ต่อเติมอย่างไรให้สวยงาม ทนทาน และใช้งานได้ดี

ต่อเติมอย่างไรให้สวยงาม ทนทาน และใช้งานได้ดี

ปัญหาหนักใจของหลายบ้านนอกจากเรื่องการดูแลรักษาและซ่อมแซม ก็เป็นเรื่องของการต่อเติม ถึงตอนพูดจะเป็นเรื่องง่ายว่าอยากจะเพิ่มตรงนู้นเติมตรงนี้ แต่พอต้องลงมือทำจริงๆ กลับมีหลายเรื่องที่ต้องคำนึงถึง แต่การรู้ไว้ก่อนและรอบคอบตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนต่อเติมนับเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้คุณไม่ต้องกลับมาปวดหัวทีหลังเมื่อมีปัญหาอื่นเกิดขึ้นตามมา หัวข้อในวันนี้ จึงขอรวบรวมข้อควรคำนึงถึงในการต่อเติมบ้านตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการต่อเติม ไปจนเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด

1 กฎหมาย เรื่องแรกสุดที่ควรใส่ใจ

(Photo by Josh Wilburne on Unsplash)

ไม่ว่าคุณจะต้องการต่อเติมเพิ่มส่วนใดออกจากตัวบ้าน ทั้งหมดนับรวมเป็น “การดัดแปลง” ในทางกฏหมายทั้งหมด หลายคนคงสงสัยว่า แล้วทำไมจึงต้องมีกฎหมายในเรื่องนี้ด้วยล่ะ ทั้งที่เป็นพื้นที่บ้านของเราเอง? นั่นก็เพราะเพื่อให้พื้นที่โดยรอบบ้านของเรามีพื้นที่เปิดโล่งสำหรับใช้เป็นเส้นทางอพยพในยามฉุกเฉิน รวมทั้งเป็นการสร้างสุขลักษณะที่ดีในการอยู่อาศัย ทั้งในเรื่องการระบายอากาศและแสงสว่าง ส่วนระยะของระยะร่นสำหรับบ้านหรืออาคารพาณิชย์แต่ละประเภทนั้น สามารถตรวจสอบได้จากกฎกระทรวงฉบับ 55 เรื่องระยะร่นและระยะห่าง (ลิงค์ http://bit.ly/2PFFPdz) และอย่าลืมแจ้งข่าวคราวให้กับเพื่อนบ้านก่อนที่จะทำการต่อเติมทุกครั้ง เพื่อไม่ให้ผิดใจกันอีกภายหลัง

2 ฟังก์ชั่นเรื่องใหญ่ แต่โครงสร้างก็ต้องใส่ใจด้วย

(ภาพจาก Contemporist)

แน่นอนว่าก่อนการต่อเติมจะเริ่มต้นขึ้น เราเองก็รู้แล้วว่าต้องการต่อเติมพื้นที่ใหม่เพื่อจุดประสงค์การใช้งานอย่างไร การต่อเติมเพิ่มมาจากตัวบ้านเดิมเราแนะนำให้ขึ้นโครงสร้างใหม่แยกออกจากบ้านเดิม ไม่ควรติดตรึงหรือเชื่อมต่อโครงสร้างใหม่ไว้กับโครงสร้างเดิม ควรเริ่มตั้งฐานรากและเสาสำหรับโครงสร้างใหม่เลย จากเหตุผลในเรื่องการรับแรงบวกกับการทรุดตัวของพื้นดิน ลองคิดง่ายๆ ว่าโครงสร้างบ้านหนึ่งหลังถูกคำนวณไว้เพื่อรับน้ำหนักตัวบ้านเองเท่านั้น หากมีการเพิ่มน้ำหนักจากส่วนต่อเติมเข้าไปอีกอาจทำให้โครงสร้างเดิมรับแรงกระทำไม่ไหว ส่งผลให้โครงสร้างทรุดตัวลง ไม่เพียงกับโครงสร้างใหม่ที่ต่อเติมเท่านั้น แต่ยังอาจฉุดดึงโครงสร้างเดิมให้พังไม่เป็นท่าได้ ถึงแม้จะเป็นฐานรากที่รับน้ำหนักได้เท่ากัน แต่ฐานรากของบ้านเดิมที่ผ่านการใช้งานแล้วย่อมเสื่อม

3 ตรวจเช็คสภาพอาคารเดิม

(ภาพจาก pinterest)

ก่อนจะทำการเพิ่มพื้นที่ใหม่ ควรเช็คส่วนของอาคารเดิมที่จะถูกต่อเติม ทั้งในส่วนโครงสร้างหลักและส่วนประกอบอื่นๆ หากพบเจอปัญหาที่โครงสร้างหลักควรรีบแก้ไขเพื่อสุขภาพของตัวบ้านเราเอง รวมทั้งส่วนประกอบอื่นๆ เช่น รอยร้าวหรือการชำรุดเสื่อมสภาพของผนังอาคารเดิม ควรรีบทำการแก้ไขให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพราะป้องกันเอาไว้ดีกว่าแก้แน่นอน

4 เฝ้าระวังจุดเชื่อมต่อ

(ภาพจาก czmcam)

สืบเนื่องจากข้อข้างบนที่บอกว่าโครงสร้างทั้งสองห้ามติดตรึงไว้ด้วยกันโดยเด็ดขาด เรื่องสำคัญลำดับต่อมาที่ต้องใส่ใจนั่นก็คือรอยต่อระหว่างพื้นผิวของบ้านหลังเดิมและพื้นที่ใหม่ตั้งแต่ส่วนหลังคาด้านบนสุดและรอยต่อระหว่างฝาผนังสองอาคารที่มักเป็นจุดรั่วซึมของน้ำฝน ซึ่งจะเข้ามาทำความเสียหายให้ภายในพื้นที่ต่อเติมใหม่ทั้งในเรื่องความชื้นและเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งจุดเชื่อมต่อทุกจุดของพื้นที่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกรอบวงกบประตูหน้าต่าง หรือหลังคาชายคาบ้าน ทุกจุดที่มีการเชื่อมต่อจึงควรตรวจสอบให้ดีตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้างว่ามีการเชื่อมหรือซีลด้วยการฉาบเรียบหรือยาแนวรอยต่อโพลิยูรีเทน ส่วนรอยต่อหลังคาควรมีการติดตั้งปีกนกไว้ก่อนยาแนวเพื่อช่วยบังน้ำฝนก่อนอีกขั้นหนึ่ง อย่าลืมเลือกวัสดุอุปกรณ์และวิธีการก่อสร้างที่ดีและได้มาตรฐาน

5 ฟังก์ชั่นก็มา ความงามก็ต้องมี

(Photo by Cassie Boca on Unsplash)

หลายคนที่คิดถึงการต่อเติม เรื่องฟังก์ชั่นมักจะมาเป็นอันดับแรกเสมอ จากเหตุผลที่เราต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่ม จนความงามถูกมองกลายเป็นเรื่องรอง แต่อย่าลืมว่า การต่อเติมบ้านไม่ว่าจะเป็นส่วนใดก็เป็นส่วนที่ถูกมองเห็นจากภายนอกเสมอ งานออกแบบที่เกิดขึ้นจึงควรทำให้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมเดิมของบ้าน ทั้งในแง่การเลือกดีไซน์และวัสดุที่สอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน หรืออาจส่งเสริมให้บ้านหลังเดิมดูสวยงามมากขึ้นกว่าเดิมไปอีก

6 Prefab วัสดุทางเลือก

(ภาพ Tostem-Photo)

นวัตกรรมการก่อสร้างทุกวันนี้มีงานระบบ Prefabrication หรือชิ้นส่วนสำเร็จรูปที่่ช่วยทุ่นเวลาเรื่องการติดตั้งและค่าแรงงานที่ทำงานหน้าไซต์งาน หรือทางเลือกของห้องสำเร็จรูปที่ทุกชิ้นส่วนมาพร้อมประกอบแบบเสร็จสรรพ ซึ่งมีข้อดีตรงที่ผ่านการผลิตจากเทคโนโลยีการก่อสร้างที่ดี รวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของส่วนประกอบทุกส่วนมาแล้วตั้งแต่โรงงาน เรื่องที่เจ้าของบ้านต้องคิดถึงจึงเหลือเพียงแค่เรื่องการเตรียมพื้นที่สำหรับห้องใหม่ และคุณภาพงานขณะติดตั้งหน้างานเท่านั้น รวมทั้งใช้เวลาเพียง 2 วันก็ได้ใช้ห้องใหม่แบบไม่ต้องรอ

รายละเอียดเพิ่มเติมเข้าไปดูได้ที่ www.tostemthailand.com