Salee Boutique Hotel โรงแรมที่แสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างแข็งแรงผ่านงานสถาปัตยกรรม

Salee Boutique Hotel โรงแรมที่แสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างแข็งแรงผ่านงานสถาปัตยกรรม

สำหรับนักท่องเที่ยว หากเอ่ยถึงเชียงใหม่ ภาพของอาหารเหนือขึ้นชื่อหรือสถานที่ท่องเที่ยวสุดเก๋คงเป็นภาพแรกที่ผุดขึ้นมา แต่สำหรับเหล่านักออกแบบแล้วนั้น จังหวัดนี้กลับเป็นพื้นที่ปล่อยของที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรม ส่งผลให้การแข่งขันค่อนข้างสูง เพราะนอกจากจะต้องออกแบบให้ไม่ซ้ำแล้ว งานออกแบบยังต้องมีเอกลักษณ์จนเกิดเป็นภาพจำที่ส่งผลดีต่อธุรกิจอีกด้วย ด้วยประเด็นที่น่าสนใจดังกล่าว วันนี้เราจึงได้รับเกียรติจาก คุณวรพจน์ ลิ้นกนกรัตน์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวิร์คสเปซอาร์คิเทกเจอร์สตูดิโอ จำกัด มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจในการออกแบบ Salee Boutique Hotel โรมแรมที่อัดแน่นด้วยกลิ่นอายของความเป็นเชียงใหม่เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม แต่ในขณะเดียวกันก็มีฟังก์ชันที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานสำหรับแขกที่เข้ามาพักได้เป็นอย่างดี

สะลี บูติก โฮเทล หรือ Salee Boutique Hotel ตั้งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มากนัก ด้วยทำเลที่มีศักยภาพอีกทั้งยังติดถนนเส้นรอบเมืองเชียงใหม่ทำให้เจ้าของโครงการจัดสินใจทำโรงแรมขึ้นมา โดยเป็นโรงแรมขนาดเล็กที่ออกแบบและก่อสร้างขึ้นมาใหม่ทั้งหมด มีห้องพักจำนวน 22 ห้องและมีรูปแบบห้องพักให้เลือกถึง 4 แบบด้วยกัน โดยเริ่มออกแบบตั้งแต่กลางปี 2016 จนก่อสร้างแล้วเสร็จในปลายปี 2019 ที่ผ่านมานี่เอง แต่นอกจากทำเลทองของโครงการแล้ว ทางเจ้าของโครงการยังให้คุณค่ากับงานออกแบบเป็นอย่างมากและไว้วางใจให้เวิร์คสเปซอาร์คิเทกเจอร์สตูดิโอดูแลงานออกแบบทั้งหมด “แนวคิดหลักที่ทาง Workspace มักใช้ในการคิดงาน คือ การผสานวัฒนธรรมในพื้นที่นั้นๆ เข้ากับสถาปัตยกรรมอย่างกลมกลืน ซึ่งก็เป็นแนวความคิดหลักในการออกแบบที่ สะลี บูติก โฮเทล เช่นเดียวกัน สำหรับการออกแบบโรงแรมแห่งนี้สิ่งสำคัญที่เราต้องการ คือ การใส่ความเป็นสถาปัตยกรรมของเชียงใหม่ที่มีรายละเอียดการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ผสมผสานเข้ากับความทันสมัยของวัสดุและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรมในยุคนี้ โดยให้ทั้งสองอย่างนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวครับ

ซึ่งสำหรับจุดเด่นของที่นี่อยู่ที่การออกแบบองค์ประกอบ (element) ทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจน อย่างการเลือกใช้โฟมสำหรับงานก่อสร้างและตกแต่งอาคารมาขึ้นงานบัวปั้นย่อมุม โดยสั่งขึ้นรูปสำเร็จมาจากโรงงานแล้วจึงนำมาฉาบปูนทาสี ที่หน้างาน ทำให้ผนังอาคารไม่เกิดการรับภาระน้ำหนักที่มากเกินไป อีกทั้งวัสดุดังกล่าวยังทนต่อสภาพภูมิอากาศได้อย่างดี ซึ่งอีกนัยหนึ่ง งานปั้นบัวย่อมุมนี้ก็มีจุดเริ่มต้นมาจากสถาปัตยกรรมล้านนา เราจึงได้นำองค์ประกอบที่โดดเด่นดังกล่าวมาเรียบเรียงในภาษาสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ โดยร่วมกันคิดกับทางเจ้าของโครงการในการหาวัสดุที่มีน้ำหนักเบาและติดตั้งง่ายซึ่งได้ผลลัพธ์ออกมาน่าพอใจมากครับ” เมื่อได้แนวความคิดในการออกแบบงานสถาปัตยกรรมแล้ว ยังมีความท้าทายในการออกแบบโครงการด้านอื่นๆ อีกหรือไม่ “ความท้าทายของ สะลี บูติก โฮเทลนี้ คือ เรื่องที่ดินของโครงการที่ตั้งอยู่ริมถนนครับ ด้วยกฎหมายการก่อสร้างอาคารทำให้อาคารที่ออกแบบจำเป็นต้องมีระยะถอยร่นที่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้การวางอาคารเพื่อตอบโจทย์ของเจ้าของโรงแรมในเรื่องจำนวนห้องทำได้อย่างจำกัด และลงตัวที่จำนวน 22 ห้อง แต่อย่างไรก็ตามด้วยระยะร่นนี้เองที่ทำให้อาคารมีด้านหน้าที่ตอบรับกับมุมมองที่ดีมาก เห็นรายละเอียดในการออกแบบสถาปัตยกรรมได้อย่างชัดเจน เกิดภาพจำติดตา อีกทั้งยังทำให้เกิดลานด้านหน้าที่เป็นทางเข้าโรงแรมที่สวยงามด้วยครับ เป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของโรงแรม”

เมื่องานสถาปัตยกรรมภายนอกลงตัวแล้วทางเวิร์คสเปซอาร์คิเทกเจอร์สตูดิโอ มีแนวความคิดในการตกแต่งภายใน การเลือกใช้วัสดุและไลท์ติ้งของ สะลี บูติก โฮเทลอย่างไร “แนวความคิดหลักในการตกแต่งภายใน คือ การออกแบบให้งานสถาปัตยกรรมไหลต่อเข้ามาในงานตกแต่งภายใน เพื่อสร้างความต่อเนื่องของการรับรู้ ร่วมกับแนวความคิดที่พยายามจะผสมผสานงานสถาปัตยกรรมเชียงใหม่ให้เข้ากับศิลปะสมัยใหม่ได้อย่างลงตัวครับ เช่น ลายผนังก่ออิฐโชว์แนวหรือลายของผ้ามัดย้อมที่สะท้อนมาที่ผนังห้อง นอกจากนี้ต้องขอบคุณทางเจ้าของโครงการที่ร่วมออกแบบไปกับเรา ไอเดียหลายๆ อย่างรวมถึงของตกแต่งที่เจ้าของโครงการไปเสาะหามาจากงาน craft ในเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงทำให้งานตกแต่งภายในดูกลมกลืนและโดดเด่นมากยิ่งขึ้นครับ”

ความสนุกในการออกแบบสะลี บูติก โฮเทล “ส่วนหนึ่งความสนุกในการออกแบบสะลี บูติก โฮเทลเป็นเรื่องของข้อจำกัดเรื่องของระยะร่นที่ได้กล่าวไปครับ นอกนั้นก็เป็นเรื่องของความสนุกของงานที่ทางสถาปนิกต้องการจะทำให้ที่ดินที่มีอยู่เกิดประโยชน์สูงสุดในเชิงการลงทุน อาคารสวยงามไม่พอธุรกิจก็ต้องไปได้ดีด้วย สิ่งสำคัญอีกประการ คือ การได้ลองแนวคิดและออกแบบใหม่ๆ ที่เจ้าของโครงการอนุญาตให้สถาปนิกได้ลองออกความคิดอย่างเต็มที่โดยไม่ปิดกั้น ซึ่งนอกจากจะไม่ปิดกั้นแล้วยังช่วยคิด ผลักดันและส่งเสริมในหลายๆ ส่วนครับ จนทำให้สะลี บูติก โฮเทลเสร็จออกมาอย่างที่ตั้งใจไว้”

จากงานออกแบบทางสถาปัตยกรรมเห็นได้ชัดว่าสถาปนิกให้ความสำคัญกับช่องเปิดที่มีความสัมพันธ์ต่อเนื่องถึงแพทเทิร์นของงานย่อมุมบนผนังอาคารในเวลาเดียวกันค่อนข้างมาก ไม่ทราบว่ามีแนวความคิดในการเลือกแบรนด์วงกบหน้าต่างอย่างไร “เราเลือกใช้ TOSTEM รุ่น WE 70 สี Autumn Brown สำหรับหน้าต่างของทางสะลี บูติก โฮเทลทั้งหมดครับ เนื่องจากตัวโรงแรมตั้งอยู่ติดกับถนน อีกทั้งแนวกันสาดของอาคารก็มีไม่มากนัก เราจึงต้องการคุณสมบัติของหน้าต่างที่กันน้ำได้อย่างดีเยี่ยมและมีค่าการกันเสียงที่ดีในเวลาเดียวกันเพื่อที่ถึงแม้โรงแรมจะอยู่ติดถนนแต่ภายในห้องก็ยังเงียบและคงความเป็นส่วนเอาไว้ได้ ซึ่งทาง TOSTEM เองสามารถตอบโจทย์ที่เราต้องการได้ทั้งหมด นอกจากนี้ด้วยคุณภาพของอุปกรณ์ต่างๆ ของ TOSTEM เรามั่นใจว่าจะทำให้เกิดปัญหาการบำรุงรักษาในอนาคตที่บานปลาย สามารถลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้เป็นจำนวนมากครับ”

แม้ว่าการออกแบบ สะลี บูติก โฮเทล จะไม่ได้ง่ายและมีความท้าทายเข้ามาทดสอบไม่น้อย ทั้งเรื่องของข้อจำกัดต่างๆ ของพื้นที่โครงการที่ต้องทุ่มเทประสบการณ์ในการออกแบบใส่ไปในโครงการนี้อย่างเต็มที่ รวมถึงการใช้ระยะเวลา 3 ปีกว่าที่ สะลี บูติก โฮเทล จะพร้อมอวดโฉม แล้วความสุขที่ได้จากการออกแบบโรงแรมแห่งนี้คืออะไร “ความสุขที่ได้จากการออกแบบ สะลี บูติก โฮเทล สำหรับเราคือ การได้ใช้ความคิดอย่างอิสระ ได้ทดลองออกแบบ รวมถึงรายละเอียดในงานสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ครับ และอย่างยิ่งอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญอย่างเจ้าของโครงการที่มีแนวคิดไปในทางเดียวกันทำให้งานนี้ออกมาได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจมากครับ”

สำหรับ สะลี บูติก โฮเทล โรงแรมขนาดเล็กที่ดีไซน์ไม่เล็กตาม เพราะเป็นโรงแรมที่กล้าจะเป็นตัวเอง กล้าที่จะนำเอกลักษณ์ของงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมาสร้างให้เกิดเส้นสายที่ใหม่ขึ้น สบายตาขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายอย่างมีชั้นเชิง ทั้งในส่วนของอาคารภายนอกที่มีการทอนรายละเอียดของย่อมุมมาใช้กับงานผนังอาคาร การตกแต่งภายในที่ร้อยเรียงงานออกแบบจากภายนอกเข้ามาได้ไม่เคอะเขิน นั่นจึงทำให้ที่นี่เป็นตัวอย่างของงานออกแบบที่สามารถแสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่อย่างแข็งแรงผ่านงานสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนและน่าค้นหาในเวลาเดียวกัน