พาไปดู 10 บ้าน ที่ประตูหน้าต่างเปิดกว้างได้ใจ
ความฝันของคนรักบ้านหลายๆ คนคือการได้เปิดบานหน้าต่างออกให้กว้างที่สุดเพื่อรับวิวสวยๆ ภายนอกบ้าน ทิวทัศน์ภายนอกนอกจากจะทำหน้าที่เป็นฉากหลังให้กับการใช้ชีวิตแล้ว หลายครั้งที่ดีไซน์ของบ้านเราก็กลายเป็นหนึ่งในบรรยากาศที่ดีส่งกลับคืนไปให้กับธรรมชาติที่รายรอบอีกด้วย งานออกแบบที่ดีจึงสะท้อนถึงความใส่ใจของเจ้าของบ้าน ไปพร้อมกับการสร้างสถาปัตยกรรมที่สวยงามให้กับเมืองในแง่มุมมิติทางสังคม วันนี้เราจึงพาคุณไปดูบ้าน 10 หลังจากรอบโลก ที่จะเปิดมุมมองการตกแต่งบ้าน ไปพร้อมกับมุมมองของบรรยากาศและเมือง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับสังคมของการอยู่อาศัย
U House : Canalli Arquitetura, Brazil
ประเทศบราซิลเป็นประเทศที่มีภูมิอากาศแบบเมืองร้อนใกล้เคียงกับบ้านเรา และบ้านหลังนี้ที่อยู่ในแถบภูเขา จึงถูกออกแบบเพื่อคำนึงถึงสภาพภูมิอากาศก่อนเป็นอันดับแรก ทั้งเรื่องทิศทางของแสงแดด ทิศทางลม และฝน เพื่อควบคุมอุณหภูมิของการอยู่อาศัยให้พอเหมาะพอดี การออกแบบเลือกใช้บางส่วนของผนังกรุไม้ร่วมกับผนังส่วนใหญ่ที่เป็นบานเลื่อนกระจกแบบเต็มผืน โดยใช้การวางผังบ้านรูปตัว U เข้าช่วยในการควบคุมลักษณะอากาศ บางห้องจึงสามารถจัดวางผืนกระจกได้รอบด้าน และโดยรวมของบ้านมีกระจกที่เปิดมองเห็นวิวได้ครบ 360 องศา
Baby Point Residence : Batay-Csorba Architects, Canada
บ้านหลังน่ารักเปิดหน้ากว้างของบานกระจกและผืนผนังล้อไปกับความลาดเอียงของหลังคาทรงจั่ว ภายนอกออกแบบให้กลมกลืนกับบรรยากาศธรรมชาติและเรื่องราวที่มาของผืนที่ดินที่สืบต่อกันมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 1820 ตรงกันข้ามกับภายในที่ออกแบบให้คลีนด้วยการใช้สีขาวกับทุกพื้นผิว เติมไลฟ์สไตล์ของการอยู่บ้านที่ตัดกันกับร่มเงาสีเขียวของต้นไม้ใหญ่ด้านนอก ติดตั้งมู่ลี่แบบม้วนเหนือกรอบบานประตูสำหรับกรองแสงในเวลาที่ต้องปิดอำพราง และยังช่วยเน้นให้เส้นของกรอบหน้าต่างกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมได้อย่างเรียบร้อย
House of Pipes : Parallax, India
บ้านกลางสวนมะพร้าวที่เล่นกับความสูงชะลูดของลำต้นด้วยการทำบ้านยกใต้ถุนแบบที่พวกเราคุ้นเคย การยกระดับเช่นนี้นอกจากจะช่วยเปิดทัศนียภาพให้มองเห็นได้สูงและกว้างไกลขึ้นแล้ว ยังช่วยในการระบายอากาศสำหรับบ้านในเขตเมืองร้อน โครงสร้างหลักวางตัวตามแนวนอน ระเบียงชายคาส่วนหน้าสุดป้องกันด้วยแนวระเบียงที่ปิดสูงตลอดแนว แต่ด้วยการใช้โครงสร้างเหล็กที่มีความบางจึงไม่กีดขวางทัศนวิสัยภายนอก เจ้าของเลือกใช้การเปิดกระจกบานเลื่อนเป็นผืนผนังบานใหญ่ เปิดรับบรรยากาศภายนอกเต็มที่โดยยังสามารถปกป้องบ้านจากสภาพอากาศที่ปรวนแปรด้วยการใช้ชายคา
H House : BAUM, Japan
อย่างที่ทราบโดยทั่วไปว่า บ้านในประเทศญี่ปุ่นมักคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวเป็นสำคัญ เช่นเดียวกันกับบ้านหลังนี้ ที่แม้ภายนอกจะเห็นเป็นผนังและหน้าต่างกรอบใหญ่ แต่ความสนุกอยู่ที่พื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวที่เปิดออกสู่บรรยากาศนอกบ้านอย่างใกล้ชิดเช่นเดียวกับปรัชญาการใช้ชีวิตในวิถีเซน พื้นที่ส่วนตัวแห่งนี้ซ่อนตัวอย่างสงบบนชั้นดาดฟ้าตามขวางกับส่วนหน้าบ้าน หากแต่ยังเป็นหนึ่งในหน้าต่างบานหลักของบ้านที่ดึงเอาแสงสว่างเข้ามาสร้างชีวิตชีวาให้กับครอบครัว กรอบบานหน้าต่างกรอบไม้บานใหญ่ดีไซน์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบ้านที่เน้นพื้นผิวไม้เป็นสำคัญ ความเป็นธรรมชาติจึงคงอยู่ในทุกจุดของการอยู่อาศัย
Elm Grove House : Ben Walker Architects, Australia
บ้านทรงกล่องยังเป็นอะไรได้อีกมากตราบที่นักออกแบบจะรังสรรค์ได้ เช่นเดียวกับบ้านทรงกล่องหลังนี้ ที่ใช้การเว้นช่วงชายคาเข้าไปสำหรับกันฝน และสร้างให้ผืนผนังทั้งผืนกลายเป็นกระจกที่สามารถเปิดได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นผืนผนังกระจกบ้านเลื่อนเพื่อเชื่อมต่อสนามหญ้าทั้งสนามเข้ามาอยู่กับบ้าน หรือจะเป็นบานหเหนือกรอบบานประตูที่ใช้บานกระทุ้ง ที่ทั้งปลอดภัยและสามารถระบายอากาศได้ในเวลาเดียวกัน นับเป็นการใช้ศิลปะของการจัดเรียงกรอบบานประตูหน้าต่างที่ช่วยสร้างสถาปัตยกรรมที่ทั้งสวยงามและตอบความต้องการด้านประโยชน์ใช้สอย
The Summit House : Architecture architecture, Australia
ความสนุกของบานหน้าต่างในบ้านหลังนี้คือการเล่นกับรูปทรงเรขาคณิตที่ประกอบร่างกันขึ้นเป็นสถาปัตยกรรม จากภายนอกที่มองเห็นชั้นเป็นผนังกระจกสลับทึบรูปสามเหลี่ยม เมื่อเข้ามาภายในมีการเล่นกับผนังและผังพื้นของบ้านรูปทรงโค้ง เปิดออกสู่ทัศนียภาพกว้างขวางผ่านผืนผนังกระจกและประตูบานเลื่อน ร่วมกับบานเปิดที่ติดตั้งตามความต้องการใช้งานในแต่ละพื้นที่ ผังพื้นแบบเปิด และใช้การจัดสรรพื้นที่ด้วยผนังลอย แต่เพราะรอบด้านที่เป็นกระจกจึงไม่ทำให้รู้สึกกีดขวางหรืออึดอัดแต่อย่างไร ในทางตรงกันข้าม กลับเปิดมุมมองใหม่ๆ ในทุกพื้นที่ของบ้านได้อย่างกว้างขวาง
Old Brick New House : Wrzeszcz Architekci, Poland
จากโรงนาเก่าเปลี่ยนร่างกลายมาเป็นบ้านหลังใหม่ การรีโนเวตครั้งนี้อยู่ภายใต้บริบทของสิ่งแวดล้อมและป่าที่อยู่รอบด้านเป็นสำคัญ สถาปนิกจึงออกแบบให้ดึงเอาแสงธรรมชาติเข้ามาได้ผ่านกระจก ส่วนใดที่เปิดออกได้ก็เปิดออกให้สุดผ่านบานเลื่อนไซส์ยักษ์ตรงกลาง ส่วนที่เหลือใช้บานประตูแบบสะวิงสำหรับการใช้งานที่ต่างออกไป ความพิเศษคือกระจกหน้าต่างของบ้านชั้นบนที่ถูกกรองแสงและความเป็นส่วนตัวด้วยผนังก่ออิฐ เป็นการใช้ดีไซน์เพื่อเพิ่มลูกเล่นให้กับบ้าน พร้อมกับขยายขอบเขตการใช้ประโยชน์ของวัสดุก่อสร้างได้มากกว่าที่เคย
The House of Jesus : Rubens Cortés Arquitectos + Raúl Rodríguez Ruiz (RRR), Spain
บ้านกล่องกระจกที่ความตื่นเต้นอยู่ที่การออกแบบโครงสร้างทุกอย่างให้ดูบางเบา ตั้งแต่กระจก เสาที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 25 เซนติเมตร แต่สามารถยื่นขยายส่วนกันสาดออกไปได้กว้างมาก สร้างความรู้สึกเบาให้กับงานสถาปัตยกรรมและวัสดุทุกส่วน ความพยายามลดเส้นรบกวนให้ได้มากที่สุดแสดงออกได้ชัดเจนผ่านการใช้บานเลื่อนขนาดใหญ่ และผืนผนังกระจกไร้รอยต่อ เพราะแม้เพียงรายละเอียดเล็กน้อยเช่นนี้ ก็ช่วยเน้นให้สถาปัตยกรรมได้แสดงแนวความคิดที่ซ่อนไว้ได้ตอบทุกจุดประสงค์
Chimney House : Atelier DAU, Australia
เรามักเห็นกันชินตาว่า บ้านที่ต้องการผืนผนังกระจกส่วนมากมักเลือกใช้กรอบประตูหน้าต่างแบบบานเลื่อน บ้านหลังนี้เป็นตัวอย่างทางเลือกที่ดีของการใช้กรอบบานประตูหน้าต่างกระจกแบบสะวิงขนาดโอเวอร์ไซส์เป็นการเปิดออกจากบ้านไปสู่สวนหลังบ้าน เพื่อสร้างความต่อเนื่องของสเปซบ้านตั้งแต่พื้นที่หน้าบ้าน เข้าสู่โถงสูง ห้องที่เป็นเหมือนแกลเลอรี่ ก่อนเชื่อมต่อสู่พื้นที่ธรรมชาติให้เป็นพื้นที่เดียวกันทั้งหมดยามเมื่อผลักประตูเปิดออก และแม้ส่วนหน้าบ้านจะดูปิดทึบด้วยแผ่นเหล็กเจาะรู แต่ก็ยังรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตในบ้านผ่านบานกระจกที่กรุเต็มผืน
Alley Cat Backyard Home : SHED Architecture & Design, USA
ด้วยข้อจำกัดของขนาดและพื้นที่ของบ้านที่ต่อเนื่องไปในเขตที่พักอาศัย ผนังบ้านจึงถูกใช้เป็นเครื่องหมายบ่งบอกความเป็นส่วนตัวด้วยการกรุทึบทั้งหมด และให้หน้าที่บานหน้าต่างไปอยู่ตรงส่วนหลังคาแทน ด้วยความลาดเอียงที่ไม่ชันมากนัก กรอบบานหน้าต่างเหล่านี้จึงทำหน้าที่เป็นทั้งหน้าต่างสำหรับชมวิวพร้อมกับเป็นสกายไลต์ไปในตัว และพื้นที่หลังบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัว ก็เลือกเจาะช่องใหญ่ที่สุดติดตั้งกรอบบานประตูแบบเลื่อนขนาดโอเวอร์ไซส์ เชื่อมต่อกิจกรรมของสวนหลังบ้านและห้องนั่งเล่นให้เป็นพื้นที่เดียวกัน
ภาพและข้อมูลจาก archdaily.com