fbpx

สรุปแนวคิดสำคัญในงาน TOSTEM Creative Talk Re-imagine The Living Space

สรุปแนวคิดสำคัญในงาน TOSTEM Creative Talk Re-imagine The Living Space

บรรยากาศการเปิดโชว์รูม TOSTEM Flagship Showroom ที่ Crystal Design Center (CDC) อย่างเป็นทางการ กับเย็นวันศุกร์แห่งความสุข ที่นอกจากกลุ่มเพื่อนรักนักออกแบบจะได้มาพบปะสังสรรค์กันแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้กันกับงาน Creative Talk ที่ทอสเท็มจัดขึ้นเพื่อชวนทุกคนมาแชร์ประสบการณ์ออกแบบร่วมกัน ภายใต้หัวข้อ ‘Re-imagine The Living Space’ พื้นที่อยู่อาศัยจากอดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต ถูกพัฒนาและเดินหน้าต่อไปในรูปแบบใดได้บ้าง นำโดย คุณโอ๋ ชนะ สัมพลัง รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาปนิก 49 เฮาส์ดีไซน์ จำกัด (A49HD) และคุณปอย ไพทยา บัญชากิติคุณ ผู้ก่อตั้ง ATOM Design มาร่วมเล่าเรื่องราวผ่านงานดีไซน์ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์พื้นที่อยู่อาศัยที่ดีสำหรับทุกคน

หรือจริงๆ Normal ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันไม่ครบ

แล้ววันนี้เราจะสรรหา New Normal จริงๆ

มันไม่ใช่ New เราแค่ทำในสิ่งที่เราควรจะทำในอดีตไม่พอ”

– คุณชนะ สัมพลัง

Vernacular ถูกดีไซน์จากสิ่งที่เกิดตอนนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรค เรื่องสุขลักษณะ เราเดินขึ้นบ้าน ในอดีตเราต้องล้างเท้าก่อนเข้าบ้านเสมอ เพราะไม่มีใครจะป้องกันเราได้นอกจากตัวเราเอง การทำความรู้จักอาคารบ้านในอดีตมันสอนเราว่า Living Space ที่ดีมันควรเป็นอย่างไร ในเวลาตอนนั้น แต่ว่าวันนี้เมื่อเราพัฒนาเรือนของเรา เราพัฒนาสิ่งแวดล้อมเราให้มันดียิ่งขึ้น เราก็ลืมป้องกันตัวเอง ผมว่าโควิดมันสอนอะไรบางอย่างได้ ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา เราใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ หรือไม่ก็มีห้องอาบน้ำก่อนเข้าบ้าน มันกลายเป็นสิ่งที่ผมก็ย้อนภาพว่า หรือจริงๆ Normal ที่เราทำอยู่ทุกวันนี้มันไม่ครบ แล้ววันนี้เราจะสรรหา New Normal จริงๆ มันไม่ใช่ New เราแค่ทำในสิ่งที่เราควรจะทำในอดีตไม่พอ  

เวลาพูดถึงเรื่องสถาปัตยกรรม เราจะค้นหาว่า ทางเข้าคืออะไร

ห้องนั่งเล่นเราจะเล่นดีไซน์อะไร เล่นกับแสงหรือสเปซ

แต่จริงๆ แล้ว หลายอย่างที่เราจำเป็นต้องศึกษาจริงๆ ก็คือ เขาอยู่กันอย่างไร

– คุณชนะ สัมพลัง

หลายครั้งที่ผมทำบ้าน ผมก็จะต้องมีไดอะแกรมที่เปลี่ยนไปตามชีวิตของคนที่อยู่ในบ้านนั้นๆ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนใช้ไดอะแกรมเดียวกัน ทุกสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผมมักจะต้องถามลูกค้าเสมอว่า เขาเข้าห้องน้ำอย่างไร เขาเก็บจานที่พึ่งทานข้าวเสร็จไปไว้ที่ไหน คนขี้เกียจอยู่บ้านอย่างไร คนเนี้ยบมากๆ อยู่บ้านอย่างไร นั่นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาอย่างยิ่งในการทำบ้าน ทุกครั้งที่ผมสัมภาษณ์ลูกค้า ผมเรียกมันว่าการรีเสิร์ช เรากำลังขุดสิ่งที่อยู่ในใจเขาออกมา แล้วกำลังขุดสิ่งที่เขาคุ้นเคยหรือไม่คุ้นเคย และสิ่งที่เป็นประโยชน์กับการพัฒนาของคนที่อยู่ในสถาปัตยกรรมของเรา  

ผมมองภาพว่าการทำให้อาคารที่เป็นมรดกของชาติอยู่ร่วมกับประเทศนี้ได้

ต้องทำให้เขาอยู่อย่างยั่งยืน และร่วมสมัยได้

– คุณชนะ สัมพลัง

ผมมองภาพว่าการทำให้อาคารที่เป็นมรดกของชาติ หรือโบราณสถานต่างๆ อยู่ร่วมกับประเทศนี้ได้ ต้องทำให้เขาอยู่อย่างยั่งยืน ทำให้เขาอยู่ร่วมสมัยได้ เขายังมีชีวิตแบบน่าภูมิใจได้มากกว่าการที่เขาอยู่เงียบๆ สต๊าฟเขาไว้ให้ทุกคนคอยชื่นชม เวลาถามใครว่า บ้านเก่าอยากให้เอาไปทำเป็นอะไร ทุกคนตอบว่าอยากให้ทำมิวเซียม สุดท้ายพอเป็นมิวเซียม ก็ไม่มีใครไปเดิน มันไม่สามารถอยู่ได้ในโลกวันนี้ เพราะว่าเขามีค่าเมื่อร้อยปีที่แล้ว ค่าของวันนี้มันปรับตัวเองเปลี่ยนไป นี่คือสิ่งที่ผมสนใจ  

ทุกโครงการที่ทำ หวังว่าจะทำให้เมืองดีขึ้นเท่าที่จะทำได้

– คุณไพทยา บัญชากิติคุณ

ในพื้นที่ห้องคอนโด 21 ตารางเมตร สิ่งที่ต้องคิดตามมาคือว่า จะทำอย่างไรให้คนอยู่ในสเปซที่ดีได้มากขึ้น เงื่อนไขเบสิคในการใช้ชีวิตดูไม่ได้ต่างจากเดิม ในแง่ของโปรเจ็คต์ เขาต้องการหาจุดขายพิเศษขึ้นมา เราก็พยายามก็จะหาสิ่งดีๆ ตอบให้คนอยู่ได้ดีจริงๆ อย่างพื้นที่สีเขียว พอเดเวล็อปเปอร์ต่างๆ เริ่มทำ กลับกลายเป็นการสร้างความเข้าใจพื้นฐานให้กับคนอยู่ว่า ไลฟ์สไตล์ของฉันจะต้องเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่นักออกแบบทำอยู่เป็นการเซ็ตเทรนด์ของไลฟ์สไตล์ ว่าเราอยู่ในสเปซที่เล็กได้ และก็มีส่วนกลางที่ใหญ่เพื่อให้ใช้ชีวิตได้จริง  

พอหลังจากโควิดแล้ว มีคนถามเยอะมากว่า Living Room ต้องใหญ่ขึ้นไหม

และกลายเป็นว่า ครัวคือสิ่งเยียวยาจิตใจ

– คุณไพทยา บัญชากิติคุณ

ตอนนี้กระแส New Normal มีผลระดับหนึ่งในแง่ของการเซ็ตกลยุทธ์ในการทำโปรดักต์ของปีหน้าและปีถัดๆ ไป ถึงแม้ทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น ตอนนี้จึงเป็นเรื่องท้าทายที่ว่า ก่อนหน้าโควิด ห้องเล็กๆ มักจะตัดแพนทรี่ออก พอหลังจากโควิดแล้ว มีคนถามเยอะมากว่า Living Room ต้องใหญ่ขึ้นไหม และกลายเป็นว่า ครัวคือสิ่งเยียวยาจิตใจ หรืออย่างเมื่อก่อน พื้นที่ทำงานในคอนโดจะนั่งทำงานบนโต๊ะรับประทานอาหาร พอต้อง Work From Home จริงๆ พบว่า เราเก็บของทุกครั้งที่กินข้าวไม่ได้ ตอนนี้ห้องในคอนโดจำเป็นต้องมีพื้นที่ทำงาน เราจึงต้องตั้งคำถามว่า ห้องต้องใหญ่ขึ้นอีกไหม หรือจากสภาพเศรษฐกิจอย่างในปัจจุบัน เงินมูลค่าเท่าเดิมสามารถซื้อห้องในบางทำเลได้ใหญ่ขึ้นถึง 25%  

หลายที่ยังทำงานแบบ Work From Home

ตรงนี้ก็เหมือนเป็นการทดลองการทำงาน

และแปลว่า คนจะต้องอยู่ในพื้นที่อยู่อาศัยมากขึ้น

– คุณไพทยา บัญชากิติคุณ

คำว่า Decentralization (การกระจายออกจากเมือง) มันเริ่มเห็นจริงๆ เพราะบริษัทที่ผมทำงานด้วยหลายเจ้าก็ยัง Work From Home อยู่เลย ดังนั้นตรงนี้ก็เริ่มเหมือนเป็นการทดลองว่า การทำงานแบบนี้ยังได้ประสิทธิภาพการทำงานสูงเหมือนเดิมไหม ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นโอกาสที่ดี แปลว่าคอนโดมิเนียมอาจจะมีโอกาสทำให้คนต้องอยู่ที่พักมากขึ้น ถึงแม้จะหมดจากโควิดแล้ว คนก็ยังพร้อมที่จะอยู่บ้านทำงาน และพื้นที่อย่างส่วน Co-Working Space ก็มีความพยายามสร้างความเข้าใจที่ว่า หลังจาก Decentralize แล้ว ควรจะเป็นไปในทิศทางใด นั่นคือสิ่งที่ต้องหาคำตอบด้วยการสังเกต ซึ่งน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร