รู้จัก “กระจก” มีกี่ประเภท เหมาะกับการใช้งานอะไรบ้าง?

รู้จัก “กระจก” มีกี่ประเภท เหมาะกับการใช้งานอะไรบ้าง?

“กระจก” มีกี่แบบ?

เลือกใช้งานอย่างไรให้เหมาะกับฟังก์ชันและสวยงามลงตัวถึงจะเป็นแค่กระจกใสบางๆ แต่ก็มีเรื่องราวเบื้องหลังมากมาย ที่นอกจากจะบอกเล่านวัตกรรมของกระจกเองแล้ว ยังเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้งานเลือกสรรอย่างเหมาะสมและครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่คุณสมบัติของกระจก งบประมาณ รูปลักษณ์ และงานดีไซน์ …เราจึงขอพาคุณเข้าไปท่องโลกของ “กระจก” เพื่อครั้งต่อไปจะได้เลือกใช้งานได้อย่างเหมาะสมกับอาคารของคุณ กระจกธรรมดา (Float Glass)

เป็นชื่อเรียกรวมกระจกแบบธรรมดาที่ใช้การหลอมและอบด้วยวิธีปกติสามัญ ซึ่งแบ่งแยกย่อยออกได้อีกตามความที่สายตามองเห็น ได้แก่ กระจกใส กระจกใสพิเศษ และกระจกสี วิธีสังเกตง่ายๆ คือ กระจกใสจะมองเห็นสันเป็นสีอมเขียว และกระจกสีจะมีสันที่สีเข้มกว่าเมื่อมองจากผิวกระจก เพราะสีจากออกไซด์ผสมหลอมในเนื้อกระจกเลย

ฟังก์ชั่นที่เหมาะสม : กระจกผนังอาคาร บานประตู บานหน้าต่าง เนื้อกระจกมองทะลุผ่านได้ชัดเจน ไม่บิดเบี้ยว

จุดด้อย : หากเป็นกระจกใส สามารถรับความร้อนจากแสงภายนอกได้เต็มที่ แต่หากเป็นกระจกสี จะรับความจ้าหรือความร้อนของแสงตามสีของกระจก หากกระจกแตก ชิ้นส่วนแหลมคมทำอันตรายแก่ผู้อยู่ใกล้เคียงได้

(เครดิตภาพ : unsplash)กระจกเทมเปอร์ (Tempered Glass)

จุดเด่นอยู่ที่ความแข็งแรงเพิ่มขึ้นจากกระจกธรรมดา ด้วยกระบวนการอบความร้อนแล้วทำให้ผิวกระจกเย็นลงอย่างรวดเร็ว เพื่อสร้างแรงอัดที่ผิวของกระจกให้แข็งแกร่งขึ้น

ฟังก์ชั่นที่เหมาะสม : กระจกผนังอาคาร โดยเฉพาะกับกระจกบานขนาดใหญ่ กระจกบานเปลือย กระจกอาคารสูง ราวระเบียง หรือพื้นที่เสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย เพราะความแข็งแกร่ง และหากแตกหักจะละเอียดเป็นเม็ดเล็ก เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้งานมากขึ้น

จุดด้อย : ต้องสั่งขนาดและสเป็กพร้อมผลิตจากโรงงาน เนื้อกระจกมองทะลุผ่านจะบิดเบี้ยวเล็กน้อย

(เครดิตภาพ : unsplash)กระจกสะท้อนรังสีอาทิตย์ (Reflective Glass)

ความแตกต่างอยู่ตรงที่ความแข็งแรงอยู่ที่การเคลือบผิวหน้าด้วยโลหะออกไซด์ ซึ่งส่งผลดีในเรื่องการช่วยลดความจ้าและความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยสังเกตได้จากอาคารที่ใช้กระจกประเภทนี้จะสะท้อนสิ่งที่อยู่รอบข้างเห็นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนเหมือนกระจกเงา

ฟังก์ชั่นที่เหมาะสม : ส่วนใหญ่มักใช้เป็นผนังอาคารสำหรับอาคารผนังกระจก บานหน้าต่าง บานประตู โดยสีสันของกระจกจะขึ้นอยู่กับโลหะที่เคลือบบนผิวหน้า

จุดด้อย : จะต้องระวังในขั้นตอนการติดตั้งให้พื้นผิวด้านที่เคลือบโลหะหันเข้าภายในอาคาร และขั้นตอนการก่อสร้างที่ปูนซีเมนต์จะก่อให้เกิดคราบที่ทำให้กระจกเสียหาย

(เครดิตภาพ : unsplash)กระจกสภาพการแผ่รังสีต่ำ (Low-e glass)

เป็นกระจกที่เคลือบด้วยผิวโลหะเช่นเดียวกับกระจกสะท้อน เพียงแต่เปลี่ยนผิวจากโลหะออกไซด์เป็นเงิน เพื่อให้การสะท้อนและถ่ายเทความร้อนเข้าสู่ภายในอาคารน้อยกว่ากระจกแบบก่อนหน้า

ฟังก์ชั่นที่เหมาะสม : ส่วนใหญ่มักประกบกันสองชั้น ใช้เป็นผนังอาคารสำหรับอาคารผนังกระจก บานหน้าต่าง บานประตู

จุดด้อย : แสงธรรมชาติผ่านได้มาก แต่ความร้อนและความจ้าของแสงต่ำ

(เครดิตภาพ : unsplash)กระจกฉนวนกันความร้อน (Insulated Glass)

จากหลักการลดการถ่ายเทความร้อน จึงนำกระจกสองแผ่นมาประกบกันบนโครงอะลูมิเนียมที่ตรงกลางบรรจุสารดูดความชื้น เพื่อช่วยลดการถ่ายเทความร้อนและเสียงระหว่างพื้นผิวภายนอกอาคารกับภายในอาคาร โดยกระจกทั้งสองแผ่นนี้จะเป็นกระจกธรรมดา หรือเป็นกระจกเทมเปอร์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยก็ได้

ฟังก์ชั่นที่เหมาะสม : ใช้เป็นผนังอาคารสำหรับอาคารผนังกระจก บานหน้าต่าง บานประตู โดยเฉพาะกับพื้นที่ใช้งานเครื่องปรับอากาศ เพราะทนทานต่ออุณหภูมิผิวที่ต่างกันมากของพื้นผิวสองด้าน

จุดด้อย : อากาศสามารถรั่วซึมเข้าสู่ตัวกระจกหากยาแนวระหว่างวัสดุเสียหาย ส่งผลต่อการสูญเสียความสามารถในการกันความร้อน

(เครดิตภาพ : unsplash)กระจกนิรภัย (Laminated Glass)

กระจกสองแผ่นถูกประกบกันโดยมีชั้นของแผ่น PVB (Polyvinyl Butyral) คั่นอยู่ตรงกลาง ซึ่งสร้างลวดลายจากสีสันและแพตเทิร์นให้กับกระจก และเมื่อกระจกแตก สะเก็ดของกระจกจะอยู่ติดแน่นกับแผ่น PVB ไม่สร้างอันตรายให้กับผู้ใช้งาน

ฟังก์ชั่นที่เหมาะสม : กระจกที่ติดตั้งบนพื้นที่เสี่ยงต่อการแตกหักได้ง่าย อย่างกระจกบานขนาดใหญ่ หรือช่องแสงบนที่สูง รวมทั้งผนังกระจกที่ต้องการการตกแต่งลวดลายตามดีไซน์ที่ต้องการ

จุดด้อย : ไม่เหมาะกับการใช้งานบนพื้นที่ความชื้นสูง หรือพื้นที่ที่อุณหภูมิแตกต่างกันมาก

(เครดิตภาพ : unsplash)กระจกพิมพ์ลายเซรามิก (Ceramic Silkscreen Glass)

วิธีสร้างลวดลายให้กับกระจก นอกเหนือจากตัวกระจกลามิเนต หรือการสร้างลวดลายบนเนื้อกระจกตั้งแต่ขั้นตอนการเซ็ตตัวแล้ว ยังสามารถนำเอาสีเซรามิกมาพิมพ์ลายบนผิวกระจกแล้วนำไปอบจนสีเป็นเนื้อเดียวกันกับกระจก เหมือนกับมีลวดลายและสีสันแนบเนียนไปกับผิวกระจก

ฟังก์ชั่นที่เหมาะสม : กระจกตกแต่งภายในและภายนอกอาคาร เพราะเคลือบสีเซรามิกเพิ่มเติม ตัวกระจกจึงแข็งแรงขึ้นกว่าปกติ และเหมาะกับงานคัสตอมกระจกให้เป็นลวดลายตามที่ต้องการ รวมทั้งสามารถประกบกันสองชั้นเพื่อทำกระจกฉนวนกันความร้อน หรือกระจกนิรภัย (ลามิเนต) ก็ได้เช่นกัน

(เครดิตภาพ : unsplash)

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these <abbr title="HyperText Markup Language">HTML</abbr> tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

*