fbpx

StudioK สถาปัตยกรรมขั้วตรงข้ามที่แตกต่างอย่างลงตัว

StudioK สถาปัตยกรรมขั้วตรงข้ามที่แตกต่างอย่างลงตัว

Location: เมืองเชียงใหม่, จังหวัดเชียงใหม่ Owner: นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล Architect 1: บริษัทแผลงฤทธิ์ จํากัด Architect 2: สุเมธ กล้าหาญ Materior Studio Photograph: จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์

ครั้งแรกที่ก้าวเข้าสู่พื้นที่ภายใต้ความร่มรื่นแห่งนี้ ทำให้เราอดตั้งคำถามไม่ได้ว่าพื้นที่ภายในจะเป็นอย่างไร เพราะหากลองสังเกตดูดีๆแล้ว ยังคงมีภาพความแตกต่างของรูปแบบสถาปัตยกรรมซ่อนอยู่ ทั้งสีสัน วัสดุ รวมถึงความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาเสมือนขั้วตรงข้าม และทั้งหมดที่เรากำลังกล่าวถึงนี้คือ “สตูดิโอเค” สตูดิโอที่ผลิตผลงานศิลปะร่วมสมัยในเมืองเชียงใหม่ของ “คุณนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล”ศิลปินรางวัลศิลปาธร ผู้สร้างสรรค์ผลงานผ่านภาพวาดอันโด่งดัง ซึ่งนอกจากเป็นสตูดิโอแล้ว ยังเป็นที่พักอาศัย รวมถึงเป็นแกลอรี่แสดงงานศิลปะของเขาอีกด้วย

เพิ่มเติมความเรียบง่าย

แรกเริ่มเดิมที อาคารแห่งนี้เป็นอาคารคอนกรีตเปลือยรูปตัว L ภายในถูกวางแผนไว้ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับการทำงานศิลปะของคุณนาวินและทีมงาน รวมถึงเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะไปด้วยในตัว ซึ่งในส่วนของพื้นที่ทำงานและพื้นที่จัดแสดงศิลปะนั้นอยู่ส่วนด้านซ้ายของอาคาร ออกแบบโดย สำนักงานสถาปนิกแผลงฤทธิ์ / Plankrich แต่ในส่วนที่พักอาศัยภายใต้อาคารหลังเดิมถูกเติมเต็มเข้ามาในภายหลัง ก่อนหน้าอาคารสีดำทางขวาที่สร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดไม่นาน เพื่อเป็นแกลอรี่อีกแห่งสำหรับรองรับงานศิลปะที่มีมากขึ้น ด้วยฝีมือการออกแบบของ “คุณสุเมธ กล้าหาญ Materior Studio

ส่วนพักอาศัยที่ต่อเติมขึ้นมา ด้านล่างเป็นพื้นที่โล่ง ที่ไว้ทำงานภายนอกได้

“การทำงานกับพี่นาวิน ต่างจากการทำงานสถาปนิกกับลูกค้า เหมือนเราช่วยกันออกแบบมากกว่า เพราะพี่นาวินเค้ามีไอเดียของเขาเองอยู่แล้วประมาณหนึ่ง” คุณสุเมธเล่าให้เราฟังถึงการเริ่มต้นออกแบบส่วนพักอาศัยภายในอาคารคอนกรีตเปลือยนี้ โดยเน้นการออกแบบตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยเอง นั่นคือ “ความเรียบง่ายและสะอาดตา” ด้วยการใช้เฟอร์นิเจอร์ไม้อัดโทนสีอ่อนทั้งหมดเปิดช่องเปิดกว้างเพื่อให้สามารถดึงแสงธรรมชาติจากภายนอกเข้ามาใช้ได้ ใส่ฝ้าเข้าไป ซึ่งมีความแตกต่างจากพื้นที่เดิมที่เผยให้เห็นสัจจะวัสดุของโครงสร้างดิบเปลือยของอาคารอย่างสิ้นเชิง

ในส่วนพักอาศัยประกอบไปด้วยห้องนั่งเล่น ห้องครัว และห้องนอนอีกสองห้อง ถูกเชื่อมต่อกับห้องทำงานเดิมของคุณนาวิน เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน

ทุกพื้นที่เป็นแกลอรี่

ด้วยความที่เจ้าของบ้านเป็นศิลปิน ผนังจึงถูกเติมเต็มความว่างเปล่าด้วยภาพวาดของผลงานต่างๆ ที่เจ้าของบ้านเป็นคนสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง แขวนไว้ในทุกๆพื้นที่ดั่งเป็นแกลอรี่ในที่พักอาศัย ไม่ว่าจะเป็นผนังหลังโซฟา ผนังทีวี ห้องนอน ห้องครัว ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดที่บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัว เสมือนเป็นหนึ่งในสิ่งที่แสดงความรัก ความชอบ สานสัมพันธ์ความอบอุ่นของทุกคนในบ้าน

ตัวอย่างภาพวาดแขวนผนังภายในพื้นที่อยู่อาศัย

ดิบเปลือยแต่ปรุโปร่ง

แม้ว่าวัสดุและโครงสร้างภายนอกที่เป็นคอนกรีตเปลือย จะสร้างความรู้สึกถึงความหนักแน่นในรูปแบบของอาคาร แต่พื้นที่ภายในกลับดูปลอดโปร่งไปด้วยการออกแบบช่องเปิดในห้องนั่งเล่นที่เชื่อมต่อไปยังสวน ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ทำให้แสงธรรมชาติจากภายนอกสามารถเข้าถึงพื้นที่ภายในได้อย่างเต็มที่ และบรรยากาศถูกโอบล้อมไปด้วยความร่มรื่นของพื้นที่สีเขียว

เก่าปูน ใหม่เหล็ก

“พยายามให้พื้นที่ด้านล่างกั้นผนังน้อย วัสดุแตกต่าง เพื่อให้พื้นที่ทั้งหมดดูเบาลอย ไม่หนักมากเกินไป” คุณสุเมธกล่าวถึงเหตุผลที่อาคารใหม่นี้ใช้วัสดุเมทัลชีทสีดำแทนที่จะใช้ปูนเปือยเหมือนกับอาคารเดิม โดยด้านล่างเป็นพื้นที่คล้ายใต้ถุน ที่มีพื้นที่ของสตูดิโอเวิร์คชอป และลานจอดรถ ส่วนชั้นสองเป็นพื้นที่ของแกลอรี่ที่ภายในแสดงงานศิลปะของทาง StudioK เอง

ผนังอาคารในชั้นสอง ถูกห่อหุ้มด้วยวัสดุเมทัลชีทเพราะด้วยโครงสร้างใหม่ที่ออกแบบมาเป็นโครงสร้างเหล็ก จึงตอบโจทย์ในเรื่องของการทำงานที่ง่าย เพราะมีน้ำหนักเบา รวมถึงสีดำที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโดยมีความแตกต่าง แต่ไม่แปลกแยกจากเดิม ยังอยู่กลมกลืนและเชื่อมต่อกับอาคารเก่าและบริบทอาคารโดยรอบได้อย่างดี

ภายในเป็นสีขาว ให้เหมือนภาพพื้นหลังของงานศิลปะ ทำให้งานที่จัดแสดงมีความโดดเด่นมากขึ้น โดยเปิดช่องแสงในส่วนด้านข้าง และมีสกายไลท์ด้านบนเพื่อให้แสงเข้ามาอย่างทั่วถึง และเท่ากันในทุกๆพื้นที่

พื้นที่เชื่อมต่อระหว่างแกลอรี่ใหม่กับอาคารหลังเดิม

แตกต่างแต่กลมกลืน

แม้ว่าภายใต้พื้นที่ของ StudioK นั้น จะมีความแตกต่างทางวัสดุและรูปแบบอาคาร แต่สถาปนิกได้พยายามเชื่อมต่อภาพรวม รวมถึงจัดวางองค์ประกอบต่างๆให้ลงตัว การเพิ่มเติมอาคารหลังใหม่เข้าไปให้กลมกลืนกับของเดิม ด้วยการออกแบบแพทเทิลบานหน้าต่างที่คล้ายของเก่าให้เส้นสายของอาคารต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงเลือกใช้บานหน้าต่างที่มีประสิทธิภาพอย่าง TOSTEM เพื่อตอบสนองความต้องการของเจ้าของบ้าน ในเรื่องของความคงทนจากน้ำ และการป้องกันเสียงที่ดี

ในส่วนพักอาศัยเลือกกรอบบานหน้าต่างเป็นสีดำ ส่วนอาคารแกลอรี่เป็นสีเทาๆเพื่อให้กลมกลืนกับผนังภายในที่มีสีขาว ไม่รบกวนงานศิลปะที่จัดแสดงนั่นเอง

เลือกเป็นบานกระทุ้งในส่วนด้านหน้า เพราะเหมาะสมกับลักษณะการใช้งาน ที่สามารถเปิดไว้ให้อากาศถ่ายเทไปมาได้ และด้วยความต้องการออกแบบช่องเปิดกว้างเต็มพื้นที่ความกว้างของผนัง TOSTEM ก็สามารถออกแบบได้อย่างลงตัวตามแบบและขนาดที่ต้องการ พร้อมทั้งมีระบบล็อคที่เพิ่มความปลอดภัยอีกด้วย

การผสมผสานที่แตกต่างอย่างลงตัวภายในพื้นที่แห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการนำเสนอสิ่งใหม่ ที่จะออกแบบอย่างไรให้กลมกลืนโดยคิดถึงภาพรวม และบริบทโดยรอบ ทำให้ทุกพื้นที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมบูรณ์แบบและตอบโจทย์การอยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเดิม

ขอขอบคุณ

คุณสุเมธ กล้าหาญ จาก Materior Studio