fbpx

Author Archives: GRANTScreativeWe40

Introduction to Doors & Windows รู้จักรูปแบบของบานประตู-หน้าต่าง

Introduction to Doors & Windows รู้จักรูปแบบของบานประตู-หน้าต่าง

ประตู-หน้าต่างคือส่วนประกอบพื้นฐานที่สุดของบ้าน แต่เพราะดูเป็นเรื่องง่าย หลายคนก็เลยละเลย ทั้งที่จริงแล้วประตู-หน้าต่างคือผู้ช่วยสำคัญที่เสริมลุกให้ตัวบ้านเข้ากับคอนเซ็ปต์ที่ออกแบบไว้ และยังช่วยครีเอตรูปแบบของพื้นที่ตามฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต้องการอีกต่างหาก

ทีนี้พอจะต้องเลือกประตูและหน้าต่างก็เริ่มคิดไม่ออกแล้วว่า ควรจะเริ่มต้นจากตรงไหน เรามาไล่ดูประตู-หน้าต่างแต่ละแบบกันดีกว่า ในที่นี้เราเลือกแบ่งประเภทตามรูปแบบการเปิด แล้วค่อยๆ ดูไปทีละตัวว่าถูกใจกับหน้าตาหรือฟังก์ชั่นการใช้งานของตัวไหน แล้วเรื่องดีไซน์ก็จะตามมาได้เอง

บานเปิด (Swing Door) บานเปิดแบบธรรมดาสามัญที่สุด ความพิเศษที่เกิดขึ้นจึงอยู่ที่วิธีการดีไซน์หน้าบานให้เข้ากับสไตล์ของบ้านและระดับความเป็นส่วนตัวที่ต้องการ ข้อดีจึงอยู่ที่ใช้งานง่าย เปิดออกได้สุดบาน แต่ต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องระยะเปิดว่าจุดที่จะเปิดบานต้องไม่มีอะไรกีดขวาง และเมื่อเปิดหน้าบานทิ้งไว้แล้วไม่ไปขวางพื้นที่อื่น

บานเปิดแบบคู่ (Swing Bifold Door) บานเปิดแบบคู่ถูกแบ่งครึ่งออกเป็นสองบาน ประหยัดระยะเปิดที่ไม่ต้องกว้างเท่ากับบานเปิดสะวิงแบบเดี่ยว หรือหากต้องการไซส์แบบบานสะวิงธรรมดา ก็จะได้ทางเข้าห้องที่ใหญ่ขึ้นอีกแบบดับเบิ้ล แต่พอมีสองบาน การติดตั้งหน้าบานจะต้องทำงานเบิ้ลขึ้นเป็นสองเท่าจากหน้าบานเดี่ยว และจะต้องติดตั้งระยะบน-ล่างให้เท่ากันทั้งสองบานเพื่อให้งานดูเรียบร้อยสวยงาม

เครดิตภาพ : mydomaine

บานหมุน (Pivot Door) ประตูแบบบานหมุนมักพบใช้เป็นส่วนกั้นแบ่งและเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างสองห้องมากกว่าที่จะใช้เป็นประตูทางเข้าหลัก นั่นก็เพราะจุดหมุนซึ่งอยู่ตรงกลางทำให้บานเปิดหมุนออกได้เพียง 90 องศา จึงมักใช้หน้าบานตั้งแต่ 2 บานขึ้นไปเพื่อเปิดระยะผ่านเข้าออกให้กว้างขวางขึ้น แต่หากใช้บานเดียวสำหรับเป็นทางเข้าออกก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องควบคุมบาลานซ์ของหน้าบานจากจุดหมุนที่ต้องเลื่อนไปใกล้ขอบบานประตูมากขึ้น ซึ่งควรปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้คำนวณระยะและการติดตั้งให้

เครดิตภาพ : archdaily

บานหมุนแนวนอน (Vertical Pivot Window) บานหมุนแบบแนวนอนถูกนำมาใช้กับหน้าต่างสำหรับระบายอากาศ เพราะมุมที่เปิดออกทำได้มากที่สุดเพียง 90 องศา ซึ่งหากติดตั้งอุปกรณ์ล็อกที่หนาแน่น ก็จะสามารถปรับระดับองศาการเปิดที่ต้องการได้

เครดิตภาพ : hannaskoog

บานเฟี้ยม (Accordian Door) ข้อดีของบานเฟี้ยมที่สามารถเปิดออกได้เพื่อเชื่อมบริเวณทั้งสองพื้นที่เข้าด้วยกันโดยไม่มีอะไรขวางกั้น ทำให้นิยมใช้บานเฟี้ยมกับห้องที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สวน และพื้นที่ภายในห้องที่มีขนาดจำกัด แต่การติดตั้งบานเฟี้ยมแนะนำให้ควรติดตรึงไว้กับทั้งรางทั้งเหนือบานและบนพื้น เพื่อป้องกันหน้าบานแกว่งเมื่อต้องเปิดปิดบ่อยๆ ส่งผลถึงเรื่องอายุการใช้งานและอันตรายอื่นๆ ที่อาจตามมา

บานเลื่อนแบบแขวน (Top-Hung Sliding Door) บานเลื่อนแบบแขวนให้ลุกแบบโรงนา ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องทำรางบนพื้น เมื่อเปิดหน้าบานออกจึงราบเรียบเสมอกันทั้งสองห้อง ไม่มีการเดินสะดุด แต่ข้อเสียก็คือ หากบานประตูหนักมากและตัวแขวนด้านบนรับน้ำหนักได้ไม่ดี รวมทั้งการเปิดปิดบ่อยๆ แรงๆ ก็อาจทำให้หน้าบานตกเร็ว

เครดิตภาพ : studiomunge

บานกระทุ้ง (Awning) เพียงย้ายบานพับจากด้านข้างขึ้นไปไว้ด้านบน หน้าต่างบานเปิดธรรมดาก็กลายเป็นหน้าต่างบานกระทุ้งแล้ว หน้าต่างแบบนี้เหมาะสำหรับใช้ระบายอากาศ และป้องกันแสงสะท้อนจากแดดจัดของวัน ข้อแนะนำสำคัญคือควรติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ เช่น บานพับและขอสับให้แข็งแรงมากๆ เพราะบานพับเป็นตัวรับน้ำหนักเพียงตัวเดียวของหน้าบาน

บานชัตเตอร์ (Shutter Window) บานชัตเตอร์มักพบมากกับการใช้หน้าบานเป็นเกล็ดไม้ เพื่อความโปร่งโล่ง และสามารถระบายอากาศร้อนขึ้นด้านบนออกสู่ซี่ระหว่างเกล็ดไม้ได้ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นที่แบ่งระหว่างส่วนในบ้านกับพื้นที่สวนนอกบ้าน บานชัตเตอร์ประกอบด้วยส่วนรับน้ำหนักสองส่วน ได้แก่ ส่วนบานพับและรางด้านข้างสำหรับขัดกำกับความสูงของการเปิด จึงควรเลือกอุปกรณ์ล็อกให้แข็งแรง

เครดิตภาพ : pinterest

บานเกล็ด (Louver Window) บานเกล็ดกระจกแบบหมุนเป็นประเภทของหน้าต่างบานเกล็ดที่เราคุ้นเคยกันดี แต่แท้จริงแล้วบานเกล็ดยังรวมถึงไม้ และวัสดุอื่นได้อีก ฟังก์ชั่นหลักของบานเกล็ดคือใช้ระบายอากาศภายในห้อง โดยบานเกล็ดจะมีข้อจำกัดเรื่องความกว้างเนื่องมาจากน้ำหนักของกระจก ถ้ายิ่งกว้างมาก น้ำหนักมาก อุปกรณ์ประกอบก็ยิ่งต้องหนาแน่นมาก แต่ข้อเสียของบานเกล็ดคือถอดง่าย จึงอาจไม่ปลอดภัยนักหากต้องติดตั้งกับงานภายนอกบ้าน

เครดิตภาพ : wearefound

บานฟิกข้างประตูทางเข้าหลัก (Sidelights) นอกจากบานหน้าต่างแบบที่เปิดได้แล้ว ยังมีบานกระจกหรือบานหน้าต่างแบบติดตรึง หรือที่เรียกว่าบานฟิกอีก ซึ่งใช้สำหรับเป็นพื้นที่รับแสงธรรมชาติจากนอกบ้านเข้ามาสร้างแสงสว่างภายในบ้าน โดยนอกจากบานฟิกธรรมดาแล้ว บานฟิกที่ติดอยู่ข้างประตูบ้านหลักยังมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Sidelights แต่เดิมเป็นช่องสำหรับมองออกไปนอกบ้าน แต่ปัจจุบันซึ่งสามารถใช้กระจกเป็นวัสดุประตูได้ ก็ยังมีการติดตั้งกรอบบานฟิกข้างประตูทางเข้าหลักเพื่อความสวยงาม และเปิดมุมมองการรับแสงจากภายนอกให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก

เครดิตภาพ : homestratophere

บ้านธรรมดาบนความสุขขั้นพื้นฐาน

บ้านธรรมดาบนความสุขขั้นพื้นฐาน

บ้านที่ไม่ใช่บ้านของใครคนหนึ่ง การทำให้ทุกคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รู้สึกอบอุ่นได้เหมือนกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

Location: ศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมเครือซิเมนต์ไทยท่าหลวง, สระบุรี

Architect: หน่วยงาน CDO “Creative & Design Office”

โดยคุณอัครริน สมกิจรุ่งโรจน์

Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

หากจะกล่าวถึงคำว่า ‘อยู่สบาย’ ที่บ้านทุกหลังพึงมี การออกแบบทุกพื้นที่ของบ้าน เป็นสิ่งสำคัญที่จะเพิ่มความสุขให้การใช้ชีวิตภายใต้สถาปัตยกรรมแสนอบอุ่นได้ไม่น้อย เช่นเดียวกันกับบ้านหลังนี้ บ้านสองชั้นที่ตั้งอยู่ท่ามกลางความเขียวชะอุ่มของบริบทภายในศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมเครือซิเมนต์ไทย ฝีมือการออกแบบของหน่วยงาน CDO “Creative & Design Office” โดยมี “คุณอัครริน สมกิจรุ่งโรจน์” สถาปนิกผู้ออกแบบบ้านหลังนี้โดยใส่ ‘ความโปร่งโล่ง’ และบรรยากาศสบายๆ สำหรับผู้อยู่อาศัยคนสำคัญขององค์กร ที่มักจะมีการหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา

“บ้านหลังนี้ เป็นหนึ่งในบ้านพักสำหรับพนักงานระดับสูงของบริษัท Siam Cement Group ซึ่งส่วนใหญ่มีสมาชิกของครอบครัว และแขกแวะมาเยี่ยมเยียนอยู่เสมอ สิ่งสำคัญคือ เจ้าของบ้านจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อถึงเวลาที่เจ้าของบ้านถูกปรับตำแหน่ง เราไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่า ความชื่นชอบของแต่ละคนเขาเป็นอย่างไร” ความท้าทายในการออกแบบที่คุณอัครรินเริ่มต้นเล่าให้เราฟัง การหาจุดร่วมของการออกแบบที่ให้เจ้าของบ้านในแต่ละช่วงเวลารู้สึกว่าบ้านอยู่สบาย และสามารถตอบโจทย์การต้อนรับแขกได้ ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้บ้านออกมามีส่วนนั่งเล่นและรับแขกที่กว้างขวาง ในรูปแบบเรียบง่ายและในสไตล์ที่เป็นกลางมากที่สุด

โปร่งแสงและยินดีต้อนรับธรรมชาติ สำหรับการออกแบบพื้นที่ภายในนั้น สถาปนิกได้ออกแบบ Double space หรือพื้นที่เปิดโล่งถึงชั้นสอง ไว้ใจกลางของบ้าน บวกกับวางผังแบบ Open plan เชื่อมต่อทุกฟังก์ชันอย่างห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัวเข้าด้วยกัน การออกแบบช่องเปิดขนาดใหญ่สูงจรดฝ้าเพดานตลอดแนวนั้น และด้วยความที่ทิศหน้าบ้านเป็นทิศเหนือ ทำให้สามารถเปิดรับแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่ สัมผัสถึงความปลอดโปร่งมากขึ้น และรองรับแขกผู้มาเยือนเป็นหมู่คณะได้แบบสบายๆ

ห้องรับประทานอาหารและห้องครัวของบ้าน ที่กว้างขวางและมีความเชื่อมต่อกัน

Section แสดงพื้นที่ภายในบ้านแบบ Double Space ทำให้ภายในบ้านโปร่งโล่ง

จากพื้นที่โถงบันไดขึ้นมายังชั้นสอง จะพบกับทางเดินที่เป็นเสมือนสะพานเชื่อมต่อไปยังห้องนอนฝั่งซ้ายและขวา และเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่โถงบันไดที่สามารถสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวได้ทั่วถึง นอกจากนี้ยังสามารถสัมผัสธรรมชาติจากสวนหย่อมกลางผ่านหน้าต่างบานกว้างได้อีกด้วย

สัมผัสการอยู่อาศัยที่สบาย ผ่อนคลาย และรู้สึกปลอดโปร่งด้วยพื้นที่ที่ออกแบบมาอย่างกว้างขวาง

นอกเข้ม ในอ่อน เนื่องจากบ้านหลังนี้ ไม่ใช่บ้านของใครคนหนึ่ง การทำให้ทุกคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน รู้สึกอบอุ่นได้เหมือนกันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย สถาปนิกจึงเลือกใช้โทนสีเข้มที่ภายนอก เพื่อให้ภาพลักษณ์ภายนอกของบ้านดูสุขุมตามแบบฉบับผู้บริหาร ซึ่งแตกต่างจากภายในที่ใช้โทนสีอ่อน อย่างสีขาวสะอาดของผนัง จับเข้าคู่กับไม้สีอ่อน เพราะเป็นสีพื้นฐานที่สามารถเข้ากับทุกคนได้ รวมถึงสร้างความสบายตา ผ่อนคลาย หลังจากเหนื่อยล้ากลับมาจากการทำงาน

สัมผัสธรรมชาติทุกพื้นที่ ด้วยบริบทรอบด้านที่เต็มไปด้วยพื้นที่สีเขียวของสนามหน้าบ้าน และสวนหย่อมส่วนกลางของศูนย์พัฒนาและฝึกอบรมเครือซิเมนต์ไทยท่าหลวง เพื่อเพิ่มความพิเศษให้กับทุกพื้นที่ภายในบ้านได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น สถาปนิกจึงเป็นผู้ออกแบบขนาดและกำหนดตำแหน่งช่องเปิด-ปิด ไม่ว่าจะเป็นประตู หรือหน้าต่างเองทั้งหมด  จึงเป็นเหตุผลที่เลือกใช้แบรนด์ TOSTEM ประตูหน้าต่างอะลูมิเนียมที่นอกจากจะสามารถออกแบบขนาดตามต้องการได้แล้ว รูปแบบยังมีความหลากหลาย มีเส้นสายที่สวยงาม เรียบง่ายเข้ากับรูปแบบของบ้านได้เป็นอย่างดี

อย่างกระจกเข้ามุมที่สถาปนิกออกแบบไว้ในห้องนอนด้านหน้าของบ้าน ตั้งใจออกแบบเพื่อเปิดสู่ธรรมชาติภายนอกได้อย่างเต็มที่ ก็ออกมาสวยงามลงตัว ไม่ต้องกังวลเรื่องของความรั่วซึมเพราะด้วยมาตรฐานจากญี่ปุ่น ทำให้ TOSTEM เป็นบานประตูหน้าต่างที่เหมาะกับการใช้งานกับบ้านหลังนี้

ห้องนั่งเล่นที่เพิ่มลูกเล่นด้วยการออกแบบ Skylight โดยกำหนดขนาดความยาวกระจกให้พอเหมาะกับพื้นที่นั่งเล่นบนเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวอย่างโซฟา

“TOSTEM ตอบโจทย์เรื่องการป้องกันน้ำฝนรั่วผ่านรอยต่อของประตูหน้าต่างได้ดี ด้วยการคิดค้นและดีไซน์อย่างละเอียดละออพร้อมระบบการผลิตอะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐาน ผู้อยู่อาศัยจึงไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องของการรั่วซึมเลย และส่วนใหญ่ผู้บริหารก็ไม่ได้อยู่บ้านตลอด ระหว่างนั้นก็มั่นใจได้เลยว่าบ้านจะปลอดภัย เพราะมีระบบล็อคอัจฉริยะหลายชั้น จึงเหมาะสมมากที่จะนำมาใช้กับบ้านพักในทุกๆหลัง” คุณอัครริน เล่าถึงที่มาของประตูบานเลื่อนขนาดใหญ่รอบบ้าน

ล็อคแบบก้านโยกแบบพิเศษเฉพาะของ TOSTEM

ระบบล็อคเสริมแบบพิเศษสำหรับประตูบานเลื่อนเฉพาะของ TOSTEM

เพื่อรองรับการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างเป็นกันเอง ประตูบานเปิดนี้ก็ทำหน้าที่เชื่อมต่อกับเฉลียงรอบบ้านได้เป็นอย่างดี ในขณะที่เปิดเพื่อรับลมธรรมชาติเข้าสู่พื้นที่ภายใน ตอบโจทย์ในเรื่องการอยู่อาศัยที่สบาย ผ่อนคลายอีกด้วย

ความรู้สึกโปร่งโล่งที่เกิดขึ้นกับทุกพื้นที่ภายในบ้าน มองไปทางใดก็ผ่อนคลายสายตา แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานของการออกแบบบ้านทุกๆหลัง แต่สำหรับความท้าทายในการออกแบบบ้านที่พร้อมมอบความสุข ความอยู่สบายให้กับผู้อยู่อาศัยในระดับบริหารแล้ว การสะท้อนภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูดี พร้อมภายในที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างเป็นมิตร ก็ถือว่าสถาปัตยกรรมที่นี้ทำหน้าที่ตอบโจทย์ความต้องการได้เป็นอย่างดี

ขอขอบคุณ

“Creative & Design Office” : โดยคุณอัครริน สมกิจรุ่งโรจน์

“ทึบนอกโปร่งใน” กับการเชื่อมต่อพื้นที่ “เก่าและใหม่” ด้วยธรรมชาติ

“ทึบนอกโปร่งใน” กับการเชื่อมต่อพื้นที่ “เก่าและใหม่” ด้วยธรรมชาติ

“ปฏิสัมพันธ์ระหว่างของความเรียบง่าย และความปลอดโปร่ง”

Location: แยกรินคำ, จังหวัดเชียงใหม่ Owner: อมรศักดิ์ – วนิดา ปัญสุรินทร์ Architect: สุเมธ กล้าหาญ, พงศกร ณ พัทลุง และ พิสิฐ ฟุ้งสุข แห่ง Materior Studio Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

“เมื่อความเป็นส่วนตัวและความรู้สึกโปร่งโล่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่อาศัย ความท้าทายที่จะสร้างสรรค์ให้ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างลงตัวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก” หนึ่งเหตุผลที่ทำให้เจ้าของบ้านอย่าง คุณอมรศักดิ์ และ คุณวนิดา ปัญสุรินทร์” ไว้ใจให้คนคุ้นเคยอย่าง คุณสุเมธ กล้าหาญ” ที่เป็นทั้งลูกเขยและสถาปนิกจาก Materior Studio มาเติมเต็มบ้านหลังใหม่ ที่ภายนอกปกคลุมไปด้วยผนังสีขาวทึบอันเรียบง่าย แต่ภายในกลับเผยบรรยากาศอันร่มรื่นของธรรมชาติอันปลอดโปร่ง และยังคงเชื่อมต่อกับบ้านหลังเก่าได้อย่างมีความสุข

คุณสุเมธ กล้าหาญ จาก Materior Studio

บ้านสีขาวสองชั้นที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ เป็นบ้านหลังใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่ต้องการขยับขยายพื้นที่อยู่อาศัยจากบ้านทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้นเดิม เพื่อรองรับการใช้งานของสมาชิกที่อายุมากขึ้น โดยทั้งสองได้ตัดสินใจซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ที่อยู่ด้านหลังของบ้านหลังเดิมที่อาศัยอยู่ และหวังใจว่าจะรีโนเวทบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ในอนาคต

บ้านทาวน์เฮาส์หลังเดิมที่คุณคุณอมรศักดิ์ และ คุณวนิดา ปัญสุรินทร์ อยู่อาศัย

บ้านที่มาพร้อมที่ดินด้านหลังบ้านที่อยู่อาศัยเดิม

แทนที่ใหม่ แล้วเชื่อมไปเก่า

แต่ทว่าบ้านเก่าบนที่ดินผืนใหม่นั้นมีอายุมากกว่า 30 ปี โครงสร้างจึงค่อนข้างทรุดโทรม หากรีโนเวทอาจส่งผลกระทบในภายหลัง สถาปนิกจึงตัดสินใจทุบทิ้งและออกแบบบ้านหลังใหม่แทนที่ รวมถึงออกแบบทางเดินและคอร์ทยาดขนาดใหญ่ใจกลางระหว่างพื้นที่บ้านเก่าและใหม่ สร้างร่มเงาให้กับพื้นที่และเชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในบ้านให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน

ทึบนอก แต่โปร่งใน

เมื่อมองภาพภายนอกของบ้านที่ถูกปกคลุมไปด้วยผนังสีขาวอันเรียบง่าย แต่ละด้านมีช่องเปิดไม่มากนัก ทำให้เราค่อนข้างประหลาดใจเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน เพราะกลับให้ความรู้สึกกว้างขวาง โปร่งโล่ง และร่มรื่นจากพื้นที่สีเขียวที่รายล้อมอยู่ทุกๆมุมมอง ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ คือความตั้งใจของสถาปนิกที่ออกแบบภายนอกให้ทึบ เพื่อป้องกันแสงแดดและเพิ่มความเป็นส่วนตัว ส่วนภายในเปิดรับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่

พื้นที่ชั้น 1 ถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่ทำงาน และพื้นที่จัดเตรียมอาหาร จัดวางในรูปแบบ Open plan และด้วยโครงสร้างแบบไร้เสา(Long Span) ที่ยาวถึง 8 เมตร ทำให้พื้นที่ดูกว้างขวางเป็นพิเศษ มีประตูอะลูมิเนียมบานเลื่อนกว้างในทิศทางที่เข้าสู่สวนใจกลางบ้านในทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นทิศที่ลมพัดผ่าน อากาศจึงถ่ายเทได้สะดวก เมื่อเปิดทั้งหมดจะให้ความรู้สึกโปร่งโล่งอยู่สบาย และสามารถเชื่อมต่อไปยังบ้านเก่าได้

แปลนบ้านชั้น 1 และ ชั้น 2

ซึ่งข้อดีของการจัดพื้นที่กว้างแบบนี้ นอกจากทำให้รู้สึกถึงความโปร่งโล่งแล้ว ยังสามารถต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างเต็มที่ และช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เกิดขึ้นผ่านกิจวัตรประจำวันของตน เพราะในขณะที่คุณอมรศักดิ์นั่งทำงาน คุณวนิดาก็สามารถทำอาหารได้ ไปพร้อมกับพูดคุยซึ่งกันและกัน

ส่วนส่วนเซอร์วิสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงจอดรถ ห้องน้ำ หรือบันได ถูกออกแบบไว้ในทิศตะวันตกที่มีแดดส่องตลอดวัน เพื่อช่วยลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ห้องนั่งเล่น พร้อมทั้งเปิดช่องแสงเท่าที่จำเป็นอย่างในห้องน้ำและชานพักบันได เพื่อถ่ายเทอากาศและสร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย

จะสังเกตได้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีการเปลี่ยนระดับน้อยมาก ทั้งนี้เพื่อรองรับการใช้งานของเจ้าของบ้านที่อายุมากขึ้นนั่นเอง ในขณะที่ชั้นสอง มีห้องนอนเพิ่มเติมสำหรับลูกสาว คุณสุเมธและหลานชายตัวน้อยในวัยที่ซุกซน

ภายในถูกตกแต่งอย่างเรียบง่าย ด้วยผนังสีขาวสะอาดตาตามความชื่นชอบของเจ้าของบ้าน ผสานกับพื้น ประตูและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่เพิ่มเติมบรรยากาศภายในบ้านให้ดูอบอุ่นมากยิ่งขึ้น

ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านและธรรมชาติ

การออกแบบสวนใจกลางบ้านทำให้พื้นที่ภายในห้องนั่งเล่นเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเปิดรับแสงและลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาอย่างเต็มที่ได้ตลอดทั้งวัน โดยภายในสวนนั้นสถาปนิกเลือกปลูกต้นปีบ เพราะมีลำต้นที่สูง เมื่อมองจากภายในบ้านออกมาจะเห็นเพียงลำต้นให้ความรู้สึกโปร่งโล่งมากกว่า ในขณะที่ได้ร่มเงาและความร่มรื่นจากพุ่มด้านบนอย่างทั่วถึง

ช่องเปิดของพื้นที่ห้องนั่งเล่นมีการติดตั้งแผงบานเกล็ดอะลูมิเนียม ที่สามารถเลื่อนเปิดเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเชียวภายในบ้าน  หรือเลื่อนปิดเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวได้ ทำหน้าที่เสมือนเหล็กดัดเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บ้านด้วย

นอกจากคอร์ทยาดขนาดใหญ่ใจกลางบ้านแล้ว ภายในพื้นที่ต่างๆของบ้าน ยังสอดแทรกพื้นที่สวนหินเล็กๆ ตามมุมมองต่างๆ โดยการออกแบบบานหน้าต่างกระจกที่มีขนาดกว้าง เพื่อเชื่อมทุกๆพื้นที่ภายในบ้านให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาในเวลากลางวันได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

“สำหรับเรื่องการเลือกใช้วงกบประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม เราตั้งใจเลือกใช้ TOSTEM โดยเฉพาะ เพราะนอกจากเรื่องคุณภาพของการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกที่ทำให้เจ้าของบ้านมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นแล้ว ยังมีการดีไซน์ที่เรียบง่ายตอบโจทย์ ทำให้บ้านดูสวยงามลงตัว อีกทั้งพื้นที่ห้องนั่งเล่นที่มีความยาวของช่องเปิดมากเป็นพิเศษ (ประมาณ 8 เมตร) TOSTEM ก็สามารถออกแบบให้ตรงกับความต้องการได้อย่างมีคุณภาพ” คำตอบของคุณสุเมธ เมื่อเราถามถึงช่องเปิดต่างๆภายในบ้าน

Tip: ในกรณีที่การออกแบบบานประตูหน้าต่างมีลักษณะพิเศษ อย่างบ้านหลังนี้ ที่มีความยาวที่มากกว่าปกติ ควรส่งแบบไปปรึกษาทีม TOSTEM ซึ่งทางทีมจะช่วยออกแบบลักษณะการเปิดปิด หรือดีเทลต่างๆของการใช้งานของบ้านหลังนั้นๆให้อย่างเหมาะสมที่สุด

ถึงแม้ช่องเปิดจะกว้างจนมีขนาดเท่ากับความกว้างของกำแพง แต่ TOSTEM ก็สามารถออกแบบมาได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งระบบลอค 3 ชั้น ที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้านหลังนี้อีกด้วย

“เมื่อก่อนอยู่ทาวน์เฮาส์ พื้นที่จะถูกแบ่งเป็นชั้นๆ การใช้งานถูกตัดขาดกันโดยสิ้นเชิง แต่พอย้ายมาอยู่บ้านใหม่ มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์กิจกรรมของแต่ละคน ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมต่อในพื้นที่เดียวกันได้” คุณสุเมธกล่าวทิ้งท้ายกับเรา เมื่อถามความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในครอบครัว ที่นอกจากจะทำให้รู้สึกบ้านโปร่ง โล่ง อยู่สบายแล้ว ยังช่วยก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวผ่านการออกแบบบ้านภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติ

เคล็ดลับดีไซน์หน้าบานประตู-หน้าต่างสไตล์โมเดิร์น

เคล็ดลับดีไซน์หน้าบานประตู-หน้าต่างสไตล์โมเดิร์น

โมเดิร์นในความเข้าใจของทุกคน คือความเรียบง่ายสบายตา แต่ในแง่มุมของงานดีไซน์ ความเรียบง่ายสามารถตีความได้หลายทางไม่เพียงแค่การใช้เส้นสาย สีขาว-ดำ หรือวัสดุแบบอุตสาหกรรม แต่คือการนำทุกองค์ประกอบเหล่านี้มารวบรวมเพื่อสร้างงานออกแบบที่ทำให้โมเดิร์นกลายเป็นสไตล์ที่ไม่มีวันเบื่อ เราจึงขอพาคุณมาพบกับเคล็ดลับการออกแบบหน้าบานประตู-หน้าต่างสไตล์โมเดิร์นแบบง่ายๆ แต่รับรองว่าสวยมาก

บานประตู เต็มความสูงผนัง เคล็ดลับแรกคือ การใช้หน้าบานสำหรับประตูและหน้าต่างสูงเต็มความสูงผนังจากพื้นจรดฝ้า เส้นตรงแนวดิ่งเช่นนี้จะช่วยเสริมให้ห้องดูสูงโปร่ง และเป็นเส้นนำสายตาให้ดูโมเดิร์นได้เป็นอย่างดีในทุกวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นประตูไม้แบบเต็มแผ่น หรือกรอบบานอะลูมิเนียมกรุกระจกก็เลือกใช้ได้ตามดีไซน์และความต้องการของห้อง ภาพจาก futuristarchitecture

เส้นสายน้อยที่สุด เส้นสายของความโมเดิร์นมักมาจากวัสดุสีเข้มอย่างเหล็กซึ่งเป็นจุดตั้งต้นของงานโมเดิร์น และพอมาถึงในยุคนี้ก็มีวัสดุที่ทดแทนเหล็กได้อีก เช่น อะลูมิเนียมซึ่งขยายขอบเขตของสีสันได้มากขึ้นอีก เส้นสายสีเข้มเหล่านี้นำมาล้อมกรอบแล้วกรุตรงกลางด้วยกระจกหรือวัสดุสีเดียวพื้นผิวเกลี้ยง นี่แหละคือโมเดิร์นขนานแท้ ภาพจาก archdaily

แบ่งเส้นเป็นจังหวะ ความสม่ำเสมอเท่าเทียมก็เป็นอีกซิกเนเจอร์ของงานโมเดิร์น การกำหนดแพตเทิร์นหรือจังหวะของเส้นสายให้สม่ำเสมอกันก็เป็นการสร้างจังหวะให้ห้องแบบโมเดิร์นดูมีลูกเล่นมากขึ้น ความสม่ำเสมอนี้ร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวได้ทั่วทั้งห้องผ่านทั้งประตูและหน้าต่างด้วยการใช้แพตเทิร์นที่มีสัดส่วนหรือขนาดเท่ากัน ภาพจาก contemporist

วัสดุอุตสาหกรรม ยุคโมเดิร์นเกิดขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้นวัสดุที่สื่อถึงความเป็นโมเดิร์นจัดๆ อย่างกระจกหรือเหล็กจึงเป็นคาแร็กเตอร์ที่สำคัญของงานโมเดิร์น การมิกซ์แอนด์แมทช์วัสดุหลายๆ รูปแบบด้วยกันด้วยเส้นสายแบบง่ายๆ จึงเป็นความท้าทายพร้อมกับความสนุก หรือจะใช้ไม้มาเป็นอีกวัสดุที่ช่วยเบรกให้บรรยากาศดูนุ่มนวลขึ้นก็ได้ แถมยังไปได้ดีกับวัสดุเข้มๆ แบบเหล็กหรืออะลูมิเนียมอีกต่างหาก ภาพจาก juutakudesign

กระจกใส หัวใจของยุคโมเดิร์น พูดถึงโมเดิร์นก็ต้องนึกถึงกระจก เพราะเป็นยุคที่มาพร้อมกับความโล่งโปร่งสบาย แต่ถ้าหากประตูของบ้านจำเป็นต้องปิดทึบเพื่อความปลอดภัย เพียงติดตั้งกระจก sidelight เอาไว้อยู่ข้างบานหลัก เพื่อความปลอดโปร่งและเป็นตัวแทนของความโมเดิร์น โดยอาจใช้กรอบหน้าบานสอดคล้องไปกับประตูบานทึบด้านข้างก็ได้ทั้งสไตล์และฟังก์ชั่นการใช้งาน ภาพจาก beckiowens

ประตูเท่ากับผนัง เส้นสายน้อยเส้น คือหัวใจของงานโมเดิร์น การรวบฟังก์ชั่นของผนังมาเป็นประตูจึงเหมาะสำหรับบ้านที่มีหน้าบ้านแคบและเป็นลูกเล่นที่สนุกสนานของงานดีไซน์ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของกรอบบานประตูและอุปกรณ์ประกอบประตู รวมทั้งการคำนวณน้ำหนักบานให้เหมาะสมกับอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย เพื่อการใช้งานอย่างสะดวกแล้วยังป้องกันประตูทรุดจากน้ำหนักมากเกินไปอีกด้วย ภาพจาก gessato

ทุกหน้าบานคืองานดีไซน์ ความสนุกของงานออกแบบคือความชาญฉลาดในการปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นขององค์ประกอบภายในห้อง บานประตูก็เป็นอีกส่วนที่สามารถเล่นสนุกได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่นหน้าบานสไลด์กรอบไม้กรุกระจก เมื่อเลื่อนไปแล้วสามารถเป็นกรอบให้กับบานของชั้นวางของได้ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จำเป็นต้องดีไซน์ล่วงหน้าเพื่อให้ทุกส่วนสวมกันได้พอดีกัน ทั้งส่วนเฟอร์นิเจอร์บิลท์อินและหน้าบานประตู ภาพจาก remodelista

ออกแบบบานเปิดอย่างไรไม่ให้บ้านร้อน

ออกแบบบานเปิดอย่างไรไม่ให้บ้านร้อน

เมืองไทยกับอากาศร้อนเป็นของคู่กัน ทางเลือกสำหรับบ้านจึงเป็นการเปิดช่องหน้าต่าง แต่การเปิดบานหน้าต่างสำหรับบ้านในเมืองไทยก็เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะขณะเดียวกับที่ได้ระบายอากาศร้อน บางครั้งก็เป็นการรับไอร้อนและแสงแดดที่จ้าเกินไปเข้าสู่ตัวบ้านเช่นกัน การเลือกตำแหน่ง วิธีการเปิด และจำนวนของบานเปิดจึงควรมีเคล็ดลับเพื่อให้หน้าต่างบานนี้ทำงานได้อย่างเต็มที่ทั้งในเชิงฟังก์ชั่นและความงามให้กับตัวบ้าน

ความรู้เบื้องต้นเพื่อบ้านเย็นลง

“ไอความร้อน” และ “การระบายอากาศ” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้บ้านไม่ร้อน ข้อแรกที่ควรต้องทราบคือ คุณสมบัติของความร้อนที่จะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นหากความร้อนที่ลอยตัวขึ้นไปใต้ฝ้าได้ถูกระบายออกบ้านก็จะเย็นลง และอีกส่วนคือลมที่พัดผ่านเข้าสู่ตัวบ้าน ซึ่งจะทิศทางที่ดีที่สุดที่ทำให้บ้านเย็นคือทิศทางที่อยู่ตรงข้ามกันพอดี เพราะลมจะเข้าบ้านก็ต่อเมื่อมีทางระบายออกอีกทาง

หนึ่งห้องควรมีบานเปิดสองด้าน

ธรรมชาติของลมที่จะไม่พัดเข้าหากพื้นที่หากมีช่องเปิดเพียงช่องเดียว นั่นก็เพราะลมเก่าภายในห้องออกไม่ได้ ดังนั้นการเจาะช่องสำหรับหน้าต่างของสองฟากผนังควรตรงกันพอดี โดยให้ทิศทางที่ลมเข้ามีขนาดหน้าบานเล็กกว่าทิศทางที่ลมออก เพื่อสอบลมให้พัดแรงขึ้น หรือหากไม่สามารถทำให้ตรงกันพอดีได้ ควรให้มีบางส่วนที่ทับเหลื่อมกัน เพื่อให้มีทางเข้า-ออกของลม อีกเรื่องที่ต้องคำนึงถึงคือ ทิศที่เลือกเจาะหน้าต่างควรเป็นไปในทิศทางเหนือ-ใต้ เพราะลมจากทิศเหนือจะพัดตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงมกราคม (4 เดือน) และลมจากทิศใต้จะพัดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกันยายน (8 เดือน) ดังนั้นทิศทางที่ดีที่สุดของการทำบานเปิดคือ บานเล็กกว่าทางทิศใต้ตรงกับบานใหญ่กว่าทางทิศเหนือ

หน้าต่างบานเปิดรับลมเต็มที่

สำหรับหน้าต่างที่ติดตั้งในทิศทางที่เหมาะสมสำหรับการรับลม เราขอแนะนำให้ติดตั้งหน้าต่างแบบบานเปิด หรือบานสไลด์ซึ่งมีพื้นที่ซ่อนเก็บหน้าบาน เพราะสามารถเปิดออกทั้งสองด้านได้อย่างอิสระ มากกว่าบานเปิดแบบเลื่อนซ้อนกันสองด้าน บานเลื่อนขึ้นลง หรือบานกระทุ้ง นับเป็นการใช้ช่องเปิดที่เจาะและออกแบบมาแล้วให้เกิดฟังก์ชั่นเรื่องการรับลมสูงสุด และทางที่ดีควรติดตั้งมุ้งลวดซ้อนไปอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันแมลงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ตัวบ้านขณะเปิดหน้าบาน เหลือเพียงลมเย็นสบายและแสงธรรมชาติเอื้อเข้าสู่ตัวบ้านได้ตามต้องการ หรือหากต้องการเพิ่มความปลอดภัยก็สามารถติดตั้งเหล็กดัดเพิ่มเติมได้อีก

หน้าต่างทรงสูง

สำหรับบ้านดีไซน์โมเดิร์น อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือหน้าต่างทรงสูงเท่าบานประตูหรือสูงจรดฝ้าเพดาน โดยแบ่งบางช่วง เช่น ช่วงบานหน้าต่างแบบเปิดหรือบานกระทุ้งสูงจากพื้น 85 เซนติเมตร ที่เหลือเป็นบานแบบฟิก ก็ช่วยให้อากาศระบายได้ดี และมีแสงธรรมชาติส่องเข้าได้ตลอดทั้งวัน

บานเกล็ดกับผนังหายใจได้

บานเกล็ดสามารถติดตั้งได้ทั้งกับผนังส่วนภายนอกบ้านเป็นเหมือนกับผนังหายใจได้ และเป็นพาร์ทิชั่นกั้นแบ่งระหว่างสองพื้นที่ภายในบ้าน โดยไม่สูญเสียการหมุนเวียนอากาศภายในบ้าน หรือในบางพื้นที่ที่ไม่สามารถติดตั้งบานหน้าต่างแบบเปิดหรือเลื่อนตามปกติได้จากเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัว บานเกล็ดคือทางเลือกที่ดี เพราะสามารถเลือกเปิดปิดเพื่อระบายอากาศได้ และสามารถติดตั้งมู่ลี่เพิ่มเติมได้หากต้องการความเป็นส่วนตัวขึ้นอีก

บานกระทุ้งคู่บานหน้าต่างหลัก

จากภูมิปัญญาของบ้านเรือนไทยที่มักจะมี “หย่อง” หรือแผงไม้ลายฉลุโปร่งสำหรับระบายความร้อนเมื่อปิดบานหน้าต่างทึบติดตั้งอยู่ใต้บานหน้าต่าง ประยุกต์ให้เข้ากับบ้านสมัยใหม่ด้วยการใช้หน้าต่างบานกระทุ้งความสูงประมาณ 20-25 เซนติเมตร ติดตั้งคู่กับบานหน้าต่างหลัก พอดีกับที่สามารถเปิดออกเพื่อระบายอากาศได้ โดยไม่เกิดอันตรายจากการบุกรุกหรือตกหล่นกรณีอยู่ชั้นสูง หรือหากหน้าต่างอยู่ชั้นบนซึ่งไม่ได้เป็นจุดเสี่ยงต่อการบุกรุก ก็สามารถใช้หน้าต่างส่วนล่างซึ่งเป็นบานกระทุ้งให้สูงขึ้นได้อีกตามสัดส่วนความสวยงามของงานดีไซน์ช่องเปิดและสอดคล้องไปกับงานสถาปัตยกรรมภายนอก หรือจะออกแบบเป็นบานกระทุ้งขนาบข้างกับบานหน้าต่างหลักก็เกิดเป็นกริดที่สวยงามไปอีกแบบ

ระบายลมพื้นที่ใต้หลังคา

อย่างที่เล่าไปข้างต้นว่า อากาศร้อนจะลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง ดังนั้นหลายบ้านจึงมักติดตั้งบานเกล็ดซี่ถี่ๆ บริเวณใต้จั่วหลังคาหรือส่วนที่สูงที่สุดของห้อง เพื่อให้อากาศร้อนที่ลอยตัวขึ้นมีทางออกได้ ซึ่งจะส่งผลให้ภายในห้องเย็นขึ้น และอากาศก็ถ่ายเทได้ดีขึ้น แต่อาจมีความยุ่งยากตรงนี้เป็นจุดที่น้ำรั่วซึมจากหลังคาได้ง่าย จึงควรติดตั้งรอยต่อให้ปิดสนิท หรือใช้ชายคาช่วยกันน้ำก่อนในขั้นต้น

อย่าลืมป้องกันความร้อนจากภายนอก

ลำพังแค่การเปิดช่องเปิดไม่สามารถช่วยลดความร้อนได้ ด้วยสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เช่น ผนังผืนใหญ่ หรือช่องเปิดหน้าต่างทิศทางตรงกับแสงแดดพอดี จึงจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยเพื่อลดความร้อนจากแดดแรงภายนอก ได้แก่ การเบิ้ลกระจกสองชั้นหรือกระจกอินซูเลตซึ่งมีฉนวนกันความร้อน เพื่อช่วยกักเก็บความเย็นภายในบ้านให้ยาวนานขึ้น หรือการติดตั้งฟิล์มกรองแสงกันรังสีอัลตราไวโอเล็ต ลดความร้อนลงก่อนเข้าสู่ตัวบ้าน

ต่อเติมอย่างไรให้สวยงาม ทนทาน และใช้งานได้ดี

ต่อเติมอย่างไรให้สวยงาม ทนทาน และใช้งานได้ดี

ปัญหาหนักใจของหลายบ้านนอกจากเรื่องการดูแลรักษาและซ่อมแซม ก็เป็นเรื่องของการต่อเติม ถึงตอนพูดจะเป็นเรื่องง่ายว่าอยากจะเพิ่มตรงนู้นเติมตรงนี้ แต่พอต้องลงมือทำจริงๆ กลับมีหลายเรื่องที่ต้องคำนึงถึง แต่การรู้ไว้ก่อนและรอบคอบตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนต่อเติมนับเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้คุณไม่ต้องกลับมาปวดหัวทีหลังเมื่อมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นตามมา หัวข้อในวันนี้ จึงขอรวบรวมข้อควรคำนึงถึงในการต่อเติมบ้านตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการต่อเติม ไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด

1 กฎหมาย เรื่องแรกสุดที่ควรใส่ใจ

(Photo by Josh Wilburne on Unsplash)

ไม่ว่าคุณจะต้องการต่อเติมเพิ่มส่วนใดออกจากตัวบ้าน ทั้งหมดนับรวมเป็น “การดัดแปลง” ในทางกฏหมายทั้งหมด หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมจึงต้องมีกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยล่ะ ทั้งที่เป็นพื้นที่บ้านของเราเอง? นั่นก็เพราะเพื่อให้พื้นที่โดยรอบบ้านของเรามีพื้นที่เปิดโล่งสำหรับใช้เป็นเส้นทางอพยพในยามฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นการสร้างสุขลักษณะที่ดีในการอยู่อาศัย ทั้งในเรื่องการระบายอากาศและแสงสว่าง ส่วนระยะของระยะร่นสำหรับบ้านหรืออาคารพาณิชย์แต่ละประเภทนั้น สามารถตรวจสอบได้จากกฎกระทรวงฉบับ 55 เรื่องระยะร่นและระยะห่าง (ลิงค์ http://bit.ly/2PFFPdz) และอย่าลืมแจ้งข่าวคราวให้กับเพื่อนบ้านก่อนที่จะทำการต่อเติมทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ผิดใจกันอีกภายหลัง

2 ฟังก์ชั่นเรื่องใหญ่ แต่โครงสร้างก็ต้องใส่ใจด้วย

(ภาพจาก Contemporist)

แน่นอนว่าก่อนการต่อเติมจะเริ่มต้นขึ้น เราเองก็รู้แล้วว่าต้องการต่อเติมพื้นที่ใหม่เพื่อจุดประสงค์การใช้งานอย่างไร การต่อเติมเพิ่มมาจากตัวบ้านเดิมเราแนะนำให้ขึ้นโครงสร้างใหม่แยกออกจากบ้านเดิม ไม่ควรติดตรึงหรือเชื่อมต่อโครงสร้างใหม่ไว้กับโครงสร้างเดิม ควรเริ่มตั้งฐานรากและเสาสำหรับโครงสร้างใหม่เลย จากเหตุผลในเรื่องการรับแรงบวกกับการทรุดตัวของพื้นดิน ลองคิดง่ายๆ ว่าโครงสร้างบ้านหนึ่งหลังถูกคำนวณไว้เพื่อรับน้ำหนักตัวบ้านเองเท่านั้น หากมีการเพิ่มน้ำหนักจากส่วนต่อเติมเข้าไปอีกอาจทำให้โครงสร้างเดิมรับแรงกระทำไม่ไหว ส่งผลให้โครงสร้างทรุดตัวลง ไม่เพียงกับโครงสร้างใหม่ที่ต่อเติมเท่านั้น แต่ยังอาจฉุดดึงโครงสร้างเดิมให้พังไม่เป็นท่าได้ ถึงแม้จะเป็นฐานรากที่รับน้ำหนักได้เท่ากัน แต่ฐานรากของบ้านเดิมที่ผ่านการใช้งานแล้วย่อมเสื่อม

3 ตรวจเช็คสภาพอาคารเดิม

(ภาพจาก pinterest)

ก่อนจะทำการเพิ่มพื้นที่ใหม่ ควรเช็คส่วนของอาคารเดิมที่จะถูกต่อเติม ทั้งในส่วนโครงสร้างหลักและส่วนประกอบอื่นๆ หากพบเจอปัญหาที่โครงสร้างหลักควรรีบแก้ไขเพื่อสุขภาพของตัวบ้านเราเอง รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ เช่น รอยร้าวหรือการชำรุดเสื่อมสภาพของผนังอาคารเดิม ควรรีบทำการแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพราะป้องกันเอาไว้ดีกว่าแก้แน่นอน

4 เฝ้าระวังจุดเชื่อมต่อ

(ภาพจาก czmcam)

สืบเนื่องจากข้อข้างบนที่บอกว่าโครงสร้างทั้งสองห้ามติดตรึงไว้ด้วยกันโดยเด็ดขาด เรื่องสำคัญลำดับต่อมาที่ต้องใส่ใจนั่นก็คือรอยต่อระหว่างพื้นผิวของบ้านหลังเดิมและพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ส่วนหลังคาด้านบนสุดและรอยต่อระหว่างฝาผนังสองอาคารที่มักเป็นจุดรั่วซึมของน้ำฝน ซึ่งจะเข้ามาทำความเสียหายให้ภายในพื้นที่ต่อเติมใหม่ทั้งในเรื่องความชื้นและเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งจุดเชื่อมต่อทุกจุดของพื้นที่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรอบวงกบประตูหน้าต่าง หรือหลังคาชายคาบ้าน ทุกจุดที่มีการเชื่อมต่อจึงควรตรวจสอบให้ดีตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างว่ามีการเชื่อมหรือซีลด้วยการฉาบเรียบหรือยาแนวรอยต่อโพลิยูรีเทน ส่วนรอยต่อหลังคาควรมีการติดตั้งปีกนกไว้ก่อนยาแนวเพื่อช่วยบังน้ำฝนก่อนอีกขั้นหนึ่ง อย่าลืมเลือกวัสดุอุปกรณ์และวิธีการก่อสร้างที่ดีและได้มาตรฐาน

5 ฟังก์ชั่นก็มา ความงามก็ต้องมี

(Photo by Cassie Boca on Unsplash)

หลายคนที่คิดถึงการต่อเติม เรื่องฟังก์ชั่นมักจะมาเป็นอันดับแรกเสมอ จากเหตุผลที่เราต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม จนความงามถูกมองกลายเป็นเรื่องรอง แต่อย่าลืมว่า การต่อเติมบ้านไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็เป็นส่วนที่ถูกมองเห็นจากภายนอกเสมอ งานออกแบบที่เกิดขึ้นจึงควรทำให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเดิมของบ้าน ทั้งในแง่การเลือกดีไซน์และวัสดุที่สอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน หรืออาจส่งเสริมให้บ้านหลังเดิมดูสวยงามมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก

6 Prefab วัสดุทางเลือก

(ภาพ Tostem-Photo)

นวัตกรรมการก่อสร้างทุกวันนี้มีงานระบบ Prefabrication หรือชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่่ช่วยทุ่นเวลาเรื่องการติดตั้งและค่าแรงงานที่ทำงานหน้าไซต์งาน หรือทางเลือกของห้องสำเร็จรูปที่ทุกชิ้นส่วนมาพร้อมประกอบแบบเสร็จสรรพ ซึ่งมีข้อดีตรงที่ผ่านการผลิตจากเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดี รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของส่วนประกอบทุกส่วนมาแล้วตั้งแต่โรงงาน เรื่องที่เจ้าของบ้านต้องคิดถึงจึงเหลือเพียงแค่เรื่องการเตรียมพื้นที่สำหรับห้องใหม่ และคุณภาพงานขณะติดตั้งหน้างานเท่านั้น รวมทั้งใช้เวลาเพียง 2 วันก็ได้ใช้ห้องใหม่แบบไม่ต้องรอ

รายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปดูได้ที่ www.tostemthailand.com