INTHAMARA 29 จากมรดกทางโครงสร้างแบบคลาสสิก สู่สเปซในสไตล์โมเดิร์น
“บ้านหลังนี้เกิดจากการรวมกันระหว่างความคลาสสิกที่คุณพ่อชอบ ผสมกับไสตล์โมเดิร์นเรียบๆ ที่คุณอ้วนซึ่งเป็นเจ้าของบ้านชอบ เฉพาะฉะนั้นบ้านจึงออกมาเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่มีกลิ่นอายของความคลาสสิกเจืออยู่ในรายละเอียด” คุณเบ๊น-ณฤชา คูวัฒนาภาศิร สถาปนิกผู้ออกแบบ
หากจะเรียกว่าเป็น ‘ความแตกต่างที่ลงตัว’ ก็คงไม่ผิดนักสำหรับการจับคู่กันระหว่างการออกแบบที่ต่างกันสุดขั้วของสไตล์โมเดิร์นและสไตล์คลาสสิกที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกันของ คุณอ้วน-วสุ เลาจริยกุ ที่แรกเริ่มนั้นต้องการปลูกบ้านใหม่ในพื้นที่เดิมของครอบครัวเพื่อสร้างเป็นเรือนหอ โดยตั้งใจรื้อบ้านหลังเดิมที่อยู่ติดกับบ้านของคุณพ่อซึ่งเป็นสไตล์คลาสสิกออกทั้งหมดแล้วสร้างเป็นสไตล์โมเดิร์นที่ชอบ แต่ทางคุณพ่อเสนอว่าให้เก็บเอกลักษณ์บางอย่างของความคลาสสิกไว้
นั่นจึงทำให้คุณอ้วนตัดสินใจรีโนเวตบ้านหลังนี้แทนการทุบใหม่ทั้งหลังเพื่อให้ยังคงกลิ่นอายบางอย่างของบ้านเดิมที่คุณพ่อชอบไว้อยู่ โดยได้ คุณเบ๊น-ณฤชา คูวัฒนาภาศิร สถาปนิกฝีมือดีจาก I like design studio มารับหน้าที่ช่วยทำให้สไตล์ที่แตกต่างกันนั้นผสมกลมกลืนออกมาเป็นบ้านที่กลมกล่อมไปทุกรายละเอียด
“ช่วงออกแบบและก่อสร้างจนมาถึงวันนี้เราก็เรียกบ้านหลังนี้กันจนติดปากว่า ‘บ้าน 29’ ตามชื่อซอยอินทามระ 29 ส่วนเรื่องการออกแบบนั้นถ้าเป็นเรื่องของสไตล์และความชอบไม่ได้ยากหรือมีปัญหาอะไร เนื่องจากผมและคุณอ้วนชอบอะไรคล้ายๆ กันอยู่แล้ว อย่างงานออกแบบสไตล์โมเดิร์นหรือความมินิมอล ชอบบ้านขาวๆ สะอาดๆ เหมือนกัน เมื่อถึงเวลาการออกแบบเลยค่อนข้างลื่นไหล อาจจะเพราะผมกับคุณอ้วนรู้จักกันมาก่อนจะเริ่มออกแบบเลยพอทราบความต้องการและสไตล์ของคุณอ้วนมาประมาณหนึ่ง ส่วนเรื่องความท้าทายในการออกแบบคงหนีไม่พ้นว่าจะทำอย่างไรให้ความคลาสสิกกับความโมเดิร์นให้ไปด้วยกันได้นั่นแหละ ซึ่งสุดท้ายเราจึงตัดสินใจเก็บโครงสร้างเดิมไว้แล้วใส่ Element ความเป็นโมเดิร์นลงไป”
(ต่อเติมชานบ้านขนาดใหญ่สำหรับใช้งานจริงลงบนโครงสร้างเดิม)
(เก็บโครงสร้างเสาเดิมของอาคารเอาไว้เพื่อรับระเบียงบริเวณชั้นสอง) เมื่อตัดสินใจที่จะออกแบบให้เป็นบ้านที่ผสมกันระหว่างสองสไตล์แล้วทางผู้ออกแบบจึงทุบพื้นเดิมทิ้งทั้งหมดแล้วเหลือไว้แต่โครงสร้างและจำนวนของเสาที่มีจำนวนมากที่เป็นภาษาของคลาสสิกไว้ด้านนอก เพื่อให้เวลาที่มองจากภายนอกก็ยังคงรับรู้ถึงเรื่องราวเดียวกันระหว่างบ้านของพ่อกับของลูกอยู่ จากนั้นจึงดันระยะกระจกให้อยู่ด้านในเสาเพื่อให้เกิดการเข้ามุมของกระจก ช่วยให้บ้านดูเบาและสบายตา อีกทั้งจากการรื้อพื้นเดิมออกนั้นก็เพื่อที่จะสามารถให้ทำให้ฝ้าเพดานมีระดับความสูงได้แบบโมเดิร์นเกิดเป็น Double Space ที่ต่อเนื่องกัน โดยทำโครงสร้างเหล็กมาช่วยเสริมบริเวณนี้เพื่อช่วยเพิ่มความแข็งแรง
(ช่องเปิดขนาดใหญ่บริเวณห้องนั่งเล่นทำหน้าที่เปิดรับแสงและลมธรรมชาติเข้ามาอย่างเต็มที่)
(เจาะช่องเปิดรอบทิศทางเพื่อสร้างบรรยากาศโปร่งโล่งให้กับสเปซ)
Double Space บริเวณห้องนั่งเล่นเกิดจากความต่อเนื่องจากการออกแบบฟังก์ชั่นและสเปซที่มีชนาด 6.0×10.0 ม. ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ถูกจำกัดด้วยโครงสร้างของบ้านเดิม ส่งผลให้จังหวะและขนาดของช่องเปิดมีขนาดใหญ่เพื่อให้พอเหมาะกับขนาดของบ้าน อีกทั้งยังเป็นรับเปิดรับแสงจากทางทิศตะวันออกที่อยู่หน้าบ้านได้เต็มที่ เสริมกับทำชานบ้านใหม่ให้กว้างกว่าปกติบนโครงสร้างเดิม โดยมีระเบียงชั้นสองที่ถูกเปลี่ยนจาก Canopy แบบคลาสสิกมาทำหน้าหน้าที่เป็นชายคาได้อย่างลงตัว
(คุมธีมการตกแต่งด้วยสีขาวจากกระเบื้องลายหินอ่อนเป็นหลัก เนื่องจากทำความสะอาดได้ง่ายและให้ลุคที่ดูโมเดิร์นเรียบหรูในตัวเอง)
(เพิ่มช่องเปิดบริเวณโถงบันไดเพื่อลดความอึดอัด) การเลือกใช้วัสดุเพื่อให้ยังคงกลิ่นอายแบบคลาสสิกก็เป็นเรื่องสำคัญ เมื่อวันแรกที่ทำการรื้อบ้านหลังเดิมทางผู้ออกแบบก็ไปเลือกเก็บวัสดุเก่าอย่างหลังคาและไม้ เพราะสีสันและร่องรอยตามธรรมชาติทำให้เชื่อมเรื่องราวกับบ้านหลังของคุณพ่อที่อยู่ข้างกันได้ ส่วนการออกบ้านเพื่อให้โมเดิร์นมากขึ้นจึงไปเน้นตรงการลดทอนรายละเอียดของความคลาสสิกบางประการให้น้อยลงไป อย่างการยังเก็บบัวให้ล้อของเดิมแต่ลดจำนวนเส้นสายลง และเปลี่ยนวงกบประตูและหน้าต่างใหม่ทั้งหมดเป็นอะลูมิเนียมเพื่อให้ดูเรียบร้อยขึ้น
(ผู้ออกแบบเสนอไอเดียเรื่องพื้นที่เก็บของที่ต้องมีปริมาณที่ค่อนข้างมาก เนื่องจากบ้านโมเดิร์นต้องการความเรียบเป็นสำคัญจึงทำให้บ้านหลังนี้มีพื้นที่เก็บของจำนวนมากและหลายสไตล์ ทั้งเป็นตู้ที่ถูกออกแบบให้ฝังไปในผนังหรือชั้นวางของที่สูงจรดเพดาน)
(สะพานกระจกที่เป็นอีกหนึ่งกิมมิกของบ้าน ทำขึ้นเพื่อต้องการเชื่อมมุมมองจากชั้นล่างขึ้นชั้นบนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน)
“ผมเป็นคนแนะนำให้คุณอ้วนเลือกใช้ TOSTEM เพราะงานที่ผมออกแบบที่ผ่านมาได้มีโอกาสใช้TOSTEM พอเคยใช้แล้วรู้สึกว่าสินค้าได้มาตรฐาน มีคุณภาพแล้วราคาไม่ได้สูงจนเกินไปนัก จึงนำมาใช้กับบ้านคุณอ้วนต่อ โดยที่ช่องเปิดส่วนอื่นๆ ของบ้านเราใช้ขนาดมาตรฐานตามที่แบรนด์มี” คุณเบ๊น-ณฤชา สถาปนิกผู้ออกแบบ
จากมรดกทางโครงสร้างแบบคลาสสิกของบ้านเดิมสู่สเปซและรูปลักษณ์ในสไตล์โมเดิร์นที่ถูกเปลี่ยนให้เข้ากันด้วยการออกแบบ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนรสนิยมของเจ้าของบ้านแล้ว การเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของการออกแบบสไตล์คลาสสิกเอาไว้ไม่ว่าจะเป็นบัว เสาหรือวัสดุบางอย่างเอาไว้แสดงให้ถึงเรื่องความความผูกพันระหว่างครอบครัว รวมไปถึงเกิดเป็นพื้นที่ที่มีกลิ่นอายความอบอุ่นที่สัมผัสได้ชัดเจนในทุกๆ สเปซ
(สร้างลูกเล่นให้หน้าต่างบานกระทุ้งด้วยการย้ายตำแหน่งมายังบริเวณใต้กระจกเงา)
(ระบบล็อคดีไซน์พิเศษเพื่อการใช้งานที่สะดวกและปลอดภัย)
ขอขอบคุณ
Owner : คุณวสุ เลาจริยกุ
Architect : I like design studio โดย คุณณฤชา คูวัฒนาภาศิร
Photograph : จิณณวัตร บริหารกิจอนันต์