รู้จักกระจกที่ใช้กับกรอบบานอะลูมิเนียม
กระจกมีหน้าที่สำคัญสำหรับกั้นแบ่งสองพื้นที่ออกจากกัน แต่ในขณะเดียวกัน คุณสมบัติความโปร่งใสหรือโปร่งแสงของกระจกก็เป็นเหมือนกับการหยิบยืมบรรยากาศของฝั่งตรงข้ามมาใช้งาน กระจกจึงมีส่วนสำคัญกับคอนเซ็ปต์ “Inside Out-Outside In” หรือการดึงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาเป็นวิวของบ้าน และทำให้ภายในบ้านเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศภายนอก
หากแต่เบื้องหลังกระจกใสยังมีคุณสมบัติที่แตกต่าง ซึ่งเกิดขึ้นจากนวัตกรรมการพัฒนาวัสดุเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานและรูปลักษณ์ที่ผู้ใช้งานต้องการ ซึ่งกรอบบานอะลูมิเนียมก็เป็นหนึ่งในวัสดุยอดนิยมสำหรับติดตั้งเป็นกรอบบานหน้าต่างและประตูของบ้าน ด้วยข้อดีมากมายทั้งเรื่องความทนทานและความสวยงาม การเลือกกระจกใช้งานให้เหมาะสมกับบานกรอบอะลูมิเนียมจึงเป็นเหมือนกับการจับคู่อย่างไรให้ลงตัว เพื่อให้ช่องเปิดนี้มีดีไซน์และใช้งานได้ดีตลอดอายุการใช้งาน
กระจกเทมเปอร์ : Tempered Glass
(เครดิตภาพ Farallon)
นับเป็นกระจกนิรภัยที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ด้วยความแข็งแกร่งที่ถูกพัฒนามากขึ้นกว่ากระจกใสในอดีต ซึ่งความแข็งแกร่งนี้เกิดจากการสร้างแรงอัดให้กับผิวของกระจกแล้วให้ความเย็นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผิวภายนอกสามารถต้านแรงกระทำได้มากกว่าเดิมและแข็งแรงขึ้นถึง 4 เท่า แต่หากโดนแรงกระแทกจนแตกแล้ว กระจกเทมเปอร์จะแตกแบบละเอียดทั้งแผ่น ไม่ใช่แบบรอยร้าวเหมือนกระจกทั่วไป ดังนั้น การเลือกกระจกเทมเปอร์จึงมีข้อควรรู้คือ ควรวัดไซส์ที่ต้องการใช้งานให้เรียบร้อย เพราะกระจกที่ผ่านกระบวนการเทมเปอริงแล้วจะไม่สามารถถูกตัดหรือกระแทกได้อีก
กระจกลามิเนต : Laminated Glass
(ภาพจาก trombe.co.uk)
อีกรูปแบบหนึ่งของกระจกนิรภัยที่เกิดจากการนำกระจกสองชิ้นมาประกบกันด้วย Polyvinyl Butyral หรือ PVB ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มที่ทำให้กระจกยึดเกาะกันได้สูงและใสเป็นพิเศษ ซึ่งข้อดีของฟิล์มตัวนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดกระจกแตก แผ่นฟิล์มจะทำหน้าที่ยึดตรึงกระจกไว้ เศษกระจกจึงแตกสร้างอันตรายให้ผู้ใช้งาน รวมทั้งความพิเศษจากการเป็นกระจกสองชั้น จึงกันเสียงและกันรังสีอัลตราไวโอเล็ตได้ดีกว่ากระจกธรรมดา วิธีการสังเกตกระจกลามิเนตก็คือ ลองพลิกสันของกระจกขึ้นมาดู จะเห็นเป็นกระจกสองแผ่นประกบติดกันแบบแซนด์วิชโดยมีชั้นฟิล์มบางๆ อยู่ตรงกลาง
กระจกอินซูเลต / กระจกสองชั้น : Insulated Glass
(เครดิตภาพ Peter Jurkovič)
กระจกชนิดนี้เกิดจากกระจกสองชิ้นเช่นเดียวกับกระจกลามิเนต แต่เชื่อมต่อระหว่างกระจกสองแผ่นด้วยช่องว่าง(อากาศแห้ง)หรือก๊าซอาร์กอนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อย ตรงกลางนี้เองที่ตัวป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากกระจกบานหนึ่งไปยังกระจกอีกบาน อากาศภายในอีกด้านจึงมีอุณหภูมิต่ำกว่าภายนอก และเก็บกักรักษาอุณหภูมิภายในได้ดีมาก บางที่จึงอาจเรียกว่า กระจกฉนวนกันความร้อน เพราะช่องว่างตรงกลางซึ่งทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนให้กับตัวกระจกและบ้าน นอกจากการป้องกันความร้อนแล้ว เสียงก็เป็นสิ่งรบกวนอีกชนิดที่กระจกอินซูเลตสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเกิดจากหลักการของกระจกชนิดนี้เช่นเดียวกัน
กระจกตัดแสง : Tinted Glass
(เครดิตภาพ Bamford McLeod)
ถ้าพูดถึงการทำให้บ้านเย็นลง กระจกตัดแสงน่าจะเป็นตััวเลือกแรกๆ ของคนไทย ด้วยชื่อที่บอกชัดเจนว่า กระจกตัดแสง คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดจึงเป็นการป้องกันและสะท้อนกลับพลังงานแสงอาทิตย์กลับสู่ภายนอก โดยยังคงเปิดรับแสงสว่างให้เข้ามาภายในบ้าน ความสนุกของการใช้กระจกตัดแสงคือ สีสันหลากหลายที่เกิดจาก การผสมโลหะออกไซด์ไว้ตั้งแต่ระหว่างกระบวนการผลิตกระจก อีกทั้งยังสามารถเลือกระดับการสะท้อนกลับของความร้อนสู่ภายนอก และปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาภายในได้ตามความต้องการอีกด้วย
กระจกสะท้อนแสง : Reflective Glass
(ภาพจาก architectural digest)
กระจกชนิดนี้เป็นขั้นกว่าของกระจกตัดแสง ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกระจกตัดแสง เพียงแต่เปลี่ยนแปลงการเคลือบผิวด้านนอกของกระจกมาเป็นโลหะเงินบริสุทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฉนวนกันความร้อนจากพลังงานดวงอาทิตย์ ความพิเศษของกระจกชนิดนี้จึงอยู่ที่การประหยัดพลังงาน เพราะลดความร้อนสะสมภายในตัวบ้าน จึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าและค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศ ทีนี้ก็อยู่ที่เจ้าของบ้านเองแล้วว่ากระจกชนิดใดที่ตอบโจทย์หน้าที่การใช้งาน รูปลักษณ์ รวมทั้งงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งการปรึกษากับดีไซเนอร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านประตู-หน้าต่างจะเป็นผู้ให้คำตอบที่ดีและตอบรับกับวัตถุประสงค์การใช้งานของเจ้าของได้มากที่สุด