fbpx

Author Archives: GRANTScreativeWe40

ความจริงเรื่องการติดตั้งมุ้งลวด

ความจริงเรื่องการติดตั้งมุ้งลวด

ในขณะที่เราต้องการระบายอากาศและความโปร่งโล่งให้กับบ้าน แมลงและยุงก็เป็นสิ่งกวนใจที่มาพร้อมอากาศเสมอ มุ้งลวดจึงเป็นทางเลือกที่ทุกบ้านเลือกใช้กับช่องเปิด ไม่ว่าจะเป็นกับช่องประตูหรือหน้าต่าง เบื้องหลังตะแกรงลวดบางๆ นี้ ยังมีรายละเอียดซ่อนอยู่มากมายที่ชวนให้คุณมาทำความรู้จักตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในบ้านที่ต้องอาศัยอยู่ทุกวัน

เลือกมุ้งลวดจากฟังก์ชั่นที่ต้องการ

ฟังก์ชั่นของมุ้งลวดอย่างที่เราคุ้นเคยกัน คือมุ้งลวดที่ติดตั้งกับกรอบบานของประตู-หน้าต่าง ซึ่งก็มีจำแนกตามรูปแบบการใช้งานลงไปอีกว่า จะเลือกใช้เป็นมุ้งลวดแบบบานเลื่อนหรือบานเปิด-ปิดสำหรับติดตั้งเสริมกับบานประตูทั้งแบบทึบหรือแบบกระจก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งานว่าเหมาะสมกับรูปแบบใด เช่น ประตูทางเข้าหลักของบ้านที่ใช้เป็นบานทึบแบบเปิดออก อาจเลือกใช้มุ้งลวดแบบบานเลื่อนหากมีพื้นที่สองข้างของหน้าบานเหลือสำหรับการเลื่อนออก ช่วยเพิ่มพื้นที่การใช้งานภายในบ้านมากกว่าการใช้มุ้งลวดแบบบานเปิด-ปิด ที่ต้องเผื่อพื้นที่สำหรับการเปิด-ปิดมุ้งลวดภายในบ้านอีก นอกจากนั้นยังมีมุ้งลวดแบบอื่นๆ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของมุ้งลวดแบบเดิมๆ อย่างเรื่องความสะดวกในการใช้งานและความสวยงาม เช่น การใช้มุ้งลวดพับจีบ ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะใช้การสไลด์แล้วตัวมุ้งลวดจะถูกพับซ้อนกันเข้าไปเก็บอยู่ในขอบของหน้าบานแบบบานเฟี้ยม จึงสามารถเปิดหน้าบานออกได้สุด และไม่เกะกะระหว่างการใช้งาน อีกแบบคือมุ้งลวดม้วนเก็บที่ทำงานเหมือนกับม่านม้วน นั่นคือเมื่อไม่ต้องการใช้งาน ก็ม้วนไปเก็บอยู่กับขอบวงกบของหน้าต่าง และบานรางเลื่อนเองก็สามารถม้วนเก็บไปกับตัวม่านได้ในกรณีติดตั้งกับประตู ซึ่งแบบม้วนก็เพิ่มเรื่องความทนทานในการใช้งานมุ้งลวดขึ้นไปได้อีก

(เครดิตภาพ archdaily)

เลือกวัสดุตามงบประมาณ

แน่นอนว่าอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกชนิดของวัสดุมุ้งลวดคือเรื่องราคา เพราะวัสดุแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป วัสดุสำหรับมุ้งลวดก็มีทั้งเส้นอะลูมิเนียมแบบที่เราเห็นกันตั้งแต่เด็ก ถึงจะมีข้อดีเรื่องความโปร่ง แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องความทนทานที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ ว่าพอใช้งานไปสักพัก เส้นอะลูมิเนียมจะเปราะเมื่อโดนความชื้นมากๆ มุ้งลวดแบบไฟเบอร์ เป็นวัสดุที่แก้ไขข้อเสียของมุ้งลวดอะลูมิเนียมตรงที่ไม่เป็นสนิม และไม่สะท้อนแสงแวววาว แต่หากเมื่อใช้งานไปนานเข้าก็อาจฉีกขาดได้ง่าย หรือถ้าโดนแรงกระแทกจังๆ ก็อาจเสียรูปทรงในการใช้งานไปเลย อีกแบบก็คือ มุ้งลวด uPVC จากวัสดุพลาสติก ที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวมุ้งลวดด้วยการเติมสารป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตและป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น ภายในห้องจึงอยู่สบายและประหยัดพลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศ วัสดุอีกแบบที่นำมาทำมุ้งลวดคือไนล่อน แต่ก็มีความแตกต่างจากสองแบบข้างต้นคือ แม้จะเหนียว แต่ความทึบของเส้นลวดทำให้ดูไม่โปร่ง ส่งผลต่อการระบายอากาศซึ่งไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งมุ้งลวดนิรภัยที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม ที่มีหัวใจหลักในเรื่องความแข็งแรงทนทาน และสามารถติดตั้งได้กับบ้านริมทะเลที่มักเกิดการกัดกร่อนจากไอเกลือ

(เครดิตภาพ newblinds)

ติดตั้งมุ้งลวด ด้านในหรือด้านนอก?

การติดตั้งทั้งสองแบบก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป แบบที่นิยมกันในบ้านเราคือการติดตั้งจากด้านใน เพราะอิงจากทิศทางการเปิดประตูบ้านที่ต้องผลักออกจากตัวบ้าน รวมทั้งความนิยมของการใช้วัสดุมุ้งลวดแบบอะลูมิเนียมซึ่งบอบบางและเสื่อมสภาพเร็ว จึงมักติดตั้งมุ้งลวดเอาไว้ในบ้านเพื่อให้สะดวกต่อการดูแลรักษาและเปลี่ยนใหม่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หากเราเลือกวัสดุของมุ้งลวดที่แข็งแรงมาตั้งแต่ต้น การติดตั้งมุ้งลวดเอาไว้ด้านนอกเป็นทางเลือกที่ดี เพราะฝุ่นละอองต่างๆ ที่ผ่านจากอากาศภายนอกเข้าสู่ภายในบ้านจะถูกดักจับขั้นต้นที่มุ้งลวด เมื่อเราปิดบานหน้าต่างด้านใน ฝุ่นก็จะยังคงกักอยู่นอกหน้าต่าง ไม่เข้ามาก่อกวนและกำเนิดโรคภูมิแพ้ ข้อดีต่อมาคือ อายุการใช้งานของมุ้งลวดจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวลาใช้งานเราเพียงเปิดปิดหน้าต่างเท่านั้น ไม่ต้องแตะต้องกับตัวมุ้งลวดเลย ไม่เหมือนกับปกติที่ต้องเปิดมุ้งลวดก่อนถึงจะปิดหน้าต่างได้ บางทีมือก็เผลอไปโดนตัวมุ้งลวดจนเสียรูปร่างไปอีก ถัดมาคือเรื่องการดูแลรักษาและทำความสะอาด เพราะกักฝุ่นเอาไว้ข้างนอกทั้งหมด การทำความสะอาดก็ทำได้ง่าย ไม่เปรอะเปื้อนพื้นที่ภายในบ้าน รวมทั้งตัวน้ำฝนเองก็ช่วยชะล้างทำความสะอาดมุ้งลวดไปในตัวด้วย ส่วนใครที่กลัวเรื่องความแข็งแรงในฤดูพายุฝน ตัวกรอบมุ้งลวดเองก็มีระบบกันยกบาน ป้องกันมุ้งลวดร่วงหล่น จึงอยู่บนพื้นที่ติดตั้งได้อย่างแน่นหนา

(เครดิตภาพ archdaily)

จากทั้งหมดที่เล่ามา น่าจะพอเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับการตัดสินใจเลือกมุ้งลวดครั้งต่อไป ทั้งในเรื่องฟังก์ชั่น วัสดุ รวมถึงเรื่องรูปแบบการติดตั้ง ซึ่งข้อหลังอาจจะดูผิดแปลกจากความคุ้นเคยของช่างชาวไทยอยู่บ้าง แต่ด้วยคุณภาพมาตรฐานของวัสดุก็จะเป็นคำตอบให้ได้ว่า แบบไหนคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้ของคุณ

รู้จักกระจกที่ใช้กับกรอบบานอะลูมิเนียม

รู้จักกระจกที่ใช้กับกรอบบานอะลูมิเนียม

กระจกมีหน้าที่สำคัญสำหรับกั้นแบ่งสองพื้นที่ออกจากกัน แต่ในขณะเดียวกัน คุณสมบัติความโปร่งใสหรือโปร่งแสงของกระจกก็เป็นเหมือนกับการหยิบยืมบรรยากาศของฝั่งตรงข้ามมาใช้งาน กระจกจึงมีส่วนสำคัญกับคอนเซ็ปต์ “Inside Out-Outside In” หรือการดึงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาเป็นวิวของบ้าน และทำให้ภายในบ้านเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศภายนอก

หากแต่เบื้องหลังกระจกใสยังมีคุณสมบัติที่แตกต่าง ซึ่งเกิดขึ้นจากนวัตกรรมการพัฒนาวัสดุเพื่อให้ตอบสนองต่อการใช้งานและรูปลักษณ์ที่ผู้ใช้งานต้องการ ซึ่งกรอบบานอะลูมิเนียมก็เป็นหนึ่งในวัสดุยอดนิยมสำหรับติดตั้งเป็นกรอบบานหน้าต่างและประตูของบ้าน ด้วยข้อดีมากมายทั้งเรื่องความทนทานและความสวยงาม การเลือกกระจกใช้งานให้เหมาะสมกับบานกรอบอะลูมิเนียมจึงเป็นเหมือนกับการจับคู่อย่างไรให้ลงตัว เพื่อให้ช่องเปิดนี้มีดีไซน์และใช้งานได้ดีตลอดอายุการใช้งาน

กระจกเทมเปอร์ : Tempered Glass

(เครดิตภาพ Farallon)

นับเป็นกระจกนิรภัยที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน ด้วยความแข็งแกร่งที่ถูกพัฒนามากขึ้นกว่ากระจกใสในอดีต ซึ่งความแข็งแกร่งนี้เกิดจากการสร้างแรงอัดให้กับผิวของกระจกแล้วให้ความเย็นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผิวภายนอกสามารถต้านแรงกระทำได้มากกว่าเดิมและแข็งแรงขึ้นถึง 4 เท่า แต่หากโดนแรงกระแทกจนแตกแล้ว กระจกเทมเปอร์จะแตกแบบละเอียดทั้งแผ่น ไม่ใช่แบบรอยร้าวเหมือนกระจกทั่วไป ดังนั้น การเลือกกระจกเทมเปอร์จึงมีข้อควรรู้คือ ควรวัดไซส์ที่ต้องการใช้งานให้เรียบร้อย เพราะกระจกที่ผ่านกระบวนการเทมเปอริงแล้วจะไม่สามารถถูกตัดหรือกระแทกได้อีก

กระจกลามิเนต : Laminated Glass

(ภาพจาก trombe.co.uk)

อีกรูปแบบหนึ่งของกระจกนิรภัยที่เกิดจากการนำกระจกสองชิ้นมาประกบกันด้วย Polyvinyl Butyral หรือ PVB ซึ่งเป็นแผ่นฟิล์มที่ทำให้กระจกยึดเกาะกันได้สูงและใสเป็นพิเศษ ซึ่งข้อดีของฟิล์มตัวนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเกิดกระจกแตก แผ่นฟิล์มจะทำหน้าที่ยึดตรึงกระจกไว้ เศษกระจกจึงแตกสร้างอันตรายให้ผู้ใช้งาน รวมทั้งความพิเศษจากการเป็นกระจกสองชั้น จึงกันเสียงและกันรังสีอัลตราไวโอเล็ตได้ดีกว่ากระจกธรรมดา วิธีการสังเกตกระจกลามิเนตก็คือ ลองพลิกสันของกระจกขึ้นมาดู จะเห็นเป็นกระจกสองแผ่นประกบติดกันแบบแซนด์วิชโดยมีชั้นฟิล์มบางๆ อยู่ตรงกลาง

กระจกอินซูเลต / กระจกสองชั้น : Insulated Glass

(เครดิตภาพ Peter Jurkovič)

กระจกชนิดนี้เกิดจากกระจกสองชิ้นเช่นเดียวกับกระจกลามิเนต แต่เชื่อมต่อระหว่างกระจกสองแผ่นด้วยช่องว่าง(อากาศแห้ง)หรือก๊าซอาร์กอนซึ่งเป็นก๊าซเฉื่อย ตรงกลางนี้เองที่ตัวป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากกระจกบานหนึ่งไปยังกระจกอีกบาน อากาศภายในอีกด้านจึงมีอุณหภูมิต่ำกว่าภายนอก และเก็บกักรักษาอุณหภูมิภายในได้ดีมาก บางที่จึงอาจเรียกว่า กระจกฉนวนกันความร้อน เพราะช่องว่างตรงกลางซึ่งทำหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อนให้กับตัวกระจกและบ้าน นอกจากการป้องกันความร้อนแล้ว เสียงก็เป็นสิ่งรบกวนอีกชนิดที่กระจกอินซูเลตสามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเกิดจากหลักการของกระจกชนิดนี้เช่นเดียวกัน

กระจกตัดแสง : Tinted Glass

(เครดิตภาพ Bamford McLeod)

ถ้าพูดถึงการทำให้บ้านเย็นลง กระจกตัดแสงน่าจะเป็นตััวเลือกแรกๆ ของคนไทย ด้วยชื่อที่บอกชัดเจนว่า กระจกตัดแสง คุณสมบัติที่โดดเด่นที่สุดจึงเป็นการป้องกันและสะท้อนกลับพลังงานแสงอาทิตย์กลับสู่ภายนอก โดยยังคงเปิดรับแสงสว่างให้เข้ามาภายในบ้าน ความสนุกของการใช้กระจกตัดแสงคือ สีสันหลากหลายที่เกิดจาก การผสมโลหะออกไซด์ไว้ตั้งแต่ระหว่างกระบวนการผลิตกระจก อีกทั้งยังสามารถเลือกระดับการสะท้อนกลับของความร้อนสู่ภายนอก และปริมาณแสงที่ผ่านเข้ามาภายในได้ตามความต้องการอีกด้วย

กระจกสะท้อนแสง : Reflective Glass

(ภาพจาก architectural digest)

กระจกชนิดนี้เป็นขั้นกว่าของกระจกตัดแสง ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกระจกตัดแสง เพียงแต่เปลี่ยนแปลงการเคลือบผิวด้านนอกของกระจกมาเป็นโลหะเงินบริสุทธิ์ ซึ่งทำหน้าที่เหมือนฉนวนกันความร้อนจากพลังงานดวงอาทิตย์ ความพิเศษของกระจกชนิดนี้จึงอยู่ที่การประหยัดพลังงาน เพราะลดความร้อนสะสมภายในตัวบ้าน จึงช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าและค่าไฟจากเครื่องปรับอากาศ ทีนี้ก็อยู่ที่เจ้าของบ้านเองแล้วว่ากระจกชนิดใดที่ตอบโจทย์หน้าที่การใช้งาน รูปลักษณ์ รวมทั้งงบประมาณที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งการปรึกษากับดีไซเนอร์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านประตู-หน้าต่างจะเป็นผู้ให้คำตอบที่ดีและตอบรับกับวัตถุประสงค์การใช้งานของเจ้าของได้มากที่สุด

StudioK สถาปัตยกรรมขั้วตรงข้ามที่แตกต่างอย่างลงตัว

StudioK สถาปัตยกรรมขั้วตรงข้ามที่แตกต่างอย่างลงตัว

Location: เมืองเชียงใหม่, จังหวัดเชียงใหม่ Owner: นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล Architect 1: บริษัทแผลงฤทธิ์ จํากัด Architect 2: สุเมธ กล้าหาญ Materior Studio Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

ครั้งแรกที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายใต้ความร่มรื่นแห่งนี้ ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าพื้นที่ภายในจะเป็นอย่างไร เพราะหากลองสังเกตดูดีๆแล้ว ยังคงมีภาพความแตกต่างของรูปแบบสถาปัตยกรรมซ่อนอยู่ ทั้งสีสัน วัสดุ รวมถึงความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาเสมือนขั้วตรงข้าม และทั้งหมดที่เรากำลังกล่าวถึงนี้คือ “สตูดิโอเค” สตูดิโอที่ผลิตผลงานศิลปะร่วมสมัยในเมืองเชียงใหม่ของ “คุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล”ศิลปินรางวัลศิลปาธร ผู้สร้างสรรค์ผลงานผ่านภาพวาดอันโด่งดัง ซึ่งนอกจากเป็นสตูดิโอแล้ว ยังเป็นที่พักอาศัย รวมถึงเป็นแกลอรี่แสดงงานศิลปะของเขาอีกด้วย

เพิ่มเติมความเรียบง่าย

แรกเริ่มเดิมที อาคารแห่งนี้เป็นอาคารคอนกรีตเปลือยรูปตัว L ภายในถูกวางแผนไว้ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการทำงานศิลปะของคุณนาวินและทีมงาน รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะไปด้วยในตัว ซึ่งในส่วนของพื้นที่ทำงานและพื้นที่จัดแสดงศิลปะนั้นอยู่ส่วนด้านซ้ายของอาคาร ออกแบบโดย สำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์ / Plankrich แต่ในส่วนที่พักอาศัยภายใต้อาคารหลังเดิมถูกเติมเต็มเข้ามาในภายหลัง ก่อนหน้าอาคารสีดำทางขวาที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดไม่นาน เพื่อเป็นแกลอรี่อีกแห่งสำหรับรองรับงานศิลปะที่มีมากขึ้น ด้วยฝีมือการออกแบบของ “คุณสุเมธ กล้าหาญ Materior Studio

ส่วนพักอาศัยที่ต่อเติมขึ้นมา ด้านล่างเป็นพื้นที่โล่ง ที่ไว้ทำงานภายนอกได้

“การทำงานกับพี่นาวิน ต่างจากการทำงานสถาปนิกกับลูกค้า เหมือนเราช่วยกันออกแบบมากกว่า เพราะพี่นาวินเค้ามีไอเดียของเขาเองอยู่แล้วประมาณหนึ่ง” คุณสุเมธเล่าให้เราฟังถึงการเริ่มต้นออกแบบส่วนพักอาศัยภายในอาคารคอนกรีตเปลือยนี้ โดยเน้นการออกแบบตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยเอง นั่นคือ “ความเรียบง่ายและสะอาดตา” ด้วยการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดโทนสีอ่อนทั้งหมดเปิดช่องเปิดกว้างเพื่อให้สามารถดึงแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาใช้ได้ ใส่ฝ้าเข้าไป ซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่เดิมที่เผยให้เห็นสัจจะวัสดุของโครงสร้างดิบเปลือยของอาคารอย่างสิ้นเชิง

ในส่วนพักอาศัยประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอนอีกสองห้อง ถูกเชื่อมต่อกับห้องทำงานเดิมของคุณนาวิน เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน

ทุกพื้นที่เป็นแกลอรี่

ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นศิลปิน ผนังจึงถูกเติมเต็มความว่างเปล่าด้วยภาพวาดของผลงานต่างๆ ที่เจ้าของบ้านเป็นคนสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง แขวนไว้ในทุกๆพื้นที่ดั่งเป็นแกลอรี่ในที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นผนังหลังโซฟา ผนังทีวี ห้องนอน ห้องครัว ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดที่บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัว เสมือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงความรัก ความชอบ สานสัมพันธ์ความอบอุ่นของทุกคนในบ้าน

ตัวอย่างภาพวาดแขวนผนังภายในพื้นที่อยู่อาศัย

ดิบเปลือยแต่ปรุโปร่ง

แม้ว่าวัสดุและโครงสร้างภายนอกที่เป็นคอนกรีตเปลือย จะสร้างความรู้สึกถึงความหนักแน่นในรูปแบบของอาคาร แต่พื้นที่ภายในกลับดูปลอดโปร่งไปด้วยการออกแบบช่องเปิดในห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อไปยังสวน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้แสงธรรมชาติจากภายนอกสามารถเข้าถึงพื้นที่ภายในได้อย่างเต็มที่ และบรรยากาศถูกโอบล้อมไปด้วยความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียว

เก่าปูน ใหม่เหล็ก

“พยายามให้พื้นที่ด้านล่างกั้นผนังน้อย วัสดุแตกต่าง เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดดูเบาลอย ไม่หนักมากเกินไป” คุณสุเมธกล่าวถึงเหตุผลที่อาคารใหม่นี้ใช้วัสดุเมทัลชีทสีดำแทนที่จะใช้ปูนเปือยเหมือนกับอาคารเดิม โดยด้านล่างเป็นพื้นที่คล้ายใต้ถุน ที่มีพื้นที่ของสตูดิโอเวิร์คชอป และลานจอดรถ ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ของแกลอรี่ที่ภายในแสดงงานศิลปะของทาง StudioK เอง

ผนังอาคารในชั้นสอง ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุเมทัลชีทเพราะด้วยโครงสร้างใหม่ที่ออกแบบมาเป็นโครงสร้างเหล็ก จึงตอบโจทย์ในเรื่องของการทำงานที่ง่าย เพราะมีน้ำหนักเบา รวมถึงสีดำที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโดยมีความแตกต่าง แต่ไม่แปลกแยกจากเดิม ยังอยู่กลมกลืนและเชื่อมต่อกับอาคารเก่าและบริบทอาคารโดยรอบได้อย่างดี

ภายในเป็นสีขาว ให้เหมือนภาพพื้นหลังของงานศิลปะ ทำให้งานที่จัดแสดงมีความโดดเด่นมากขึ้น โดยเปิดช่องแสงในส่วนด้านข้าง และมีสกายไลท์ด้านบนเพื่อให้แสงเข้ามาอย่างทั่วถึง และเท่ากันในทุกๆพื้นที่

พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างแกลอรี่ใหม่กับอาคารหลังเดิม

แตกต่างแต่กลมกลืน

แม้ว่าภายใต้พื้นที่ของ StudioK นั้น จะมีความแตกต่างทางวัสดุและรูปแบบอาคาร แต่สถาปนิกได้พยายามเชื่อมต่อภาพรวม รวมถึงจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ลงตัว การเพิ่มเติมอาคารหลังใหม่เข้าไปให้กลมกลืนกับของเดิม ด้วยการออกแบบแพทเทิลบานหน้าต่างที่คล้ายของเก่าให้เส้นสายของอาคารต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเลือกใช้บานหน้าต่างที่มีประสิทธิภาพอย่าง TOSTEM เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้าน ในเรื่องของความคงทนจากน้ำ และการป้องกันเสียงที่ดี

ในส่วนพักอาศัยเลือกกรอบบานหน้าต่างเป็นสีดำ ส่วนอาคารแกลอรี่เป็นสีเทาๆเพื่อให้กลมกลืนกับผนังภายในที่มีสีขาว ไม่รบกวนงานศิลปะที่จัดแสดงนั่นเอง

เลือกเป็นบานกระทุ้งในส่วนด้านหน้า เพราะเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ที่สามารถเปิดไว้ให้อากาศถ่ายเทไปมาได้ และด้วยความต้องการออกแบบช่องเปิดกว้างเต็มพื้นที่ความกว้างของผนัง TOSTEM ก็สามารถออกแบบได้อย่างลงตัวตามแบบและขนาดที่ต้องการ พร้อมทั้งมีระบบล็อคที่เพิ่มความปลอดภัยอีกด้วย

การผสมผสานที่แตกต่างอย่างลงตัวภายในพื้นที่แห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการนำเสนอสิ่งใหม่ ที่จะออกแบบอย่างไรให้กลมกลืนโดยคิดถึงภาพรวม และบริบทโดยรอบ ทำให้ทุกพื้นที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมบูรณ์แบบและตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเดิม

ขอขอบคุณ

คุณสุเมธ กล้าหาญ จาก Materior Studio

โรงจอดรถสำเร็จรูป ทำเสร็จ จอดเลย ไม่ต้องรอนาน

โรงจอดรถสำเร็จรูป ทำเสร็จ จอดเลย ไม่ต้องรอนาน

ในประเทศที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวเป็นการสัญจรหลักอย่างในบ้านเรา จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำที่จอดรถในบริเวณบ้าน ถึงบ้านจัดสรรส่วนใหญ่จะจัดเตรียมที่จอดรถไว้ให้แล้ว แต่บางครั้งก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้งานอยู่ดี การต่อเติมที่จอดรถด้วยตัวเองจึงเป็นทางเลือกสามัญที่ทุกบ้านเลือกใช้

แต่พอคิดจะต้องต่อเติมก็เป็นปัญหาปวดหัวใหญ่อีก ว่าจะต้องเริ่มต้นอย่างไร งานออกแบบ หาผู้รับเหมา หรือต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ “โรงจอดรถสำเร็จรูป” จึงเป็นอีกทางเลือกสะดวก รวดเร็ว และสวยงามที่เราอยากแนะนำ

(เครดิตภาพทั้งหมด lixil-reformshop.jp)

มาตรฐานตั้งแต่โรงงานถึงโรงจอด

โรงจอดรถแบบสำเร็จรูป หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นระบบ Prefabrication ชื่อแบบที่เราคุ้นเคย นั่นก็คืออุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนผลิตจากโรงงาน และพร้อมนำมาประกอบที่หน้างานได้เลยทันทีจากฝีมือของช่างที่ทำงานตามขั้นตอนที่ถูกกำหนดมาอย่างเป็นระบบ นั่นหมายความว่าทุกกระบวนการผลิตถูกกำหนดไว้ในคู่มือมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว เพราะการผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมภายใต้มาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ จึงหมดกังวลในเรื่องความไม่สม่ำเสมอของงานการผลิต เนื้อวัสดุ ความแข็งแรง และวิธีการประกอบ อีกทั้งยังมีข้อดีในเรื่องการรับประกันคุณภาพของทั้งตัวผลิตภัณฑ์และขั้นตอนการประกอบ จึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งาน และตัวโครงสร้างก็สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพตลอดอายุการใช้งาน

ประหยัดต้นทุนและเวลา

ประหยัดเงิน เป็นความต้องการลำดับแรกๆ ของการต่อเติม แต่ความประหยัดที่ว่าต้องมาพร้อมกับความคุ้มค่า โรงจอดรถสำเร็จรูปมีข้อดีที่ติดตั้งรวดเร็ว ใช้เวลาน้อย จึงช่วยลดต้นทุนในการทำงานติดตั้ง จากค่าใช้จ่ายกับบุคลากรช่างที่ไม่ต้องจ่ายหลายแรงกว่าจะทำงานเสร็จ และเพราะติดตั้งเร็ว หากเจ้าของบ้านเตรียมพื้นที่ด้วยการปรับระดับพื้นและลงเสาเข็มเรียบร้อยแล้ว ภายใน 1 วันก็สามารถใช้งานได้ทันที

ดีไซน์สวยงาม เข้ากับตัวบ้าน

ข้อดีอีกอย่างของโรงจอดรถแบบสำเร็จรูป คือเราได้เห็นแบบของโรงจอดรถที่หลากหลายตามแบบที่ผู้ผลิตดีไซน์เอาไว้ จึงสามารถเลือกแบบที่เข้ากับตัวบ้านและวัสดุที่ต้องการใช้งานได้เลยโดยไม่ต้องกังวลว่าจะสร้างออกมาแล้วเหมือนที่คิดไว้ไหม รวมทั้งขนาดที่ถูกกำหนดเอาไว้ให้อย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับจำนวนรถ ปัญหาเรื่องที่จอดรถแคบเกินไป จอดรถไม่พอ หรือถอยเข้าซองยากจึงหมดไป เพียงแค่มีดีไซน์ จำนวนรถ และพื้นที่ว่างไว้ในใจ ก็จิ้มเลือกแบบเพื่อนำไปติดตั้งใช้งานได้เลย สนใจที่จอดรถสำเร็จรูป เข้าไปดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.tostemthailand.com/th/product_category/carport/

EXION OFFICE BUILDING สถาปัตยกรรมเคลื่อนที่ ด้วยไดนามิกจากเส้นสายโฉบเฉี่ยว

EXION OFFICE BUILDING สถาปัตยกรรมเคลื่อนที่ ด้วยไดนามิกจากเส้นสายโฉบเฉี่ยว

Location : กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย Owner : บริษัท เอ็กซิออน (ประเทศไทย) จำกัด Architect : I Like Design Studio โดย คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ

แน่นอนว่าหนึ่งในหัวใจสำคัญของการทำงานให้มีประสิทธิภาพนั้นเกิดจากบรรยากาศในที่ทำงานที่เอื้อต่อการทำงาน ทั้งเรื่องของสภาพแวดล้อม อาคารที่มีความสวยงาม ฟังก์ชันที่ถูกออกแบบอย่างเป็นสัดส่วน ความปลอดภัยไปจนถึงพื้นที่สีเขียวที่สร้างความผ่อนคลายให้กับพนักงาน ด้วยเหตุนี้ทางบริษัทเอ็กซิออน (ประเทศไทย) จำกัด จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วในการขยายสำนักงานเพื่อสร้างพื้นที่และบรรยากาศที่ดีสำหรับพนักงาน รวมไปถึงยังตั้งใจให้เป็นอาคารสำหรับต้อนรับและติดต่อธุรกิจ ด้วยวัตุประสงค์นี้ทำให้การออกแบบอาคารจึงเน้นไปที่ความสวยงามไปพร้อมๆ กับฟังก์ชัน

คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ ผู้ออกแบบจาก I Like Design Studio จึงนำความต้องการของทางลูกค้าและปัจจัยทางออกแบบมาตีความในเชิงออกแบบสถาปัตยกรรม ซึ่งรวมไปถึงผสมผสานหลักความเชื่อของซินแส โดยเริ่มจากการวางตำแหน่งอาคารตามลักษณะที่ดินซึ่งประกอบด้วยสี่เหลี่ยมจัตุรัสและสี่เหลี่ยมคางหมูมาต่อกัน ตัวอาคารที่เกิดขึ้นจากลักษณะที่ดินจึงแบ่งออกเป็นสองก้อน ซึ่งมีพื้นที่ใช้สอยรวมกันกว่า 2,000 ตร.ม.  และแบ่งพื้นที่ชั่น 1 สำหรับจอดรถโดยเฉพาะ ส่วนตัวอาคารก็ออกแบบให้เชื่อมต่อกันด้วยคอร์ทขนาดใหญ่บริเวณชั้นสอง ซึ่งผู้ออกแบบได้คำนึงถึงฟังก์ชั่นและขนาดพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน จึงลงตัวที่ที่อาคาร A (อาคารที่สูงกว่า) จะเป็นส่วนของสำนักงาน ห้องประชุมย่อยและพื้นที่ของผู้บริหาร ส่วนทางด้านอาคาร B จะเป็นห้องสัมนาขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถรับวิวคอร์ทส่วนกลางได้ชัดเจน ห้องสันทนาการต่างๆ ของพนักงาน ทั้งห้องดนตรีไปจนถึงฟิตเนสขนาดใหญ่ที่ทางบริหารเล็งเห็นว่าฟังก์ชั่นเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพนักงานในการพักผ่อน

เมื่อขนาดพื้นที่และฟังก์ชั่นลงตัวแล้ว ผู้ออกแบบจึงออกแบบให้ภายนอกอาคารเสมือนถูกเส้นเฉียงสุดโฉบเฉี่ยวห่อหุ้มเอาไว้ และบิดลดทอนอาคาร B ทางด้านหน้าเล็กน้อย เพื่อสร้างมุมมองที่สวยงามให้อาคาร A  อีกทั้งยังเพื่อให้เส้นเฉียงที่เกิดขึ้นเป็นสัญลักษณ์และแสดงถึงไดนามิกที่กำลังเคลื่อนไหว โดยแต่ละเส้นจะทำมุมและเชื่อมต่อกันทั้งสองอาคาร เพื่อสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อ โดยทางผู้ออกแบบตั้งใจเว้นจังหวะของเส้นเฉียงบริเวณมุมทางเข้าอาคาร เพื่อเป็นจุดนำสายตาและเป็นการดึงแสงธรรมชาติเข้ามาใช้บริเวณโถงขนาดใหญ่ สร้างความรู้สึกผ่อนคลายสำหรับผู้ใช้พื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันหากมองจากภายนอกก็จะตื่นตาตื่นใจกับตัวอาคารและสเปซที่มองทะลุได้จากภายใน

ส่วนทางด้านวัสดุที่ทางลูกค้าชัดเจนมาตั้งแต่ต้นว่าให้เน้นไปทางสัจจะวัสดุ เพื่อความเรียบง่ายและดูสุขุม ทางผู้ออกแบบจึงเลือกใช้ปูนเปลือย เหล็ก กระจกและไม้บางส่วนสำหรับการออกแบบภายใน ภาพรวมของอาคารจึงสุขุม เน้นความเรียบง่ายจากสีสันที่แท้จริงของวัสดุเป็นสำคัญ ซึ่งความตรงไปตรงมาของวัสดุนี้เองที่ไปขับเน้นให้เส้นสายทางสถาปัตยกรรม 

รวมไปถึงช่องเปิดของอาคารโดดเด่นขึ้นมา เกิดเป็นองค์ประกอบที่ลงตัวซึ่งกันและกันโดยเฉพาะกับมุมมองบริเวณมุมอาคารที่พื้นที่ด้านในเป็นโถงสูง ส่วนภายนอกเลือกใช้การกรุกระจกในวงกบอะลูมิเนียมสีดำเต็มความสูง เพื่อประโยชน์ทางด้านฟังก์ชั่นและความสวยงามในเวลาเดียวกัน ซึ่งทางผู้ออกแบบเองตั้งใจเลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ TOSTEMด้วยกันสองรุ่น คือ WE70 และ WE PLUSเนื่องจากมั่นใจถึงคุณภาพเป็นสำคัญ

“สินค้าแบรนด์ TOSTEM คุณภาพดีอยู่แล้ว หากมีโอกาสได้ใช้ก็อยากใช้ นอกจากเรื่องกระจกแล้วดีเทลของเฟรมอะลูมิเนียมก็ดี ใครมาเห็นก็สัมผัสได้ว่าของดีคุณภาพสมราคา ตอนนำเสนอ TOSTEM กับลูกค้าครั้งแรก ลูกค้าก็ถูกใจเลย อย่างโปรเจกต์ XION OFFICE BUILDING นี้บริเวณภายนอกเราก็เลือกใช้ TOSTEM ด้วยรูปแบบของการออกแบบและเส้นสายที่พิเศษเนื่องจากเป็นมุมมองสำคัญของโครงการทาง TOSTEM ก็ได้ส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคมาให้คำปรึกษาที่หน้างานเลย ดูแลทั้งเรื่องของการออกแบบและติดตั้งจนโครงการแล้วเสร็จไปได้ด้วยดี ” คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกจาก I Like Design Studio ผู้ออกแบบโครงการ

ขอขอบคุณ

บริษัท เอ็กซิออน (ประเทศไทย) จำกัด

คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิริ สถาปนิกจาก I Like Design Studio

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

“เปิดประตูบ้านต้อนรับแขกผู้มาเยือน” คำติดหูตั้งแต่ยังเด็ก แต่ซ่อนความหมายไว้หลายอย่าง ประตูบ้านแห่งนี้จึงเป็นทั้งหน้าตาลำดับแรกๆ ของบ้าน และยังหมายถึงความเอาใจใส่ต่อแขกผู้มาเยือนอีกด้วย งานดีไซน์ประตูบ้านจึงสะท้อนได้ถึงดีไซน์ของบ้านโดยรวม และยังสำคัญต่อฟังก์ชั่นการใช้งาน เพราะเราสามารถแบ่งประเภทของประตูบ้านได้หลายรูปแบบทั้งจากประเภทของวัสดุ ขนาดของหน้าบานประตู รูปแบบการเปิดหน้าบาน ไปจนถึงเรื่องระดับความเป็นส่วนตัว ถ้าจะแบ่งประเภทได้มากมายหลากหลายขนาดนี้ เราจึงขอหยิบไอเดียประตูบ้านมาฝาก แล้วลองดูสิว่าแบบไหนที่ตรงกับความชื่นชอบและความต้องการใช้งานของสมาชิกในบ้านที่สุด (ภาพ  interiordesign-addict)

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

01 บานประตูปิดทึบ โชว์ดีเทลหน้าบาน 

ประตูหน้าบ้านที่ต้องการรักษาความเป็นส่วนตัวไว้ได้มากที่สุด ด้วยการปิดทึบตั้งแต่หน้าบานประตูไปจนถึงผนังของบ้าน ประตูแบบนี้มีดีที่ความปลอดภัย แนะนำให้เลือกสรรวัสดุสำหรับประตูที่มีรายละเอียด ตัวอย่างในภาพที่โชว์ดีเทลการเซาะร่องของบานประตูบานสูงแนบเนียนไปกับมือจับ ทำให้บานประตูโดดเด่นด้วยงานคราฟต์บนวัสดุไม้และดูสูงโปร่งท่ามกลางแนวผนังเซาะร่องตามขวาง (ภาพ the wow decor)

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

02 ประตูบานปิดทึบ กับบานฟิกซ์ขนาบข้าง 

ประตูหน้าบ้านใช้แบบบานทึบ เพิ่มความโปร่งโล่งจากแสงธรรมชาติด้วยการติดตั้งบานฟิกซ์ อาจเป็นแค่ด้านเดียว หรือขนาบทั้งสองข้างก็ได้ แนะนำให้ใช้ระดับบานฟิกซ์สูงเท่ากับประตูบานหลักเพื่อให้ได้สัดส่วนที่สวยงาม หากต้องการเพิ่มความเป็นส่วนตัวอาจเลือกติดตั้งบานฟิกซ์ด้วยกระจกมองด้านเดียว เป็นกระจกใสติดตั้งม่านโปร่ง หรือม่านโปร่งซ้อนด้วยม่านทึบ รวมทั้งอาจติดตั้งเหล็กดัดดีไซน์เก๋เพื่อรักษาความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอีกขั้นหนึ่งก็ได้ (ภาพ interiornew.club)

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

03 ประตูบานปิดทึบ กับบานฟิกซ์ด้านบน 

ใครที่อยากเปิดรับแสงธรรมชาติที่โถงทางเข้าบ้าน แต่ยังคงรักความเป็นส่วนตัว แนะนำประตูหน้าบ้านบานทึบแบบที่มีบานฟิกซ์กระจกเหนือประตู เป็นการใช้ทรัพยากรแสงแดดอย่างคุ้มค่าทีเดียว จะเป็นประตูบานเปิดบานเดียวกับหน้าต่างบานฟิกซ์หนึ่งบาน หรือเป็นแบบประตูบานคู่กับบานฟิกซ์สองบานแบบในภาพก็ได้ แต่ที่สำคัญคือต้องสมดุลกันระหว่างบานประตูและหน้าต่าง เพื่อให้ได้สัดส่วนที่สวยงาม (ภาพ hunker.com)

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

04 บานประตูคลาสสิค 

บานประตูกรุกระจกด้านบนแบบคลาสสิค หน้าบานประตูเป็นบานลูกฟัก กรุกระจกใสด้านบน ส่วนสำคัญอยู่ที่สัดส่วนของพื้นที่หน้าบานกระจกภายในหน้าบานประตู เคล็ดลับงานดีไซน์หน้าบนจึงอยู่ที่การแบ่งระบบกริดของหน้าบานก่อน แล้วค่อยสวมกระจกลงบนพื้นที่ที่ต้องการ และหากข้างประตูสองด้านยังมีพื้นที่ว่างสำหรับหน้าต่างบานฟิกซ์ ก็อาจใช้หน้าบานลูกฟักแบบเดียวกันทำเป็นหน้าบานตกแต่งก็ได้ (ภาพ flickr.com)

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

05 บานประตูเป็นมิตรแบบโมเดิร์น 

ไอเดียบานประตูกรุกระจกมีให้เห็นเช่นกันในงานแบบโมเดิร์น ด้วยเคล็ดลับเดียวกันในการแบ่งกริดให้กับหน้าบานก่อน แล้วค่อยกรุกระจกในบริเวณที่ต้องการ เพิ่มความสนุกขึ้นได้อีกด้วยกระจกลอนแก้ว เกิดเป็นดีไซน์ที่แปลกใหม่ขึ้นอีก และอย่าลืมว่า ความสัดส่วนที่สมดุลเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งสัดส่วนระหว่างกระจกภายในตัวหน้าบานเอง และสัดส่วนของตัวบานประตูกับพื้นผิวผนังตกแต่งที่อยู่รายรอบ (ภาพ Benjamin Benschneider)

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

06 บานเปิดแบ่งครึ่ง 

บานเปิดแบ่งครึ่งแบบนี้อาจไม่ค่อยเห็นนักในเมืองไทย เพราะนี่เป็นไอเดียบานเปิดดั้งเดิมแบบดัตช์ที่ใช้กันมาเป็นศตวรรษ จุดเด่นอยู่ที่การแบ่งครึ่งบานเปิดในแนวตามขวาง จุดประสงค์ก็เพื่อเปิดบานด้านบนบ้านให้ระบายอากาศ ในเวลาเดียวกัน บานด้านล่างก็ช่วยป้องกันเด็กและสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านอีกด้วย แม้จะเป็นไอเดียแบบดั้งเดิม แต่ก็ถูกปรับลุคให้ทันสมัยได้ผ่านดีไซน์และวัสดุในแบบปัจจุบัน (ภาพ Tostem Thailand)

หลากรูปแบบประตูหน้าบ้าน ตอบความต้องการดีไซน์-ฟังก์ชั่น

07 แข็งแรง ปลอดภัย ดีไซน์สวย 

ฟังก์ชั่นของประตูหน้าบ้านนอกจากเรื่องความสวยงามแล้ว ที่สำคัญยังเป็นเรื่องความแข็งแรงของโครงสร้างบานประตูเอง เพราะเป็นส่วนที่ต้องใช้งานบ่อย รวมทั้งระบบรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนา ทางที่ดีควรมีระบบล็อกทั้งแบบกุญแจสำหรับไขจากด้านนอก และแบบแมนนวลสำหรับคนในบ้านเพื่อป้องกันการบุกรุกจากด้านนอก รวมทั้งดีไซน์ในรายละเอียดเพื่อช่วยให้ปลอดภัยกับผู้ใช้งาน อย่างเช่นการติดตั้งยางระหว่างวงกบกับประตู ซึ่งนอกจากช่วยกันการรั่วซึมแล้ว ยังปกป้องผู้ใช้งานจากอุบัติเหตุประตูหนีบที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ


หากใครสนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทีปุ่มด้านบนเลย