“ทึบนอกโปร่งใน” กับการเชื่อมต่อพื้นที่ “เก่าและใหม่” ด้วยธรรมชาติ
“ปฏิสัมพันธ์ระหว่างของความเรียบง่าย และความปลอดโปร่ง”
Location: แยกรินคำ, จังหวัดเชียงใหม่ Owner: อมรศักดิ์ – วนิดา ปัญสุรินทร์ Architect: สุเมธ กล้าหาญ, พงศกร ณ พัทลุง และ พิสิฐ ฟุ้งสุข แห่ง Materior Studio Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์
“เมื่อความเป็นส่วนตัวและความรู้สึกโปร่งโล่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการอยู่อาศัย ความท้าทายที่จะสร้างสรรค์ให้ทั้งสองอย่างนี้เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างลงตัวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก” หนึ่งเหตุผลที่ทำให้เจ้าของบ้านอย่าง “คุณอมรศักดิ์ และ คุณวนิดา ปัญสุรินทร์” ไว้ใจให้คนคุ้นเคยอย่าง “คุณสุเมธ กล้าหาญ” ที่เป็นทั้งลูกเขยและสถาปนิกจาก Materior Studio มาเติมเต็มบ้านหลังใหม่ ที่ภายนอกปกคลุมไปด้วยผนังสีขาวทึบอันเรียบง่าย แต่ภายในกลับเผยบรรยากาศอันร่มรื่นของธรรมชาติอันปลอดโปร่ง และยังคงเชื่อมต่อกับบ้านหลังเก่าได้อย่างมีความสุข
คุณสุเมธ กล้าหาญ จาก Materior Studio
บ้านสีขาวสองชั้นที่เห็นอยู่ตรงหน้านี้ เป็นบ้านหลังใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นจากความต้องการของเจ้าของบ้าน ที่ต้องการขยับขยายพื้นที่อยู่อาศัยจากบ้านทาวน์เฮ้าส์ 3 ชั้นเดิม เพื่อรองรับการใช้งานของสมาชิกที่อายุมากขึ้น โดยทั้งสองได้ตัดสินใจซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ที่อยู่ด้านหลังของบ้านหลังเดิมที่อาศัยอยู่ และหวังใจว่าจะรีโนเวทบ้านหลังนี้ให้กลายเป็นบ้านหลังใหม่ในอนาคต
บ้านทาวน์เฮาส์หลังเดิมที่คุณคุณอมรศักดิ์ และ คุณวนิดา ปัญสุรินทร์ อยู่อาศัย
บ้านที่มาพร้อมที่ดินด้านหลังบ้านที่อยู่อาศัยเดิม
แทนที่ใหม่ แล้วเชื่อมไปเก่า
แต่ทว่าบ้านเก่าบนที่ดินผืนใหม่นั้นมีอายุมากกว่า 30 ปี โครงสร้างจึงค่อนข้างทรุดโทรม หากรีโนเวทอาจส่งผลกระทบในภายหลัง สถาปนิกจึงตัดสินใจทุบทิ้งและออกแบบบ้านหลังใหม่แทนที่ รวมถึงออกแบบทางเดินและคอร์ทยาดขนาดใหญ่ใจกลางระหว่างพื้นที่บ้านเก่าและใหม่ สร้างร่มเงาให้กับพื้นที่และเชื่อมความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในบ้านให้กลายเป็นหนึ่งเดียวกัน
ทึบนอก แต่โปร่งใน
เมื่อมองภาพภายนอกของบ้านที่ถูกปกคลุมไปด้วยผนังสีขาวอันเรียบง่าย แต่ละด้านมีช่องเปิดไม่มากนัก ทำให้เราค่อนข้างประหลาดใจเมื่อก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายในบ้าน เพราะกลับให้ความรู้สึกกว้างขวาง โปร่งโล่ง และร่มรื่นจากพื้นที่สีเขียวที่รายล้อมอยู่ทุกๆมุมมอง ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ คือความตั้งใจของสถาปนิกที่ออกแบบภายนอกให้ทึบ เพื่อป้องกันแสงแดดและเพิ่มความเป็นส่วนตัว ส่วนภายในเปิดรับธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
พื้นที่ชั้น 1 ถูกออกแบบให้มีฟังก์ชันอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่นั่งเล่น พื้นที่ทำงาน และพื้นที่จัดเตรียมอาหาร จัดวางในรูปแบบ Open plan และด้วยโครงสร้างแบบไร้เสา(Long Span) ที่ยาวถึง 8 เมตร ทำให้พื้นที่ดูกว้างขวางเป็นพิเศษ มีประตูอะลูมิเนียมบานเลื่อนกว้างในทิศทางที่เข้าสู่สวนใจกลางบ้านในทิศเหนือ-ใต้ ซึ่งเป็นทิศที่ลมพัดผ่าน อากาศจึงถ่ายเทได้สะดวก เมื่อเปิดทั้งหมดจะให้ความรู้สึกโปร่งโล่งอยู่สบาย และสามารถเชื่อมต่อไปยังบ้านเก่าได้
แปลนบ้านชั้น 1 และ ชั้น 2
ซึ่งข้อดีของการจัดพื้นที่กว้างแบบนี้ นอกจากทำให้รู้สึกถึงความโปร่งโล่งแล้ว ยังสามารถต้อนรับแขกผู้มาเยือนได้อย่างเต็มที่ และช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ของคนในครอบครัวให้เกิดขึ้นผ่านกิจวัตรประจำวันของตน เพราะในขณะที่คุณอมรศักดิ์นั่งทำงาน คุณวนิดาก็สามารถทำอาหารได้ ไปพร้อมกับพูดคุยซึ่งกันและกัน
ส่วนส่วนเซอร์วิสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงจอดรถ ห้องน้ำ หรือบันได ถูกออกแบบไว้ในทิศตะวันตกที่มีแดดส่องตลอดวัน เพื่อช่วยลดความร้อนจากภายนอกเข้าสู่ห้องนั่งเล่น พร้อมทั้งเปิดช่องแสงเท่าที่จำเป็นอย่างในห้องน้ำและชานพักบันได เพื่อถ่ายเทอากาศและสร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่ผู้อยู่อาศัยอีกด้วย
จะสังเกตได้ว่าพื้นที่ทั้งหมดมีการเปลี่ยนระดับน้อยมาก ทั้งนี้เพื่อรองรับการใช้งานของเจ้าของบ้านที่อายุมากขึ้นนั่นเอง ในขณะที่ชั้นสอง มีห้องนอนเพิ่มเติมสำหรับลูกสาว คุณสุเมธและหลานชายตัวน้อยในวัยที่ซุกซน
ภายในถูกตกแต่งอย่างเรียบง่าย ด้วยผนังสีขาวสะอาดตาตามความชื่นชอบของเจ้าของบ้าน ผสานกับพื้น ประตูและเฟอร์นิเจอร์ไม้ ที่เพิ่มเติมบรรยากาศภายในบ้านให้ดูอบอุ่นมากยิ่งขึ้น
ปฏิสัมพันธ์ระหว่างบ้านและธรรมชาติ
การออกแบบสวนใจกลางบ้านทำให้พื้นที่ภายในห้องนั่งเล่นเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งเปิดรับแสงและลมธรรมชาติพัดผ่านเข้ามาอย่างเต็มที่ได้ตลอดทั้งวัน โดยภายในสวนนั้นสถาปนิกเลือกปลูกต้นปีบ เพราะมีลำต้นที่สูง เมื่อมองจากภายในบ้านออกมาจะเห็นเพียงลำต้นให้ความรู้สึกโปร่งโล่งมากกว่า ในขณะที่ได้ร่มเงาและความร่มรื่นจากพุ่มด้านบนอย่างทั่วถึง
ช่องเปิดของพื้นที่ห้องนั่งเล่นมีการติดตั้งแผงบานเกล็ดอะลูมิเนียม ที่สามารถเลื่อนเปิดเพื่อเชื่อมต่อกับพื้นที่สีเชียวภายในบ้าน หรือเลื่อนปิดเมื่อต้องการความเป็นส่วนตัวได้ ทำหน้าที่เสมือนเหล็กดัดเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บ้านด้วย
นอกจากคอร์ทยาดขนาดใหญ่ใจกลางบ้านแล้ว ภายในพื้นที่ต่างๆของบ้าน ยังสอดแทรกพื้นที่สวนหินเล็กๆ ตามมุมมองต่างๆ โดยการออกแบบบานหน้าต่างกระจกที่มีขนาดกว้าง เพื่อเชื่อมทุกๆพื้นที่ภายในบ้านให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาในเวลากลางวันได้อย่างเต็มที่อีกด้วย
“สำหรับเรื่องการเลือกใช้วงกบประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม เราตั้งใจเลือกใช้ TOSTEM โดยเฉพาะ เพราะนอกจากเรื่องคุณภาพของการป้องกันเสียงรบกวนจากภายนอกที่ทำให้เจ้าของบ้านมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นแล้ว ยังมีการดีไซน์ที่เรียบง่ายตอบโจทย์ ทำให้บ้านดูสวยงามลงตัว อีกทั้งพื้นที่ห้องนั่งเล่นที่มีความยาวของช่องเปิดมากเป็นพิเศษ (ประมาณ 8 เมตร) TOSTEM ก็สามารถออกแบบให้ตรงกับความต้องการได้อย่างมีคุณภาพ” คำตอบของคุณสุเมธ เมื่อเราถามถึงช่องเปิดต่างๆภายในบ้าน
Tip: ในกรณีที่การออกแบบบานประตูหน้าต่างมีลักษณะพิเศษ อย่างบ้านหลังนี้ ที่มีความยาวที่มากกว่าปกติ ควรส่งแบบไปปรึกษาทีม TOSTEM ซึ่งทางทีมจะช่วยออกแบบลักษณะการเปิดปิด หรือดีเทลต่างๆของการใช้งานของบ้านหลังนั้นๆให้อย่างเหมาะสมที่สุด
ถึงแม้ช่องเปิดจะกว้างจนมีขนาดเท่ากับความกว้างของกำแพง แต่ TOSTEM ก็สามารถออกแบบมาได้อย่างลงตัว พร้อมทั้งระบบลอค 3 ชั้น ที่เพิ่มความปลอดภัยให้กับบ้านหลังนี้อีกด้วย
“เมื่อก่อนอยู่ทาวน์เฮาส์ พื้นที่จะถูกแบ่งเป็นชั้นๆ การใช้งานถูกตัดขาดกันโดยสิ้นเชิง แต่พอย้ายมาอยู่บ้านใหม่ มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์กิจกรรมของแต่ละคน ที่สำคัญคือสามารถเชื่อมต่อในพื้นที่เดียวกันได้” คุณสุเมธกล่าวทิ้งท้ายกับเรา เมื่อถามความเปลี่ยนแปลงของชีวิตในครอบครัว ที่นอกจากจะทำให้รู้สึกบ้านโปร่ง โล่ง อยู่สบายแล้ว ยังช่วยก่อร่างสร้างความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวผ่านการออกแบบบ้านภายใต้ร่มเงาของธรรมชาติ