HOUSE 362 บ้านที่เปิด “ช่อง” เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับธรรมชาติ

HOUSE 362 บ้านที่เปิด “ช่อง” เชื่อมโยงชีวิตเข้ากับธรรมชาติ

เพราะเราถูกหยุดให้อยู่แค่ภายในพื้นที่อันจำกัดมาตลอด 2 ปี ทำให้โจทย์ความต้องการด้านที่อยู่อาศัยมีการเปลี่ยนแปลงไปตามการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการตกแต่งภายในให้สะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัย การจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้สามารถทำกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย ทั้งห้องทำงาน พื้นที่ออกกำลังกาย รวมถึงพื้นที่สำหรับพักผ่อนจิตใจ โดยเฉพาะกับพื้นที่ธรรมชาติ ที่ถูกกลับมาให้ความสำคัญอีกครั้งจนกลายเป็นเทรนด์ใหม่สำหรับเจ้าของบ้าน นอกจากต้องตอบสนองการใช้ชีวิตแล้ว บ้านจึงต้องเป็นสถานที่ที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้อาศัยกับบริบทแวดล้อมภายนอกด้วย เหมือนกับ HOUSE 362 ของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ อันเป็นฝีมือการออกแบบของเพื่อนสถาปนิกอย่าง จูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design / Junsekino Interior Design ที่นอกจากจะสวยงามด้วยเค้าโครงสถาปัตยกรรมอันเรียบง่ายแล้ว ยังสร้างการเชื่อมโยงให้สมาชิกภายในบ้าน ได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างไร้ขอบเขตผ่านดีไซน์ประตู หน้าต่างบานเลื่อน และหน้าต่างบานกระทุ้งของ Double Space อันเป็นพื้นที่หัวใจหลักของบ้าน

แสงเงาและสายลมที่สร้างเสน่ห์ให้กับ HOUSE 362

แม้ว่าจะถูกสร้างมานานแล้ว แต่ HOUSE 362 ก็ยังคงทำให้สถาปนิกเจ้าของผลงานอย่างคุณจูนนึกย้อนกลับไปถึงวันแรกที่ส่งมอบบ้านหลังนี้ให้กับเพื่อนสนิท ทั้งความรู้สึกและบรรยากาศที่ล้วนเกิดขึ้นมาจากองค์ประกอบของธรรมชาติที่ลอดผ่านเข้ามาตามช่องต่าง ๆ ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เสน่ห์ที่ไม่ผันเปลี่ยนตามกาลเวลานี้เกิดขึ้นมาจากโจทย์ความต้องการ ไลฟ์สไตล์ และตัวตนของครอบครัวพงษ์สุรพิพัฒน์ ทำให้พื้นที่ภายในมีความเรียบง่าย พร้อมเปิดรับเอาบริบทแวดล้อมภายนอกให้เข้ามาสู่ Double Space มีลมที่พัดเข้ามาจากหน้าต่างบานกระทุ้งให้อากาศหมุนเวียนแทนการเปิดเครื่องปรับอากาศ และแสงเงาที่ลอดผ่านมาจากประตูและหน้าต่างบานเลื่อนให้ความสว่างทั่วพื้นที่ได้ตลอดช่วงกลางวัน รวมถึงทัศนียภาพสีเขียวรอบบ้านที่ให้ความรู้สึกเหมือนถูกล้อมรอบไปด้วยต้นไม้แทนที่จะเป็นรั้วหรือสิ่งปลูกสร้าง

“เราไม่ต้องการเหล็กดัด เราไม่ต้องการสิ่งที่มากั้นสายตา เราเลยเลือกใช้โครงของอะลูมิเนียมมาแทน แสงที่ได้จากธรรมชาติจึงไม่ถูกบดบังด้วยซี่เหล็ก มองออกไปแล้วก็เห็นทัศนียภาพภายนอกเลย และโครงสร้างของมันเองก็ล้อไปกับการออกแบบของบ้านด้วยเช่นกันค่ะ” เจ้าของบ้านอย่าง คุณปุ้ม ศันสนีย์ พันธ์ศรี เล่าถึงที่มาของช่องอันเปิดโล่ง

Living Space อันอบอุ่นที่ทุกสมาชิกได้ใช้เวลาร่วมกัน

พื้นที่ Double Space ชั้นล่างขนาด 200 ตร.ม. เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ด้วยขนาดที่กว้างขวางและมีความสว่างจากแสงตามธรรมชาติตลอดทั้งวัน เมื่อไม่ได้ทำงานหรือภารกิจส่วนตัวแล้วสมาชิกทั้งสามจึงมักจะมารวมตัวและใช้เวลาดูซีรีย์ อ่านหนังสือ หรือเล่มเกม สร้างช่วงเวลาที่ผ่อนคลายบริเวณโซฟาหน้าโทรทัศน์ ห้องเอนเตอร์เทนที่อยู่บริเวณใกล้ ๆ ก็เป็นอีกห้องที่ทั้งสามได้ใช้เวลาร่วมกัน โดยมีเสียงของเชลโล่เป็นตัวเชื่อมระหว่างลูกชายที่กำลังซ้อมกับคุณแม่ผู้รับหน้าที่ช่วยทบทวนบทเรียน ในขณะที่เสียงกลองและคีย์บอร์ดที่บรรเลงโดยคู่พ่อลูกก็ช่วยสร้างความครื้นเครงให้พื้นที่ ดนตรีจึงกลายมาเป็นเสียงของบ้านไปโดยบริยาย ในขณะเดียวกัน ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นภายในสองพื้นที่ก็ช่วยเติมเต็มความหมายของคำว่าบ้านให้กับ HOUSE 362 ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

“Living Space สำคัญนะ คือทุกคนในบ้านมีภารกิจของตัวเอง อย่างลูกต้องเรียนออนไลน์ พ่อก็ทำงานที่บ้านเพราะ Work Form Home และพอทุกคนอยู่บ้านทั้งวัน ตัวเราก็ทำงานบ้านมากขึ้น คือทุกคนเหนื่อย แต่พอ ณ ช่วงที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน ทุกคนก็พร้อมจะวางทุกสิ่งและมาทำกิจกรรมผ่านคลายไปด้วยกัน เราเลยรู้สึกว่า Living Space มันเป็นสถานที่ที่ได้ปลดปล่อยภาระของตัวเองจริง ๆ ”

พื้นที่ที่เชื่อมโยงผู้อาศัยกับธรรมชาติได้อย่างไร้กังวล

ช่องแสงถูกเปิดรอบบ้านมากขนาดนี้อาจทำให้เกิดความกังวลถึงความทนทานของวัสดุต่อการใช้งานได้ แต่ไม่ใช่กับ HOUSE 362 เพราะคุณจูนเลือกใช้วัสดุอะลูมิเนียมที่เขารู้จักและเห็นคุ้นตาทุกครั้งเวลากลับบ้านเกิดที่ประเทศญี่ปุ่น อย่างวัสดุของ TOSTEM มาใช้สร้างกรอบช่องแสง รวมถึงหน้าต่างบานกระทุ้ง “ผมสนใจเรื่องของการควบคุมคุณภาพก่อนเลย เพราะเขาจะมีกรอบ Standard Technical ที่ดี ไม่ได้ทำตามใจของสถาปนิกไปเสียทุกอย่าง ถ้าเราทำตามคำแนะนำของเขา ยังไงมันก็โอเค นี่เป็นสิ่งที่ผมมองเห็น ก็เลยนำไปเสนอกับเจ้าของบ้านครับ”

“ความคงทนถือว่าโอเคมาก ๆ นะ ส่วนเรื่องเสียงเองก็ไม่เป็นปัญหาเลย แม้ว่าบ้านหลังนี้จะถูกออกแบบมาให้รับลมได้ แต่ก็ไม่มีปัญหาเรื่องคลอนของบานหน้าต่างหรือประตูเลย อาจจะมีเล็กน้อยในกรณีที่ลมพัดเข้ามาปะทะอย่างหนักและแรงจริง ๆ แต่เราที่อยู่ภายในบ้าน ก็ไม่ได้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัยหรืออยู่ภายในบ้านไม่ได้” คุณปุ้มเล่าถึงประสบการณ์หลังการใช้งานต่อเนื่องมาหลายปี

ความเป็นบ้านและชีวิตที่ต้องอยู่ร่วมกับบริบทโดยรอบ

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความอบอุ่น ความมีชีวิตชีวา และความเป็นบ้านที่อบอวลอยู่ใน HOUSE 362 เกิดขึ้นมาจากการเชื่อมโยงพื้นที่ธรรมชาติภายนอกสู่ภายใน ไม่ใช่ในแง่ของการเปิดรับทัศนียภาพเพียงเท่านั้น แต่การออกแบบฟังก์ชันและการจัดวางห้องภายในให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติเองก็เป็นเรื่องสำคัญ “บ้านมันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าไม่มีบริบทโดยรอบ เราต้องเข้าใจบริบทก่อนบ้านมันถึงจะเกิด อย่าง HOUSE 362 ทำไมเราถึงเลือกเปิดช่องแสงในมุมนี้ ก็เพราะว่าด้านหน้าเป็นสวน มีแสงแดดช่วงบ่ายผ่านเข้ามาตลอด ผมเลยจัดสรรส่วนต่าง ๆ ให้สอดคล้องไปกับธรรมชาติ และพอไปดูภาพรวม มันก็เจ๋งตรงที่เราจะเห็นความเป็นบ้านที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดทั้งวันได้อย่างชัดเจน เป็นบ้านแบบในแง่ Seasonal ตอนเช้าอยู่มุมหนึ่ง ตอนเที่ยงวันอยู่อีกมุมหนึ่ง และเมื่อมีคนเข้าไปอาศัย มีชีวิตชีวา มีปฏิสัมพันธ์อยู่ข้างใน มันก็ช่วยทำให้ความเป็นบ้านมันสมบูรณ์ยิ่งขึ้น”

“ธรรมชาติและการตอบสนองการใช้งาน” โจทย์ใหม่ในยุค New Normal

เมื่อก่อนเราแทบไม่ค่อยได้ใช้เวลาภายในบ้านมากสักเท่าไหร่ แต่เมื่อต้องอยู่บ้านอย่างไม่มีทางเลือกนานเป็นปี ก็ทำให้สถาปนิกอย่างจูนเข้าใจเลยว่า เมื่อผ่านช่วงยุค COVID-19 ไปแล้ว ผู้อยู่อาศัยอาจไม่ได้ต้องการพื้นที่ขนาดใหญ่ แต่เป็นพื้นที่ธรรมชาติและพื้นที่ที่ตอบสนองพื้นฐาน สังเกตได้จากเทรนด์การปลูกต้นไม้ การเลี้ยงสัตว์ การทำอาหารในครัว หรือการกลับมาดูแลสุขภาพตัวเอง กำลังเป็นเทรนด์ฮิตในตอนนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นการ Back to Basic อีกครั้ง ‘Living’ มันจึงไม่ใช่แค่เรื่องสไตล์และการออกแบบอาคารแล้ว แต่มันเป็นเรื่องของการตอบสนองพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้ง 24 ชั่วโมงของผู้อยู่อาศัย “สิ่งที่เราต้องชัดเจนคือ เราต้องการอะไร พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราต้องการบ้านแบบไหน เพราะบางครั้งสิ่งที่อยากมี มันไม่ได้มีความจำเป็นในการใช้ชีวิตเลย หรือบางครั้งเราอยากมีอยากได้เต็มไปหมด แต่สิ่งที่สำคัญจริง ๆ กลับมีนิดเดียว ซึ่งสิ่งนี้มันก็เช็คไม่ยากหรอกครับ ลองสังเกตตัวเองเยอะ ๆ อย่าง เวลาเลือกของสักชิ้นหนึ่ง เราอาจจะชอบเลยทันที แต่พอผ่านเวลาไปสักสิบนาทีหรือหนึ่งวัน กลับมาดูใหม่เราอาจจะไม่ได้ชอบแล้วก็ได้ เราต้องลองเลือกช้าลงนิดนึง เอาให้แน่ใจครับ เพราะเราทำบ้านได้แค่ครั้งเดียวครับ” คุณจูนเล่าส่งท้าย

HOUSE 362 ก็นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของบ้านที่ตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการเรื่องบ้านที่ผู้คนมองหาในปัจจุบัน ทั้งดีไซน์ที่สะท้อนตัวตนความเป็นเจ้าของบ้าน การออกแบบภายในที่ตอบสนองการใช้งานของทุกสมาชิกในครอบครัว การเปิดช่องรับแสงลมที่ตอบสนองฟังก์ชันการใช้งาน และช่วยให้ชีวิตภายในบ้านได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบข้างได้อย่างลงตัว

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these <abbr title="HyperText Markup Language">HTML</abbr> tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

*