fbpx

HOUSE 362 เมื่อความธรรมดาส่งเสียงผ่านสถาปัตยกรรม

HOUSE 362 เมื่อความธรรมดาส่งเสียงผ่านสถาปัตยกรรม

“ความท้าทายในการออกแบบบ้านหลังนี้สำหรับผมคือ การที่เจ้าของบ้านไม่ได้มี requirementใดๆ เป็นพิเศษเลย ทั้งเรื่องของขนาดพื้นที่ หรืองานสถาปัตยกรรม นั่นคือทั้งความท้าทายและความยากในการออกแบบ HOUSE 362 ครับ” คุณจูน เซคิโน สถาปนิกผู้ออกแบบ

หากจะกล่าวถึงความหมายของคำว่า ‘ธรรมดา’ นั้น แน่นอนว่าแต่ละคนย่อมให้คำจำกัดความและขอบเขตที่แตกต่างกันไป เช่นเดียวกันกับ ‘House 362’ บ้านสองชั้นรูปลักษณ์เรียบง่าย ที่ตั้งชื่อตามบ้านเลขที่ โดยสร้างอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับบ้านหลังเก่าที่ทางเจ้าของบ้าน คือ คุณกิตติภูมิ และ คุณศันสนัย์ พงษ์สุรพิพัฒน์ ให้โจทย์กับทาง คุณจูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design เพียงว่าขอให้บ้านดูธรรมดาที่สุด เรียบง่ายที่สุดและเป็นบ้านที่สมาชิกในครอบครัวสามารถรับรู้ถึงกันและกันได้ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดของบ้าน

ซึ่งหลังจากได้ทำความเข้าใจถึงไลฟ์สไตล์และความชอบของเจ้าของบ้านแล้วแบบที่ออกมาจึงกลายเป็นบ้านขนาด 350 ตร.ม. ที่สะอาดตาด้วยเส้นสายเรียบง่ายและตรงไปตรงมาด้านรูปลักษณ์ด้วยการออกแบบหลังคาจั่ววางอยู่บนกล่องสีขาว โดยได้รับแรงบันดาลใจจากบ้านต่างจังหวัดในบ้านเราที่มีโครงสร้าง ‘ครึ่งปูนครึ่งไม้’ ทำให้ลุคของบ้านออกมามีความร่วมสมัยแต่ก็ยังรู้สึกอบอุ่นดูเป็นบ้านที่เหมาะกับการใช้ชีวิตจริงๆ สำหรับครอบครัว

(ภายนอกกรุไม้เพื่อให้บ้านมีบรรยากาศอบอุ่นยิ่งขึ้น) คุณจุนกล่าวเสริมว่า ในแบบเดิมก่อนหน้านั้นภายนอกนั้นไม่ได้ถูกกำหนดให้กรุไม้แต่อย่างใด เป็นเพียงบ้านกล่องเรียบๆ สีขาว แต่สุดท้ายจึงเสนอให้กรุไม้ไปเพื่อสร้างความอบอุ่นและดูเป็นกันเองเข้าถึงง่ายให้กับตัวบ้าน ซึ่งทางเจ้าของบ้านก็เห็นตรงกัน และตัดสินใจใช้ไม้จริงทั้งหมด เนื่องจากในความเรียบง่ายที่ต้องการนั้น วัสดุที่เป็นของจริงจะตอบโจทย์ได้ตรงที่สุดอีกทั้งยังมองว่าความเปลี่ยนแปลงของไม้จริงที่จะเกิดขึ้นตามกาลเวลาถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ดังนั้นไม้ที่กรุบริเวณผนังภายนอกจึงเลือกเป็นไม้สัก ส่วนพื้นระเบียงขนาดใหญ่ที่ยื่นไปในสนามหญ้าปูด้วยไม้ตะแบก โดยผ่านการทำสีให้มีสีอ่อนและคล้ายคลึงกัน เพื่อให้เข้ากับภาพรวมของบ้านที่ดูขาวสะอาดตา

(ลายและผิวของไม้จริงสร้างความรู้สึกพิเศษที่แตกต่างให้ทุกครั้งที่สัมผัส)

(หลังคาทรงจั่วที่ถูกทอนรูปทรงให้ออกมาร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น)

(เวลาที่เปิดช่องเปิดทั้งหมดชานบ้านจะเชื่อมต่อกับฟังก์ชั่นภายในบริเวณ Double Space เกิดเป็นพื้นที่ใช้งานขนาดใหญ่ร่วมกัน)

สำหรับการออกแบบสเปซภายในนั้น ทางผู้ออกแบบจึงเลือก Double Space ให้เป็นพื้นที่หัวใจของบ้าน ซึ่งอยู่บริเวณ Common Area ที่ถูกออกแบบให้ลักษณะแบบโอเพ่นแปลน (Open Plan) เพื่อให้ทุกฟังก์ชั่นหลอมรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ดึงประโยชน์จากทิศเหนือที่อยู่ตำแหน่งหน้าบ้านด้วยการทำช่องเปิดขนาดใหญ่ตลอดแนวและสูงจรดฝ้าเพดาน เพื่อรับแสงธรรมชาติอย่างเต็มที่ รวมถึงในช่วงเวลากลางวันจะเปิดช่องเปิดทั้งหมด เพื่อให้ลมจากภายนอกเข้ามาภายในบ้านแทนการเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดทั้งวัน ยกเว้นในกรณีที่มีแขกมาเยี่ยมบ้านหรือสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนสนิทถึงจะเปิดเครื่องปรับอากาศเป็นกรณีพิเศษ เพราะด้วยทิศทางของบ้านและช่องเปิดทำให้ภายในบ้านจะเย็นตลอดทั้งวัน

(วางเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวชิ้นใหญ่เพียงตัวเดียว เพื่อให้จบในสเปซโดยไม่จำเป็นต้องมีของตกแต่งมากเกินความจำเป็น)

(ช่องเปิดขนาดใหญ่นอกจากจะทำหน้าที่รับแสงธรรมชาติแล้ว ยังช่วยเชื่อมความรู้สึกทางพื้นที่กับบ้านเก่าให้ยังเห็นกิจกรรมบางอย่างร่วมกันอยู่ เพราะถึงแม้จะแยกบ้านกันแต่ก็ยังรู้สึกถึงกันอยู่)

(ออกแบบให้บันไดทางขึ้นบ้านอยู่หลังกำแพงเพื่อความสบายตาและยังได้พื้นที่ใช้งานได้บันไดอย่างเต็มที่)

(บริเวณแพนทรี่ครัวและโต๊ะรับประทานอาหารเป็นพื้นที่ที่คุณศันสนัย์ชอบมากที่สุด เพราะเป็นอีกจุดที่เห็นสเปซของบ้านทั้งหมด)

จากโถงบันไดขึ้นมายังชั้นสองจะพบกับทางเดิน ซึ่งผู้ออกแบบตั้งใจให้เหมือนสะพานที่ทำหน้าที่แจกฟังก์ชั่นไปตามพื้นที่ของแต่ละคนในบ้านตามฝั่งซ้าย-ขวา โดยยังให้พื้นที่ส่วนนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของ Double Space อยู่เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการใช้พื้นที่ของสมาชิกในครอบครัว นอกจากนั้นยังสร้างความรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวและรู้สึกถึงกันในครอบครัว ทำให้บ้านอบอุ่นไม่รู้สึกเหมือนต่างคนต่างอยู่

(จากโถงทางเดินชั้นสองก็ยังสามารถมองเห็นวิวด้านนอกผ่านช่องเปิดขนาดใหญ่ได้เช่นกัน) นอกเหนือจาก Double Space จะทำให้พื้นที่โปร่งโล่งแล้ว ผู้ออกแบบยังเพิ่มพื้นที่ทางแนวตั้งด้วยการออกแบบให้ฝ้าเพดานลาดเอียงไปตามความชันของโครงหลังจากจั่ว เพื่อเชื่อมความรู้สึกภายนอกสู่ภายในทางด้านสเปซ อีกทั้งพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นนี้ยังมีประโยชน์ในเรื่องของการระบายและลดการสะสมของความร้อนในบ้านด้วยเช่นกัน เนื่องจากธรรมชาติของความร้อนจะลอยตัวสูงขึ้นที่สูงและออกไปตามช่องระบายอากาศนั่นเอง

เนื่องจากเจ้าของบ้านต้องการให้บ้านดูเรียบร้อย น้อย และสะอาดตามากที่สุด เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้จึงเลือกเป็นแบบบิลท์อินที่กลืนไปกับผนังเป็นหลัก และออกแบบพื้นที่เก็บของจำนวนมากเป็นพิเศษโดยอยู่ในตู้ตามผนัง หรือออกแบบบิลท์อินเพื่อสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพียงเท่านั้น และเน้นเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวเท่าที่จำเป็น

อีกหนึ่งความพิเศษของฟังก์ชั่นในบ้านคือ ห้องสำหรับทำกิจกรรมของครอบครัว ซึ่งเป็นทั้งพื้นที่ทำการบ้านของลูกชายวัยแปดขวบและเล่นดนตรีระหว่างคุณพ่อและลูกชาย บริเวณนี้จึงเลือกติดตั้งกระจกรอบทิศทางเช่นกับพื้นที่ Double Space ที่อยู่ติดกัน โดยทางผู้ออกแบบตั้งใจเลือกหน้าต่างประเภทบานกระทุ้งมาติดกันต่อหลายๆ บานจนเกิดเป็นแพทเทิร์นที่เรียบง่ายแต่ไม่ซ้ำใคร อีกทั้งยังได้ในเรื่องของฟังก์ชั่นที่สามารถเปิดเฉพาะบานที่ต้องการใช้ได้

“ก่อนหน้านี้ที่จะมาเป็นกระจกรอบบ้าน เราเคยคิดจะใช้บล็อกแก้ว แต่ก็เปลี่ยนเพราะต้องการความสบายตาที่บางกรณีบล็อกแก้วให้ไม่ได้ แล้วยังมีอีกเรื่องที่สำคัญคือ นอกจากเรื่องไม้จริงที่ทางคุณจุนแนะนำให้ติดภายนอกบ้านแล้ว อีกประเด็นที่คุณจุนเสนอให้ลงทุนกับบ้านคือ การเลือกใช้อะลูมิเนียมที่ได้มาตรฐานกับส่วนของวงกบต่างๆ เนื่องจากเราเองก็กังวลเรื่องการรั่วซึมและเรื่องความปลอดภัยเป็นอยู่แล้ว ทางเราจึงไปเลือกดูระบบของแบรนด์ TOSTEM ด้วยตัวเอง จนแน่ใจแล้วว่าเป็นแบรนด์ที่ได้มาตรฐาน แล้วก็ยังทนเรื่องรับแรงไหวจากแผ่นดินไหวด้วย เราจึงตัดสินใจเลือกมาใช้กับทุกช่องเปิดในบ้าน ซึ่งพอติดตั้งจริงๆ ก็ค่อนข้างพอใจมาก เพราะนอกจากความแข็งแรงแล้ว ความบางและเส้นสายที่เรียบง่ายยังเข้ากับบ้าน ตรงกับความชอบของเราที่ชอบอะไรที่เรียบง่ายสบายสายตาอยู่แล้ว” คุณศันสนัย์ พงษ์สุรพิพัฒน์ เล่าถึงที่มาของช่องเปิดกระจกขนาดใหญ่รอบบ้าน

(ล็อคแบบก้านโยกแบบพิเศษเฉพาะแบรนด์ TOSTEM

(ล็อคเสริมแบบพิเศษเฉพาะแบรนด์ TOSTEM)

“ผมรู้สึกว่าบางที Concept ในการออกแบบบ้านอาจจะไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดเสมอไป แต่เป็น Feeling ที่เกิดขึ้นในสเปซ ความอบอุ่นที่เกิดขึ้นระหว่างคนใช้พื้นที่จริงๆ ที่อยู่ในพื้นที่ตลอดเวลาต่างหากคือ เรื่องสำคัญ เพราะการที่เจ้าของบ้านใช้สเปซทุกส่วนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เกร็งในการอยู่บ้านตัวเอง แล้วบ้านเองก็ให้ความเป็นมิตร อบอุ่นและเฟรนลี่กลับไป ผมว่าประเด็นนี้คือเรื่องที่ผมมีความสุขในการออกแบบบ้านหลังนี้ที่สุด” คุณจุน เซคิโน

จากจุดเริ่มต้นที่ต้องการบ้านธรรมดาเพื่อการอยู่การอยู่อาศัย กลับกลายเป็นความพิเศษในความธรรมดาด้วยการออกแบบผ่านงานสถาปัตยกรรมให้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นตัวตนจนเกิดเป็นรูปลักษณ์อาคารที่มีเอกลักษณ์ จนไปถึงสเปซภายในที่ตอบโจทย์ความต้องการของเจ้าของบ้านอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณ

Owner : คุณกิตติภูมิ-คุณศันสนัย์ พงษ์สุรพิพัฒน์

Architect : Junsekino Architect and Design

Photograph : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์