ในงานศิลปะ การผสมสีนั้นเป็นพื้นฐานของการรังสรรค์งานที่มีความหลากหลาย เช่นเดียวกับสไตล์การออกแบบสถาปัตยกรรมที่ไม่มีขอบเขตอะไรตายตัว การผสมกันระหว่างสไตล์โมเดิร์นที่โดดเด่นด้วยความเรียบง่ายและกลิ่นอายของยุค Mid Century ที่มีเอกลักษณ์ชวนหวนย้อนนึกถึงในวัยเด็กจึงถูกเลือกนำมาผสมผสานกันจนเกิดเป็นโครงการ DE VIELLE BY AMORNCHAI (เดอวีลล์ บาย อมรชัย) ที่ดึงเอาจุดเด่นของทั้งสองสไตล์มาออกแบบบ้านจนเกิดเป็นความลงตัว และเปรียบการใช้ชีวิตในสเปซที่มีคุณภาพเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า
“ทางเราเคยออกแบบโครงการให้คุณศิริวรรณ ผ่องเสริมสุข เจ้าของโครงการมาก่อนแล้วสองโครงการ โดยโครงการ DE VIELLE BY AMORNCHAI นี่เป็นโครงการที่สาม พอได้มีโอกาสออกแบบที่นี่เราเลยอยากเปลี่ยนการทำงานที่มีรูปแบบหรือสไตล์โมเดิร์นที่แตกต่างไปจากเดิม เริ่มแรกของการออกแบบเราเลยมาคุยถึงคาแรกเตอร์ของรูปแบบบ้านกันก่อน โดยคิดถึงภาพรวมของโครงการทั้งหมด เช่น เมื่อเริ่มเข้าไปยังโครงการจะพบเจออะไร เข้าไปในบ้านจะเจออะไร จะให้ความรู้สึกและบรรยากาศไหน
สุดท้ายแล้วจึงมาลงตัวที่แบบในยุค 60 ในยุคเซนจูรี่ ที่เรารู้สึกว่ามันอบอุ่น จากนั้นจึงพัฒนาแปลนของบ้าน และ Layout โครงการในเวลาต่อมา ซึ่งในเรื่องงานดีไซน์ต้องบอกว่าเราโชคดีที่ทางเจ้าของโครงการนั้นเข้าใจและเปิดกว้าง ที่สำคัญคือให้คุณค่ากับงานดีไซน์มาก นั่นจึงทำให้โครงการนี้ออกมามีเอกลักษณ์ค่อนข้างชัด และเสียงตอบรับจากลูกค้าที่เข้ามาดูโครงการก็เป็นในเชิงบวกครับ” คุณราชิต ระเด่นอาหมัด สถาปนิกผู้ออกแบบโครงการกล่าว
เมื่อได้จุดลงตัวของรูปแบบของบ้านภายนอกแล้ว จึงมาถึงในขั้นตอนการใส่รายละเอียดให้คาเรกเตอร์บ้านชัดเจนขึ้น อย่างการเลือกใช้หลังคาจั่วที่คนไทยคุ้นเคยและผูกพัน การใช้เสาสี่เหลี่ยมผืนผ้ามาทำหน้าที่รับน้ำหนักโครงสร้างแต่ก็ยังใช้มาเป็นส่วนประกอบของหน้าตาของบ้าน หรือจะเป็นการกรุไม้เทียมและกระเบื้องโมเสคซึ่งเป็นตัวแทนวัสดุในยุคยุค Mid Century เพื่อสร้างให้บ้านมีความอบอุ่นมากยิ่งขึ้น
“ตอนเราเริ่มออกแบบเราจะจำลองเป็นภาพสามมิติในหัวก่อนว่าเราเดินเข้าไปในสเปซแบบนี้เราจะเจออะไร มันจะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้น หรือเจออะไรที่ยังไม่ลงตัวก็ปรับแก้ รวมไปถึงคาแรกเตอร์ของบ้านด้วยที่จะมีการผสมระหว่างโมเดิร์นกับยุคเซนจูรี่ เราก็ดึงเอา element บางอย่างมารวมกัน เช่น หลังคาทรงจั่วที่สวยงามและใช้งานได้ดี หรือบริเวณผนังนอกบ้านก็ใช้โมเสคมาประดับ โดยเลือกใช้สีโทนอบอุ่นเพื่อความสบายตา เติมเฉดเทาเล็กน้อยเพื่อความทัน ส่วนในการตกแต่งภายใน ถ้าเป็นบ้านเราจะออกแบบแปลนเฟอร์นิเจอร์ให้อยู่แล้วเพื่อความสะดวกของลูกค้าในการตกแต่งหรือเพิ่มเติมอะไรในภายหลัง”
เมื่องานออกแบบสถาปัตยกรรมลงตัวแล้วทางผู้ออกแบบจึงเริ่มพัฒนาแปลนของบ้านต่อ จนได้ Type บ้านออกมา 2 แบบ คือ Grandio ขนาดพื้นที่ 249 ตร.ม. และ Nuvo ขนาดพื้นที่ 215 ตร.ม. ที่จะแตกต่างกันที่ขนาดพื้นที่และการจัดฟังก์ชั่น โดย type Grandio จะมีห้องนอนชั้นหนึ่งด้วย เพื่อตอบโจทย์เรื่องผู้สูงอายุในครอบครัว ส่วน type Nuvo ก็โดดเด่นในเรื่องของสเปซที่บริเวณโถงของห้องนั่งเล่นจะเป็น Double Space โดยแบบบ้านทั้งสองแบบจะเน้นเรื่องการเชื่อมต่อพื้นที่จากภายในสู่ภายนอก คือ เน้นการมองเห็นวิวผ่านช่องเปิดขนาดใหญ่ ซึ่งนอกจากได้วิวแล้วยังช่วยในการเรื่องระบายอากาศที่ร้อนและความชื้นจากสภาพภูมิอากาศของภาคใต้ที่มีฝนตกชุกตลอดปีอีกด้วย
“สำหรับเรื่องการเลือกใช้วงกบประตู-หน้าต่าง เราตั้งใจเลือกใช้ TOSTEM โดยเฉพาะ เพราะนอกจากเป็นแบรนด์ที่เราสบายใจในการจะเลือกใช้ เรายังเชื่อใจในเรื่องคุณภาพของแบรนด์ แล้วอย่างที่บอกคือเรื่องของการดีไซน์ที่เรียบง่ายของ TOSTEM ก็เข้ากับแนวความคิดในการออกแบบในโครงการพอดี สำหรับบ้านทุกหลังเราเลือกใช้อลูมิเนียมสี Autumn Brown ซึ่งสีสวยและขับให้งานออกแบบเด่นชัดขึ้นด้วย”