บ้านในฝันถูกใจ แบ่งงบก่อสร้างอย่างไรให้ถูกต้อง

บ้านในฝันถูกใจ แบ่งงบก่อสร้างอย่างไรให้ถูกต้อง

จะต้องเตรียมเงินไว้สร้างบ้านเท่าไหร่นะ? ต้องกันเงินไว้ใช้จ่ายเรื่องไหนบ้าง? แล้วค่าอะไรจ่ายตอนไหนบ้าง? สารพัดปัญหาของคนสร้างบ้านที่มักประสบกัน เพราะบ้านหลังหนึ่งไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่ต้องเป็นบ้านที่เราอยู่แล้วสบายใจไปตลอดชีวิต การเริ่มต้นสตาร์ทตั้งแต่การเตรียมงบประมาณสร้างบ้านอย่างรอบคอบและคุ้มค่า จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรเรียนรู้ เพื่อให้ขั้นตอนการสร้างบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น กระเป๋าเงินก็จัดการได้อย่างถูกต้อง บ้านสวยก็ออกมาในแบบที่ถูกใจ

คำนวณเงิน

เริ่มจากข้อแรกสุดที่ทุกคนคิดถึงกัน “เราควรจะซื้อบ้านราคาเท่าไหร่ดี?” ง่ายที่สุดเลยคือการคิดคำนวณจากจำนวนรายรับ เพื่อให้สามารถวางแผนการผ่อนจ่ายในอนาคตได้โดยไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ในกรณีที่ต้องกู้เงิน หลักสำคัญคือ พิจารณาจากรายได้สุทธิ ซึ่งหมายถึงรายได้รวมที่หักค่าใช้จ่ายจิปาถะแล้ว เหลือเท่าไหร่เอามาคิดต่อที่ 70% ตัวอย่างเช่น คุณมีเงินเดือน 40,000 บาท หักค่าใช้จ่ายในชีวิตไปแล้ว 15,000 บาท รายได้สุทธิของคุณคือ 25,000 บาท คิดเป็นความสามารถที่ผ่อนได้อยู่ที่ 17,500 บาท (หรือ 70% ของ 25,000 บาท) จากนั้น ก็จะได้ว่าเราควรเริ่มต้นบ้านหลังนี้ที่งบประมาณเท่าไหร่ดี ด้วยการนำมาหารด้วย 7,000 บาท ซึ่งเป็นค่าโดยประมาณที่มาจากอัตราการผ่อนต่อเดือนสำหรับยอดเงินกู้ 1 ล้านบาทในเวลา 30 ปี ก็จะได้เป็น 2.5 เท่ากับยอดกู้อยู่ที่ 2.5 ล้านบาท ถ้ามีเงินโปะหรือเงินก้อนที่มากกว่านั้นก็เอามาบวกเพิ่มเป็นงบประมาณของเราได้เลย

ค่าบริการวิชาชีพ

แต่อย่าลืมว่า งบประมาณของการสร้างบ้านทั้งหมด จะต้องถูกนำมาแบ่งเป็นก้อนอีกตามรูปแบบค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเราก็แบ่งสรรมาให้แล้วแบบสำเร็จรูป ว่าควรมีสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายใดบ้าง อย่างแรกที่สุดคือ สำหรับบ้านที่ต้องการไหว้วานสถาปนิกเป็นผู้ออกแบบ เป็นคำตอบที่ทำให้เราได้บ้านอย่างที่เราต้องการมากที่สุดทั้งรูปลักษณ์และรูปแบบการใช้งาน ค่าบริการวิชาชีพไม่เพียงแต่กับสถาปนิกเท่านั้น ยังมีวิศวกรโยธา วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรงานระบบ เรามาดูกันเฉพาะค่าแบบของสถาปนิก สำหรับบ้านที่ราคาไม่เกิน 10 ล้านบาท มาตรฐานจากคู่มือสถาปนิกบอกว่าคิดเป็น 7.5% ของงบประมาณ ถ้าเกินจากนั้นก็จะคิดลดหลั่นเป็นขั้นบันได โดยการแบ่งจ่ายจะแบ่งออกเป็น 5 งวด งวดแรก – 5% เมื่อเซ็นสัญญา, งวดที่ 2 – 20% ส่งแบบร่างขั้นต้น, งวดที่ 3 – 20% ส่งแบบร่างสุดท้าย, งวดที่ 4 – 40% การออกแบบดีเทล และงวดสุดท้าย 15% ระหว่างก่อสร้าง ซึ่งสามารถยืดหยุ่นการเบิกจ่ายได้ตามที่ตกลงกับเจ้าของบ้านไว้

ค่าก่อสร้างบ้าน

งบประมาณอีกส่วนที่สำคัญคือ ค่าก่อสร้างบ้าน ซึ่งหมายรวมถึงตั้งแต่การถมที่ดินปรับระดับ โครงสร้างบ้านทั้งหมด งานสถาปัตยกรรม งานระบบไฟฟ้า-น้ำประปา-สุขาภิบาล โดยทั้งหมดจะมีแสดงใน BOQ หรือ เอกสารแสดงราคากลางในการก่อสร้าง ข้อดีของการทำ BOQ นอกจากใช้ในการสอบหาช่างผู้เชี่ยวชาญที่เสนอราคาได้ตรงกับความต้องการที่สุดแล้ว ยังช่วยควบคุมการวางแผนซื้อวัสดุก่อสร้างให้อยู่ใกล้เคียงงบประมาณและเป็นไปตามความต้องการมากที่สุด เป็นเสมือนแผนที่สำหรับการวางแผนควบคุมงานก่อสร้างที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าแบบบ้านเลย

ค่าตกแต่งภายใน

หลังจากโครงสร้างบ้านเสร็จเรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่จะต้องตกแต่งภายในเพื่อให้อาคารหลังนี้เข้าอยู่อาศัยและใช้ชีวิตได้จริง สำหรับคนที่มีงบประมาณมากหน่อยหรือใส่ใจกับการอยู่อาศัยก็จะใช้บริการนักออกแบบตกแต่งภายใน ซึ่งคิดราคาอยู่ในขั้นตอนนี้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อเฟอร์นิเจอร์ หรือแอ๊กเซสซอรี่สำหรับประดับตกแต่งบ้าน งบส่วนนี้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบความต้องการ สไตล์ เน้นให้เลือกเฟอร์นิเจอร์สำหรับการใช้งานพื้นฐานประจำวันก่อนเป็นความสำคัญอันดับแรก แล้วจึงค่อยคิดถึงการตกแต่งตามมา เพื่อให้สามารถทยอยใช้เงินได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด

ค่าสาธารณูปโภคนอกบ้าน

สุดท้ายแล้ว ก่อนที่บ้านจะใช้งานได้จริง ก็จำเป็นจะต้องติดต่อกับเครือข่ายของสาธารณูปโภคต่างๆ ให้ครบครัน ทั้งมิเตอร์น้ำ มิเตอร์ไฟ รางระบายน้ำฝนรอบบ้าน รั้วรอบขอบชิด ประตูหน้าบ้าน ทำบ้านให้สวยงามตั้งแต่แวบแรกที่ผู้คนมองเห็น เผื่อไปจนถึงการจัดสวนหรือการจัดการพื้นที่ว่างเปล่านอกบ้าน ซึ่งหากใครมีงบประมาณก็สามารถจ้างนักออกแบบสวนมืออาชีพมาช่วยตรงนี้ได้เลย เพราะความเชี่ยวชาญเรื่องการเลือกสรรพรรณไม้ให้เหมาะกับพื้นที่และสภาพแสงแดดของบ้าน รวมทั้งการจัดองค์ประกอบที่สวยงาม จะช่วยเติมเต็มความงามและความสุขให้กับบ้านและสมาชิกครอบครัว ตั้งแต่นอกบ้านก่อนเข้าไปถึงในบ้าน

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these <abbr title="HyperText Markup Language">HTML</abbr> tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

*