รวม 10 บ้านที่ออกแบบประตูหน้าต่างได้อย่างน่าสนใจ

รวม 10 บ้านที่ออกแบบประตูหน้าต่างได้อย่างน่าสนใจ

‘ประตูและหน้าต่าง’ ล้วนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของสถาปัตยกรรมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าส่วนอื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นหนึ่งองค์ประกอบเพื่อสร้างความสวยงามและอัตลักษณ์ให้กับงานออกแบบแล้ว ประตูและหน้าต่างยังทำหน้าที่เชื่อมการรับรู้ระหว่างภายในและนอกอาคารอีกด้วย แน่นอนว่ายิ่งขนาดที่ใหญ่ขึ้นก็ยิ่งเปิดมุมมองได้มากและดียิ่งกว่าเดิม บทความนี้เราจะพาไปชมงานออกแบบที่พักอาศัย 10 แห่งทั่วโลกที่ได้มีการออกแบบประตูและหน้าต่างขนาดใหญ่ที่ใช้กับบ้านทั่วไป ว่าแต่ละที่มีแนวความคิดในการออกแบบรวมไปถึงจุดประสงค์ในการเลือกประตู-หน้าต่างเพื่อส่งเสริมงานสถาปัตยกรรมในด้านใดบ้าง

1. Castle Lane ลอนดอน, สหราชอาณาจักร

Architects: DROO and NAME

Photography: NAARO

Cr. Dezeen

โครงการออกแบบอะพาร์ตเมนต์ระดับลักซ์ชัวรี่ที่ได้บริษัทออกแบบระดับโลกอย่าง DROO and NAME มารังสรรค์ เริ่มจากการออกแบบภายใต้ข้อจำกัดด้านทำเลที่ตั้งเป็นหลัก ด้วยตัวโครงการนั้นอยู่ในย่าน Birdcage Walk Conservation ซึ่งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ทำให้นอกจากสถาปนิกต้องออกแบบให้ไปตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดแล้ว การออกแบบเพื่อกลมกลืนกับบริษัทแต่ก็โดดเด่นในตัวเองก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ ทางสถาปนิกจึงเลือกออกแบบหน้าต่างขึ้นภายใต้แนวความคิด ‘เคารพแต่ในขณะเดียวกันก็ท้าทายสภาพแวดล้อมทางประวัติศาสตร์’ ด้วยการ re-design หน้าต่างของอาคารขึ้นมาใหม่ โดยพัฒนารูปแบบมาจากหน้าต่างประเภท Bow window ซึ่งเป็นหน้าต่างที่มีรูปแบบอันเฉพาะตัวของบ้านที่อังกฤษมาปรับใหม่ให้ดูทันสมัย แต่ก็ยังสามารถสร้างความเชื่อมต่อระหว่างสถาปัตยกรรมสมัยใหม่และเก่าในย่านได้อย่างดี ตัววงกบหน้าต่างขึ้นรูปด้วยเหล็กและกรุกระจก รูปแบบหน้าต่างจะโค้งมนและยื่นออกมาจากตัวอาคารด้วยประโยชน์ทางด้านการใช้สอยที่สามารถเพิ่มพื้นที่ได้มากขึ้น และให้แง่ของการสร้างประสบการณ์การพิเศษแบบกึ่งภายนอกจากภายในอาคารที่น่าตื่นเต้นทั้งสำหรับผู้อาศัยและยังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับย่านอนุรักษ์ได้อย่างน่าจดจำ

2. Glebe House ซิดนีย์, ออสเตรเลีย

Architects: Chenchow Little Architects

Photography: Peter Bennetts

Cr. Chenchow Little Architects

Glebe House เป็นโครงการรีโนเวตกระท่อมเก่าในย่านชานเมืองซิดนีย์และแทนที่ด้วยบ้าน 2 ชั้นขนาดกะทัดรัดสำหรับครอบครัวที่มีสมาชิกสุดอบอุ่นทั้ง 5 คน ด้วยข้อจำกัดด้านขนาดพื้นที่สถาปนิกจึงตั้งใจออกแบบให้บ้านมีพื้นที่ใช้สอยให้มากที่สุด โดยให้หน้าต่างทำหน้าที่สร้างความรู้สึกพิเศษขณะอยู่อาศัยรวมถึงสร้างความรู้สึกโปร่งโล่งโดยการออกแบบบ้านให้มีรูปทรงเรขาคณิตของบล็อกรูปสามเหลี่ยมที่เกิดจากข้อจำกัดทางด้านมุมมองจากบริบทโดยรอบ ตัวบ้านมีการประกบด้วยช่องเปิดโค้ง ซึ่งพยายามให้ช่องเปิดโค้งและมุมทางเข้าของบ้านนั้นกลมกลืนกับระเบียงสไตล์วิกตอเรียที่พบเห็นได้ทั่วไปในบริเวณใกล้เคียง แต่ออกแบบให้พิเศษต่างจากบ้านสไตล์วิกตอเรียแบบดั้งเดิมด้วยเส้นโค้งของหน้าต่างจากภายในไปยังพื้นที่ใช้สอยอื่นให้บ้านด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เพื่อตั้งใจสร้างความเชื่อมต่อและบรรยากาศที่แสง-เงาลอดผ่านหน้าต่างทรงโค้งมนเข้ามายังทุกพื้นที่ภายในบ้าน นอกจากนั้นยังใช้แผ่นไม้ทาสีขาวมายึดระหว่างช่องหน้าต่างที่นอกจากจะช่วยพรางสายตาและเป็นองค์ประกอบทางด้านความงามที่สำคัญแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นโครงสร้างที่ช่วยรับน้ำหนักได้ในเวลาเดียวกัน

3. Deformed Roofs of Furano ฟุราโน่, ญี่ปุ่น

Architects: Yoshichika Takagi + Associates

Photography: Ikuya Sasaki

Cr. Dezeen

บ้านที่มีหลังคาแบบอสมมาตรสุดโดดเด่นบนเกาะฮอกไกโดของญี่ปุ่นเป็นโครงการรีโนเวตโดยสตูดิโอ Yoshichika Takagi + Associates ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการนำแสงธรรมชาติมาสร้างมิติให้กับพื้นที่ภายในอาคารได้อย่างชาญฉลาดในหลายๆ โครงการด้วยการ ‘เปิดเผยแบบปกปิด’ ซึ่งสำหรับบ้านหลังนี้นอกจากแนวความคิดในการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุที่น่าสนใจแล้ว การเลือกใช้ประตู-หน้าต่าง รวมถึงการวางตำแหน่งเพื่อให้เข้ากับผนังโปร่งแสงซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญของบ้านก็น่าสนใจไม่แพ้กันด้วยการรื้อบ้านเดิมที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 ออกทั้งหมดเหลือเพียงโครงสร้างไม้ดั้งเดิมเอาไว้แล้วจึงกรุผนังทั้ง 3 ด้านด้วยเมทัลชีทสีดำและกรุแผ่นพลาสติกลอนลูกฟูกสีขาวขุ่นในด้านที่ 4 เพื่อให้แสงที่ลอดผ่านไปให้เด่นชัดให้ได้มากที่สุด ตัววงกบประตูและหน้าต่างถูกออกแบบให้มีขนาดใหญ่เป็นพิเศษเพื่อให้สัดส่วนนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังเลือกใช้เป็นประเภทบานเลื่อนและทำสีขาวเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

4. VOM House โฮจิมินห์, เวียดนาม

Architects: Sanuki Daisuke Architects

Photography: Hiroyuki Oki

Cr. Dezeen

ในภาษาเวียดนาม ‘VOM’ มีความหมายว่าทรงโค้ง ซึ่งสำหรับบ้านหลังนี้ ‘เส้นโค้ง’ เป็นสัญลักษณ์ของการส่งต่อพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง การออกแบบเริ่มจากทางเจ้าของบ้านต้องการให้รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เพื่อให้เป็นบ้านสำหรับครอบครัวขนาดเล็ก แต่เนื่องด้วยลักษณะของบ้านอาคารเดิมรวมไปถึงที่ตั้งนั้นค่อนข้างที่จะอึดอัดเรื่องจากอยู่ใจกลางเมือง สถาปนิกจึงมีแนวความคิดในการออกแบบ ‘ห้องกลางแจ้ง’ เพื่อดึงธรรมชาติเข้ามาช่วยสร้างบรรยากาศที่เคยคับแคบใจกลางเมืองโฮจิมินห์นั้นน่าอยู่ยิ่งขึ้น โดยพื้นที่บริเวณนี้สถาปนิกตั้งใจให้โดดเด่น ด้วยการเจาะช่องเปิดขนาดใหญ่ทรงโค้งที่มีประตูซึ่งเป็นทางเข้าหลักรวมอยู่ด้วย แต่พิเศษด้วยการกรุเหล็กดัดเต็มตลอดความกว้างและความสูงของช่องเปิด ซึ่งนอกจากจะเพื่อความสวยงามและช่วยในเรื่องของความปลอดภัยแล้ว ยังช่วยให้แสงและลมธรรมชาติผ่านเข้ามาได้อย่างเต็มที่เพื่อลดความร้อนและลดปัญหาความอับทึบของพื้นที่คับแคบได้อย่างยั่งยืน

5. DL1310 เม็กซิโก

Architects: Young & Ayata

Photography: Rafael Gamo, Young & Ayata and Michan Architecture

Cr. ArchDaily

DL1310 หนึ่งในอพาร์ตเมนต์ที่เม็กซิโกที่มีการออกแบบหน้าต่างที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ตัวอาคารเป็นอาคารคอนกรีตสูง 4 ชั้นที่ก่อสร้างด้วยวิธีหล่อในที่ทั้งอาคารด้วยการออกแบบและสร้างแม่พิมพ์จากไฟเบอร์กลาสเพื่อขึ้นรูปคอนกรีต

โดยสาเหตุที่เลือกใช้คอนกรีตเนื่องจากที่เม็กซิโกคอนกรีตนั้นเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายและช่างมีความชำนาญสูง ทำให้งบประมาณในการก่อสร้างนั้นไม่สูงจนเกินไป อีกทั้งงานยังออกมามีคุณภาพสูง ทางสถาปนิกจาก Young & Ayata จึงเลือกการ ‘บิดคอนกรีต’ บริเวณหน้าต่างทั้งหมด 22 ช่องของอาคารที่นอกจากต้องการรูปแบบหน้าต่างที่ต่างออกไป ยังต้องการเปิดมุมมองที่หลากหลายมากขึ้นทั้งจากทั้งภายในและภายนอก ตัวหน้าต่างเป็นการผสมผสานรูปแบบระหว่างหน้าต่างสี่เหลี่ยมที่เปิดได้และกระจกจากพื้นจรดเพดานทรงสี่เหลี่ยมคางหมูแบบยาว โดยเลือกกรุกระจกสีเทาในวงกบอลูมิเนียมที่ช่วยขับเน้นให้งานคอนกรีตภายนอกอาคารเด่นชัดมากขึ้น

6. Bay Window House นอร์เวย์

Architects: Atelier Oslo

Photography: Kristoffer Wittrup

Cr. plainmagazine

Bay Window House ตั้งอยู่ที่เมือง Mosjøen ประเทศนอร์เวย์ ออกแบบโดย Atelier Oslo ตัวโครงการเป็นบ้านที่ถูกออกแบบและก่อสร้างให้แต่ละพื้นที่เป็นเสมือนอะพาร์ตเมนต์ส่วนตัวของแต่ละคนมีการกั้นผนังออกจากกันอย่างเด็ดขาดและเป็นสัดส่วน ส่วนการออกแบบภายนอกสถาปนิกตั้งใจให้อาคารมีภาพลักษณ์ที่สามารถสร้างที่จดจำได้ จึงออกแบบหน้าต่างขนาดใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่แคบสูงและบิดมุม 45 องศาเพื่อเปิดให้แสงเท่าอาคารเท่าที่จำเป็น มุมของหน้าต่างที่บิดนั้นก็เพื่อเบี่ยงมุมมองจากคนภายนอกไม่ให้ปะทะกับพื้นที่ด้านในได้โดยตรง ตรงกับความตั้งใจให้อะพาร์ตเมนต์นั้นมีความส่วนตัวเต็มที่นั่นเอง

7. HO-House เฮียวโงะ, ญี่ปุ่น

Architects: Kubota Architect Atelier

Photography: Katsu Tanaka

Cr. Designboom

Ho-house ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ ในเมืองทาคะราสุกะที่ประเทศญี่ปุ่น ออกแบบโดย Kubota Architect Atelier ที่ต้องการเชื่อมธรรมชาติเข้ามาในบ้านมากกว่าดึงประโยชน์มาเพื่อให้บ้านเย็นหรืออยู่สบาย แต่การที่ได้เห็นท้องฟ้าผ่านประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้อย่างตั้งใจจะเกิดเป็นแรงบัลดาลใจที่สร้างความหมายที่ดีในชีวิตในแต่ละวัน ส่วนของงานสถาปัตยกรรม ตัวบ้านผสมผสานคอนกรีตสีขาวเฉียบคมและกระจกฝ้าในการก่อสร้าง ด้านหน้าของบ้านจะก่อทึบเพื่อความเป็นส่วนตัวและเปิดลานส่วนตัวแบบเปิดโล่งที่อยู่ตรงกลางของที่ดินเพื่อนำแสงธรรมชาติและอากาศเข้ามาภายใน ภายในส่วนใหญ่กรุด้วยกระจกสูงจากพื้นจรดเพดานเพื่อให้เกิดการไหลต่อเนื่องระหว่างภายในและภายนอก

8. Haringey Glazed Extension ลอนดอน, สหราชอาณาจักร

Architects: Satish Jassal Architects

Photography: Ben Pipe

Cr. Dezeen

โดยทั่วไปเรามักพบเห็นหน้าต่างหรือประตูโอเวอร์ไซส์มาจากการออกแบบอาคารสมัยใหม่ แต่สำหรับโครงการนี้เป็นการรีโนเวตและก่อสร้างเพิ่มเติมจากบ้านสไตล์วิกตอเรียในศตวรรษที่ 19 โดยพยายามที่จะรักษาเอกลักษณ์ของทาวน์เฮาส์เดิมเอาไว้ ซึ่งโจทย์จากเจ้าของบ้านที่นอกจากจะต้องการปรับปรุงบ้านเก่าเพื่ออยู่อาศัยแล้ว ยังต้องการพื้นที่บ้านเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากต้องการพื้นที่สำหรับการเปิดสำนักงานไอทีของตนเอง จากโจทย์ดังกล่าวสถาปนิกจาก Satish Jassal Architects จึงออกแบบโดยการเพิ่มส่วนขยายสองชั้นบริเวณสวนด้านหลัง ด้วยพื้นที่ที่มีอย่างจำกัด

ทางสถาปนิกจึงเลือกใช้ประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่เพื่อลดพื้นที่ในการเปิด-ปิดประตูให้ได้มากที่สุด อีกทั้งยังเลือกใช้วงกบไม้โอ๊คเพื่อให้เข้ากับโทนสีของงานก่ออิฐดั้งเดิม อีกทั้งสีของไม้โอ๊คยังให้ความรู้สึกอบอุ่นเหมาะสำหรับการพักอาศัย รวมถึงไม้โอ๊คเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงและสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายทำให้การก่อสร้างนั้นทำได้อย่างรวดเร็ว งานออกมาเรียบร้อย ส่วนต่อเติมดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านอย่างกลมกลืน

9. The Bolgoda House ศรีลังกา

Architects: Lalin Design

Photography: Tristan Laurens Bernard

Cr. ArchDaily

The Bolgoda House เป็นอีกหนึ่งงานออกแบบประตู-หน้าต่างที่น่าสนใจโดยสถาปนิกชาวศรีลังกาอย่าง Lalin Jinasena ที่มีดีกรีใบปริญญาทั้งด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม ดังนั้นงานออกแบบของเขาจึงกล้าที่จะเล่นกับสเปซและโครงสร้างได้อย่างท้าทายข้อจำกัด สำหรับโครงการนี้เป็นโครงการออกแบบ้านพักในประเทศศรีลังกา โดยได้รับแรงบัลดาลใจในการออกแบบจากพัดลม นั่นจึงทำให้ที่นี่ใช้เส้นสายของเส้นโค้งผสานไปในทุกที่ และด้วยความที่เป็นบ้านพักอยู่ติดริมน้ำที่มีวิวธรรมชาติ ทางสถาปนิกจึงเปิดรับมุมมองด้านวิวแม่น้ำอย่างเต็มที่ ออกแบบประตู-หน้าต่างขนาดใหญ่และติดตั้งไว้รอบอาคาร ตัววงกบเลือกใช้อลูมิเนียมสีดำด้านสูงเต็มบานเปิดออกเพื่อสร้างพื้นที่เปิดโล่งขนาดใหญ่ที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์และยังให้ความเขียวขจี โดยมีหน้าต่างบานไฮไลท์อยู่บริเวณห้องนอนและห้องทำงานที่ออกแบบให้เป็นหน้าต่างทรงกลมขนาดใหญ่ พิเศษที่บริเวณวงกบที่ทำจากเหล็กสีดำนั้นสามารถนั่งพักผ่อนเพื่อชมทิวทัศน์ได้ สร้างความรู้สึกพิเศษและยังเป็นการเพิ่มฟังก์ชันให้กับหน้าต่างได้อย่างน่าสนใจ

10. Cirqua Apartments เมลเบิร์น, ออสเตรเลีย

Architects: BKK Architects

Photography: Peter Bennetts, Shannon McGrath

Cr. ArchDaily

โครงการ Cirqua เป็นอะพาร์ตเมนต์ที่ออกแบบโดยตั้งใจจะสร้างสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยใหม่สำหรับย่าน East Ivanhoe รูปทรงอาคารมีความหนักแน่นด้วยเส้นสายทางเลขาคณิตเพื่อให้ผู้เช่ารู้สึกถึงความมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็ออกแบบโดยยังคงเว้นระยะจังหวะจากถนนเพื่อสร้างสเปซที่เป็นส่วนตัวให้กับผู้เช่าโดยไม่จำเป็นต้องมีกำแพงมากั้น โดยทุกห้องของโครงการ Cirqua ได้รับการออกแบบให้คำนึงถึงความสามารถในการเข้าถึงของสิ่งแวดล้อมอย่างรอบคอบ พื้นที่ห้องนอนและพื้นที่นั่งเล่นอะพาร์ตเมนต์ที่ทุกห้องจะมีการเข้าถึงแสงธรรมชาติและการระบายอากาศโดยตรง นอกจากนั้นในด้านงานสถาปัตยกรรมยังมีหน้าต่างทรงกลมขนาดใหญ่ที่นอกจากจะสร้างเอกลักษณ์ให้กับอาคารแล้ว ยังทำหน้าที่เชื่อมกับสวนโดยรอบให้มากที่สุดเสมือนดึงความเป็นธรรมชาติของสวนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห้อง ด้วยการออกแบบภายใต้แนวความคิดที่เหมือนการเจาะรูเข้าไปในอาคาร แต่เป็นการเจาะรูที่เว้นจังหวะและขนาดที่เหมาะสม นอกจากนั้นยังออกแบบโดยการตีความรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่าง art deco และ federation era homes ที่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะที่ออสเตรเลียเท่านั้น เป็นนัยยะที่แสดงถึงความเคารพต่องานออกแบบพื้นถิ่นแต่ก็พัฒนารูปแบบเพื่อให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันให้มากยิ่งขึ้นอีกทั้งสถาปนิกยังตั้งใจให้อะพาร์ตเมนต์แห่งนี้เป็นมาตรฐานการพักอาศัยรูปแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้นในเมลเบิร์นต่อไปในอนาคต

ติดตามข่าวสารการออกแบบและสถาปัตยกรรมจาก Dsign Something ได้ที่

IG >> https://bit.ly/DSS_IG

Pinterest >> https://bit.ly/DSS_Pinterest

YouTube >> https://bit.ly/DSS_YT

LINE OFFICIAL >> https://bit.ly/DSS_add_friend

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these <abbr title="HyperText Markup Language">HTML</abbr> tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

*