิ่งต้องหนาแน่นมาก แต่ข้อเสียของบานเกล็ดคือถอดง่าย จึงอาจไม่ปลอดภัยนักหากต้องติดตั้งกับงานภายนอกบ้าน

เครดิตภาพ : wearefound

บานฟิกข้างประตูทางเข้าหลัก (Sidelights) นอกจากบานหน้าต่างแบบที่เปิดได้แล้ว ยังมีบานกระจกหรือบานหน้าต่างแบบติดตรึง หรือที่เรียกว่าบานฟิกอีก ซึ่งใช้สำหรับเป็นพื้นที่รับแสงธรรมชาติจากนอกบ้านเข้ามาสร้างแสงสว่างภายในบ้าน โดยนอกจากบานฟิกธรรมดาแล้ว บานฟิกที่ติดอยู่ข้างประตูบ้านหลักยังมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Sidelights แต่เดิมเป็นช่องสำหรับมองออกไปนอกบ้าน แต่ปัจจุบันซึ่งสามารถใช้กระจกเป็นวัสดุประตูได้ ก็ยังมีการติดตั้งกรอบบานฟิกข้างประตูทางเข้าหลักเพื่อความสวยงาม และเปิดมุมมองการรับแสงจากภายนอกให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก

เครดิตภาพ : homestratophere

บ้านธรรมดาบนความสุขขั้นพื้นฐาน

บ้านธรรมดาบนความสุขขั้นพื้นฐาน

บ้านที่ไม่ใช่บ้านของใครคนหนึ่ง การทำให้ทุกคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รู้สึกอบอุ่นได้เหมือนกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

Location: ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมเครือซิเมนต์ไทยท่าหลวง, สระบุรี

Architect: หน่วยงาน CDO “Creative & Design Office”

โดยคุณอัครริน สมกิจรุ่งโรจน์

Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

หากจะกล่าวถึงคำว่า ‘อยู่สบาย’ ที่บ้านทุกหลังพึงมี การออกแบบทุกพื้นที่ของบ้าน เป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มความสุขให้การใช้ชีวิตภายใต้สถาปัตยกรรมแสนอบอุ่นได้ไม่น้อย เช่นเดียวกันกับบ้านหลังนี้ บ้านสองชั้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความเขียวชะอุ่มของบริบทภายในศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมเครือซิเมนต์ไทย ฝีมือการออกแบบของหน่วยงาน CDO “Creative & Design Office” โดยมี “คุณอัครริน สมกิจรุ่งโรจน์” สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้โดยใส่ ‘ความโปร่งโล่ง’ และบรรยากาศสบายๆ สำหรับผู้อยู่อาศัยคนสำคัญขององค์กร ที่มักจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

“บ้านหลังนี้ เป็นหนึ่งในบ้านพักสำหรับพนักงานระดับสูงของบริษัท Siam Cement Group ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกของครอบครัว และแขกแวะมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือ เจ้าของบ้านจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้านถูกปรับตำแหน่ง เราไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่า ความชื่นชอบของแต่ละคนเขาเป็นอย่างไร” ความท้าทายในการออกแบบที่คุณอัครรินเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง การหาจุดร่วมของการออกแบบที่ให้เจ้าของบ้านในแต่ละช่วงเวลารู้สึกว่าบ้านอยู่สบาย และสามารถตอบโจทย์การต้อนรับแขกได้ ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้บ้านออกมามีส่วนนั่งเล่นและรับแขกที่กว้างขวาง ในรูปแบบเรียบง่ายและในสไตล์ที่เป็นกลางมากที่สุด

โปร่งแสงและยินดีต้อนรับธรรมชาติ สำหรับการออกแบบพื้นที่ภายในนั้น สถาปนิกได้ออกแบบ Double space หรือพื้นที่เปิดโล่งถึงชั้นสอง ไว้ใจกลางของบ้าน บวกกับวางผังแบบ Open plan เชื่อมต่อทุกฟังก์ชันอย่างห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัวเข้าด้วยกัน การออกแบบช่องเปิดขนาดใหญ่สูงจรดฝ้าเพดานตลอดแนวนั้น และด้วยความที่ทิศหน้าบ้านเป็นทิศเหนือ ทำให้สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ สัมผัสถึงความปลอดโปร่งมากขึ้น และรองรับแขกผู้มาเยือนเป็นหมู่คณะได้แบบสบายๆ

ห้องรับประทานอาหารและห้องครัวของบ้าน ที่กว้างขวางและมีความเชื่อมต่อกัน

Section แสดงพื้นที่ภายในบ้านแบบ Double Space ทำให้ภายในบ้านโปร่งโล่ง

จากพื้นที่โถงบันไดขึ้นมายังชั้นสอง จะพบกับทางเดินที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อไปยังห้องนอนฝั่งซ้ายและขวา และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โถงบันไดที่สามารถสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวได้ทั่วถึง นอกจากนี้ยังสามารถสัมผัสธรรมชาติจากสวนหย่อมกลางผ่านหน้าต่างบานกว้างได้อีกด้วย

สัมผัสการอยู่อาศัยที่สบาย ผ่อนคลาย และรู้สึกปลอดโปร่งด้วยพื้นที่ที่ออกแบบมาอย่างกว้างขวาง

นอกเข้ม ในอ่อน เนื่องจากบ้านหลังนี้ ไม่ใช่บ้านของใครคนหนึ่ง การทำให้ทุกคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รู้สึกอบอุ่นได้เหมือนกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย สถาปนิกจึงเลือกใช้โทนสีเข้มที่ภายนอก เพื่อให้ภาพลักษณ์ภายนอกของบ้านดูสุขุมตามแบบฉบับผู้บริหาร ซึ่งแตกต่างจากภายในที่ใช้โทนสีอ่อน อย่างสีขาวสะอาดของผนัง จับเข้าคู่กับไม้สีอ่อน เพราะเป็นสีพื้นฐานที่สามารถเข้ากับทุกคนได้ รวมถึงสร้างความสบายตา ผ่อนคลาย หลังจากเหนื่อยล้ากลับมาจากการทำงาน

สัมผัสธรรมชาติทุกพื้นที่ ด้วยบริบทรอบด้านที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวของสนามหน้าบ้าน และสวนหย่อมส่วนกลางของศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมเครือซิเมนต์ไทยท่าหลวง เพื่อเพิ่มความพิเศษให้กับทุกพื้นที่ภายในบ้านได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น สถาปนิกจึงเป็นผู้ออกแบบขนาดและกำหนดตำแหน่งช่องเปิด-ปิด ไม่ว่าจะเป็นประตู หรือหน้าต่างเองทั้งหมด จึงเป็นเหตุผลที่เลือกใช้แบรนด์ TOSTEM ประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมที่นอกจากจะสามารถออกแบบขนาดตามต้องการได้แล้ว รูปแบบยังมีความหลากหลาย มีเส้นสายที่สวยงาม เรียบง่ายเข้ากับรูปแบบของบ้านได้เป็นอย่างดี

อย่างกระจกเข้ามุมที่สถาปนิกออกแบบไว้ในห้องนอนด้านหน้าของบ้าน ตั้งใจออกแบบเพื่อเปิดสู่ธรรมชาติภายนอกได้อย่างเต็มที่ ก็ออกมาสวยงามลงตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องของความรั่วซึมเพราะด้วยมาตรฐานจากญี่ปุ่น ทำให้ TOSTEM เป็นบานประตูหน้าต่างที่เหมาะกับการใช้งานกับบ้านหลังนี้

ห้องนั่งเล่นที่เพิ่มลูกเล่นด้วยการออกแบบ Skylight โดยกำหนดขนาดความยาวกระจกให้พอเหมาะกับพื้นที่นั่งเล่นบนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอย่างโซฟา

“TOSTEM ตอบโจทย์เรื่องการป้องกันน้ำฝนรั่วผ่านรอยต่อของประตูหน้าต่างได้ดี ด้วยการคิดค้นและดีไซน์อย่างละเอียดละออพร้อมระบบการผลิตอะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐาน ผู้อยู่อาศัยจึงไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องของการรั่วซึมเลย และส่วนใหญ่ผู้บริหารก็ไม่ได้อยู่บ้านตลอด ระหว่างนั้นก็มั่นใจได้เลยว่าบ้านจะปลอดภัย เพราะมีระบบล็อคอัจฉริยะหลายชั้น จึงเหมาะสมมากที่จะนำมาใช้กับบ้านพักในทุกๆหลัง” คุณอัครริน เล่าถึงที่มาของประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่รอบบ้าน

ล็อคแบบก้านโยกแบบพิเศษเฉพาะของ TOSTEM

ระบบล็อคเสริมแบบพิเศษสำหรับประตูบานเลื่อนเฉพาะของ TOSTEM

เพื่อรองรับการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างเป็นกันเอง ประตูบานเปิดนี้ก็ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับเฉลียงรอบบ้านได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เปิดเพื่อรับลมธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายใน ตอบโจทย์ในเรื่องการอยู่อาศัยที่สบาย ผ่อนคลายอีกด้วย

ความรู้สึกโปร่งโล่งที่เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ภายในบ้าน มองไปทางใดก็ผ่อนคลายสายตา แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการออกแบบบ้านทุกๆหลัง แต่สำหรับความท้าทายในการออกแบบบ้านที่พร้อมมอบความสุข ความอยู่สบายให้กับผู้อยู่อาศัยในระดับบริหารแล้ว การสะท้อนภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดี พร้อมภายในที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างเป็นมิตร ก็ถือว่าสถาปัตยกรรมที่นี้ทำหน้าที่ตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณ

“Creative & Design Office” : โดยคุณอัครริน สมกิจรุ่งโรจน์

“ทึบนอกโปร่งใน” กับการเชื่อมต่อพื้นที่ “เก่าและใหม่” ด้วยธรรมชาติ

“ทึบนอกโปร่งใน” กับการเชื่อมต่อพื้นที่ “เก่าและใหม่” ด้วยธรรมชาติ

“ปฏิสัมพันธ์ระหว่างของความเรียบง่าย และความปลอดโปร่ง”

Location: แยกรินคำ, จังหวัดเชียงใหม่ Owner: อมรศักดิ์ – วนิดา ปัญสุรินทร์ Architect: สุเมธ กล้าหาญ, พงศกร ณ พัทลุง และ พิสิฐ ฟุ้งสุข แห่ง Materior Studio Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

“เมื่อความเป็นส่วนตัวและความรู้สึกโปร่งโล่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่อาศัย ความท้าทายที่จะสร้างสรรค์ให้ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างลงตัวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก” หนึ่งเหตุผลที่ทำให้เจ้าของบ้านอย่าง คุณอมรศักดิ์ และ คุณวนิดา ปัญสุรินทร์” ไว้ใจให้คนคุ้นเคยอย่าง คุณสุเมธ กล้าหาญ” ที่เป็นทั้งลูกเขยและสถาปนิกจาก Materior Studio มาเติมเต็มบ้านหลังใหม่ ที่ภายนอกปกคลุมไปด้วยผนังสีขาวทึบอันเรียบง่าย แต่ภายในกลับเผยบรรยากาศอันร่มรื่นของธรรมชาติอันปลอดโปร่ง และยังคงเชื่อมต่อกับบ้านหลังเก่าได้อย่างมีความสุข

คุณสุเมธ กล้าหาญ จาก Materior Studio

บ้านสีขาวสองชั้นที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ เป็นบ้านหลังใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่ต้องการขยับขยายพื้นที่อยู่อาศัยจากบ้านทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้นเดิม เพื่อรองรับการใช้งานของสมาชิกที่อายุมากขึ้น โดยทั้งสองได้ตัดสินใจซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ที่อยู่ด้านหลังของบ้านหลังเดิมที่อาศัยอยู่ และหวังใจว่าจะรีโนเวทบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ในอนาคต

บ้านทาวน์เฮาส์หลังเดิมที่คุณคุณอมรศักดิ์ และ คุณวนิดา ปัญสุรินทร์ อยู่อาศัย

บ้านที่มาพร้อมที่ดินด้านหลังบ้านที่อยู่อาศัยเดิม

แทนที่ใหม่ แล้วเชื่อมไปเก่า

แต่ทว่าบ้านเก่าบนที่ดินผืนใหม่นั้นมีอายุมากกว่า 30 ปี โครงสร้างจึงค่อนข้างทรุดโทรม หากรีโนเวทอาจส่งผลกระทบในภายหลัง สถาปนิกจึงตัดสินใจทุบทิ้งและออกแบบบ้านหลังใหม่แทนที่ รวมถึงออกแบบทางเดินและคอร์ทยาดขนาดใหญ่ใจกลางระหว่างพื้นที่บ้านเก่าและใหม่ สร้างร่มเงาให้กับพื้นที่และเชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในบ้านให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน

ทึบนอก แต่โปร่งใน

เมื่อมองภาพภายนอกของบ้านที่ถูกปกคลุมไปด้วยผนังสีขาวอันเรียบง่าย แต่ละด้านมีช่องเปิดไม่มากนัก ทำให้เราค่อนข้างประหลาดใจเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน เพราะกลับให้ความรู้สึกกว้างขวาง โปร่งโล่ง และร่มรื่นจากพื้นที่สีเขียวที่รายล้อมอยู่ทุกๆมุมมอง ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ คือความตั้งใจของสถาปนิกที่ออกแบบภายนอกให้ทึบ เพื่อป้องกันแสงแดดและเพิ่มความเป็นส่วนตัว ส่วนภายในเปิดรับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

พื้นที่ชั้น 1 ถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่ทำงาน และพื้นที่จัดเตรียมอาหาร จัดวางในรูปแบบ Open plan และด้วยโครงสร้างแบบไร้เสา(Long Span) ที่ยาวถึง 8 เมตร ทำให้พื้นที่ดูกว้างขวางเป็นพิเศษ มีประตูอะลูมิเนียมบานเลื่อนกว้างในทิศทางที่เข้าสู่สวนใจกลางบ้านในทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นทิศที่ลมพัดผ่าน อากาศจึงถ่ายเทได้สะดวก เมื่อเปิดทั้งหมดจะให้ความรู้สึกโปร่งโล่งอยู่สบาย และสามารถเชื่อมต่อไปยังบ้านเก่าได้

แปลนบ้านชั้น 1 และ ชั้น 2

ซึ่งข้อดีของการจัดพื้นที่กว้างแบบนี้ นอกจากทำให้รู้สึกถึงความโปร่งโล่งแล้ว ยังสามารถต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างเต็มที่ และช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เกิดขึ้นผ่านกิจวัตรประจำวันของตน เพราะในขณะที่คุณอมรศักดิ์นั่งทำงาน คุณวนิดาก็สามารถทำอาหารได้ ไปพร้อมกับพูดคุยซึ่งกันและกัน

ส่วนส่วนเซอร์วิสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงจอดรถ ห้องน้ำ หรือบันได ถูกออกแบบไว้ในทิศตะวันตกที่มีแดดส่องตลอดวัน เพื่อช่วยลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ห้องนั่งเล่น พร้อมทั้งเปิดช่องแสงเท่าที่จำเป็นอย่างในห้องน้ำและชานพักบันได เพื่อถ่ายเทอากาศและสร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

จะสังเกตได้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีการเปลี่ยนระดับน้อยมาก ทั้งนี้เพื่อรองรับการใช้งานของเจ้าของบ้านที่อายุมากขึ้นนั่นเอง ในขณะที่ชั้นสอง มีห้องนอนเพิ่มเติมสำหรับลูกสาว คุณสุเมธและหลานชายตัวน้อยในวัยที่ซุกซน

ภายในถูกตกแต่งอย่างเรียบง่าย ด้วยผนังสีขาวสะอาดตาตามความชื่นชอบของเจ้าของบ้าน ผสานกับพื้น ประตูและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่เพิ่มเติมบรรยากาศภายในบ้านให้ดูอบอุ่นมากยิ่งขึ้น

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านและธรรมชาติ

การออกแบบสวนใจกลางบ้านทำให้พื้นที่ภายในห้องนั่งเล่นเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเปิดรับแสงและลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาอย่างเต็มที่ได้ตลอดทั้งวัน โดยภายในสวนนั้นสถาปนิกเลือกปลูกต้นปีบ เพราะมีลำต้นที่สูง เมื่อมองจากภายในบ้านออกมาจะเห็นเพียงลำต้นให้ความรู้สึกโปร่งโล่งมากกว่า ในขณะที่ได้ร่มเงาและความร่มรื่นจากพุ่มด้านบนอย่างทั่วถึง

ช่องเปิดของพื้นที่ห้องนั่งเล่นมีการติดตั้งแผงบานเกล็ดอะลูมิเนียม ที่สามารถเลื่อนเปิดเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเชียวภายในบ้าน หรือเลื่อนปิดเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวได้ ทำหน้าที่เสมือนเหล็กดัดเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บ้านด้วย

นอกจากคอร์ทยาดขนาดใหญ่ใจกลางบ้านแล้ว ภายในพื้นที่ต่างๆของบ้าน ยังสอดแทรกพื้นที่สวนหินเล็กๆ ตามมุมมองต่างๆ โดยการออกแบบบานหน้าต่างกระจกที่มีขนาดกว้าง เพื่อเชื่อมทุกๆพื้นที่ภายในบ้านให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาในเวลากลางวันได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

“สำหรับเรื่องการเลือกใช้วงกบประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม เราตั้งใจเลือกใช้ TOSTEM โดยเฉพาะ เพราะนอกจากเรื่องคุณภาพของการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกที่ทำให้เจ้าของบ้านมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นแล้ว ยังมีการดีไซน์ที่เรียบง่ายตอบโจทย์ ทำให้บ้านดูสวยงามลงตัว อีกทั้งพื้นที่ห้องนั่งเล่นที่มีความยาวของช่องเปิดมากเป็นพิเศษ (ประมาณ 8 เมตร) TOSTEM ก็สามารถออกแบบให้ตรงกับความต้องการได้อย่างมีคุณภาพ” คำตอบของคุณสุเมธ เมื่อเราถามถึงช่องเปิดต่างๆภายในบ้าน

Tip: ในกรณีที่การออกแบบบานประตูหน้าต่างมีลักษณะพิเศษ อย่างบ้านหลังนี้ ที่มีความยาวที่มากกว่าปกติ ควรส่งแบบไปปรึกษาทีม TOSTEM ซึ่งทางทีมจะช่วยออกแบบลักษณะการเปิดปิด หรือดีเทลต่างๆของการใช้งานของบ้านหลังนั้นๆให้อย่างเหมาะสมที่สุด

ถึงแม้ช่องเปิดจะกว้างจนมีขนาดเท่ากับความกว้างของกำแพง แต่ TOSTEM ก็สามารถออกแบบมาได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งระบบลอค 3 ชั้น ที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้านหลังนี้อีกด้วย

“เมื่อก่อนอยู่ทาวน์เฮาส์ พื้นที่จะถูกแบ่งเป็นชั้นๆ การใช้งานถูกตัดขาดกันโดยสิ้นเชิง แต่พอย้ายมาอยู่บ้านใหม่ มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์กิจกรรมของแต่ละคน ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมต่อในพื้นที่เดียวกันได้” คุณสุเมธกล่าวทิ้งท้ายกับเรา เมื่อถามความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในครอบครัว ที่นอกจากจะทำให้รู้สึกบ้านโปร่ง โล่ง อยู่สบายแล้ว ยังช่วยก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวผ่านการออกแบบบ้านภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติ

เคล็ดลับดีไซน์หน้าบานประตู-หน้าต่างสไตล์โมเดิร์น

เคล็ดลับดีไซน์หน้าบานประตู-หน้าต่างสไตล์โมเดิร์น

โมเดิร์นในความเข้าใจของทุกคน คือความเรียบง่ายสบายตา แต่ในแง่มุมของงานดีไซน์ ความเรียบง่ายสามารถตีความได้หลายทางไม่เพียงแค่การใช้เส้นสาย สีขาว-ดำ หรือวัสดุแบบอุตสาหกรรม แต่คือการนำทุกองค์ประกอบเหล่านี้มารวบรวมเพื่อสร้างงานออกแบบที่ทำให้โมเดิร์นกลายเป็นสไตล์ที่ไม่มีวันเบื่อ เราจึงขอพาคุณมาพบกับเคล็ดลับการออกแบบหน้าบานประตู-หน้าต่างสไตล์โมเดิร์นแบบง่ายๆ แต่รับรองว่าสวยมาก

บานประตู เต็มความสูงผนัง เคล็ดลับแรกคือ การใช้หน้าบานสำหรับประตูและหน้าต่างสูงเต็มความสูงผนังจากพื้นจรดฝ้า เส้นตรงแนวดิ่งเช่นนี้จะช่วยเสริมให้ห้องดูสูงโปร่ง และเป็นเส้นนำสายตาให้ดูโมเดิร์นได้เป็นอย่างดีในทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นประตูไม้แบบเต็มแผ่น หรือกรอบบานอะลูมิเนียมกรุกระจกก็เลือกใช้ได้ตามดีไซน์และความต้องการของห้อง ภาพจาก futuristarchitecture

เส้นสายน้อยที่สุด เส้นสายของความโมเดิร์นมักมาจากวัสดุสีเข้มอย่างเหล็กซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของงานโมเดิร์น และพอมาถึงในยุคนี้ก็มีวัสดุที่ทดแทนเหล็กได้อีก เช่น อะลูมิเนียมซึ่งขยายขอบเขตของสีสันได้มากขึ้นอีก เส้นสายสีเข้มเหล่านี้นำมาล้อมกรอบแล้วกรุตรงกลางด้วยกระจกหรือวัสดุสีเดียวพื้นผิวเกลี้ยง นี่แหละคือโมเดิร์นขนานแท้ ภาพจาก archdaily

แบ่งเส้นเป็นจังหวะ ความสม่ำเสมอเท่าเทียมก็เป็นอีกซิกเนเจอร์ของงานโมเดิร์น การกำหนดแพตเทิร์นหรือจังหวะของเส้นสายให้สม่ำเสมอกันก็เป็นการสร้างจังหวะให้ห้องแบบโมเดิร์นดูมีลูกเล่นมากขึ้น ความสม่ำเสมอนี้ร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวได้ทั่วทั้งห้องผ่านทั้งประตูและหน้าต่างด้วยการใช้แพตเทิร์นที่มีสัดส่วนหรือขนาดเท่ากัน ภาพจาก contemporist

วัสดุอุตสาหกรรม ยุคโมเดิร์นเกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นวัสดุที่สื่อถึงความเป็นโมเดิร์นจัดๆ อย่างกระจกหรือเหล็กจึงเป็นคาแร็กเตอร์ที่สำคัญของงานโมเดิร์น การมิกซ์แอนด์แมทช์วัสดุหลายๆ รูปแบบด้วยกันด้วยเส้นสายแบบง่ายๆ จึงเป็นความท้าทายพร้อมกับความสนุก หรือจะใช้ไม้มาเป็นอีกวัสดุที่ช่วยเบรกให้บรรยากาศดูนุ่มนวลขึ้นก็ได้ แถมยังไปได้ดีกับวัสดุเข้มๆ แบบเหล็กหรืออะลูมิเนียมอีกต่างหาก ภาพจาก juutakudesign

กระจกใส หัวใจของยุคโมเดิร์น พูดถึงโมเดิร์นก็ต้องนึกถึงกระจก เพราะเป็นยุคที่มาพร้อมกับความโล่งโปร่งสบาย แต่ถ้าหากประตูของบ้านจำเป็นต้องปิดทึบเพื่อความปลอดภัย เพียงติดตั้งกระจก sidelight เอาไว้อยู่ข้างบานหลัก เพื่อความปลอดโปร่งและเป็นตัวแทนของความโมเดิร์น โดยอาจใช้กรอบหน้าบานสอดคล้องไปกับประตูบานทึบด้านข้างก็ได้ทั้งสไตล์และฟังก์ชั่นการใช้งาน ภาพจาก beckiowens

ประตูเท่ากับผนัง เส้นสายน้อยเส้น คือหัวใจของงานโมเดิร์น การรวบฟังก์ชั่นของผนังมาเป็นประตูจึงเหมาะสำหรับบ้านที่มีหน้าบ้านแคบและเป็นลูกเล่นที่สนุกสนานของงานดีไซน์ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของกรอบบานประตูและอุปกรณ์ประกอบประตู รวมทั้งการคำนวณน้ำหนักบานให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย เพื่อการใช้งานอย่างสะดวกแล้วยังป้องกันประตูทรุดจากน้ำหนักมากเกินไปอีกด้วย ภาพจาก gessato

ทุกหน้าบานคืองานดีไซน์ ความสนุกของงานออกแบบคือความชาญฉลาดในการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นขององค์ประกอบภายในห้อง บานประตูก็เป็นอีกส่วนที่สามารถเล่นสนุกได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นหน้าบานสไลด์กรอบไม้กรุกระจก เมื่อเลื่อนไปแล้วสามารถเป็นกรอบให้กับบานของชั้นวางของได้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องดีไซน์ล่วงหน้าเพื่อให้ทุกส่วนสวมกันได้พอดีกัน ทั้งส่วนเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินและหน้าบานประตู ภาพจาก remodelista