fbpx

7 ข้อควรรู้ ก่อนทำประตูบานเลื่อนแบบเปิดสุด

7 ข้อควรรู้ ก่อนทำประตูบานเลื่อนแบบเปิดสุด

เรื่องของการวัดขนาดความกว้างของช่องเปิดที่ต้องการเปิดออกให้สุด เพื่อจะได้เลือกขนาดและบานเลื่อน เป็นรูปแบบของกรอบบานประตูในฝันของหลายๆ คน นั่นก็เพราะข้อดีในเรื่องการเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอกเข้าด้วยกันได้สมบูรณ์ และเรียบร้อยสวยงาม เช่นนั้นแล้ว ก่อนที่จะเลือกบานเลื่อนแบบเปิดสุดมาใช้ มีเรื่องไหนที่ควรรู้เกี่ยวกับตัวบาน และการจะติดตั้งบานแบบนี้ต้องคำนึงถึงเรื่องไหนบ้าง เรารวบรวมมาให้เรียบร้อยแล้วในบทความนี้

1 ระบบรางยึดที่มั่นคง

เพราะบานประตูหน้าต่างของบานเลื่อนแบบเปิดสุดส่วนใหญ่มีระยะทางที่ต้องเลื่อนสำหรับเปิดปิดที่ยาว ข้อควรคิดถึงอย่างแรกเลยคือ อุปกรณ์ประกอบหน้าบานจะต้องแข็งแรงทุกส่วน ตั้งแต่ส่วนนอกบานอย่างรางเลื่อนบน-ล่าง ไปจนถึงการยึดตรึงหน้าบานเข้ากับส่วนประกอบต่างๆ อย่างมั่นคง เพียงพอที่จะรับน้ำหนักของหน้าบานและแรงของการเลื่อนเปิด-ปิดได้ หัวใจสำคัญจึงอยู่ที่การเลือกอุปกรณ์หน้าบานและการติดตั้งที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อรองรับการใช้งานได้ตลอดอายุของบาน  

2 รางเลื่อนส่วนล่าง เปิดกว้างในระดับดีเทล

Photo by Michael Browning on Unsplash

รายละเอียดเล็กน้อยอย่างรางเลื่อนส่วนล่างก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยให้บานเลื่อนแบบเปิดสุดสามารถเปิดกว้างทั้งทางมุมมองการมองเห็นและฟังก์ชันการใช้งาน โดยการทำให้พื้นทั้งสองฝั่งเรียบเสมอกัน ไม่มีสิ่งใดสะดุดหรือขวางกั้น อาจจะใช้การฝังรางเลื่อนลงในพื้น หรือจะใช้เป็นการแขวนกับรางบนเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงความแข็งแรงของอุปกรณ์ที่สามารถรับน้ำหนักของหน้าบานทั้งบานบวกกับแรงกระแทกจากการเปิดปิดได้ รวมทั้งตัวรางที่จะต้องลื่น รวมทั้งรางบน-วงกบ-เสาเอ็น ทำระนาบขนานกับพื้น และเข้ามุมฉากพอดี  

3 ระนาบหัวใจสำคัญของบานเลื่อน

การเลื่อนเปิดปิดหน้าบานประตูนั้น สมดุลเป็นเรื่องสำคัญ การเตรียมพื้นที่หน้างานก่อนการติดตั้งให้ได้ระนาบในทุกมิติจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งระนาบในแนวดิ่ง แนวราบ มุมฉาก 90 องศาครบทุกมุม โดยเฉพาะการเลื่อนเปิดปิดแบบสุดที่จะต้องเลื่อนเป็นระยะทางยาว ระนาบที่ได้ระดับจะช่วยถนอมรักษารางเลื่อนและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ให้ยาวนานตลอดอายุการใช้งาน  

4 ความกว้างของช่องเปิด กับหน้าบานที่เหมาะสม

ต่อมาก็เป็นเรื่องของการวัดขนาดความกว้างของช่องเปิดที่ต้องการเปิดออกให้สุด เพื่อจะได้เลือกขนาดและจำนวนของหน้าบานประตูที่ต้องใช้ได้อย่างพอเหมาะพอดี เพราะหากบานกว้างไปก็จะมีเรื่องการรับน้ำหนักและแรงกระแทก หรือหากบานแคบไป ก็อาจดูอึดอัดไม่สบายตา หากความกว้างของช่องเปิดอยู่ที่ไม่เกิน 3.5 เมตร สามารถใช้บานเลื่อนแบบ 2 บานบน 2 ราง, ความกว้างของช่องเปิดไม่เกิน 5.5 เมตร สามารถใช้แบบ 3 บานบน 3 รางหรือ 4 บานบน 2 รางได้ และที่ความกว้างของช่องเปิดไม่เกิน 6 เมตร ควรใช้แบบ 6 บาน บน 3 ราง  

5 บานประตูแบบซ่อนในผนัง

ภาพจาก thespruce.com / decorpad.com

สำหรับคนที่วางแผนอยากทำบานที่เลื่อนเปิดแล้วซ่อนในผนังหรือ Pocket Door แนะนำให้คิดตั้งแต่ช่วงขั้นตอนการออกแบบ ก่อนเริ่มวางแผนก่อสร้าง เพราะมีเรื่องต้องคำนึงถึงตั้งแต่เรื่องการเบิ้ลผนังให้ได้ความหนาและความกว้างของช่องผนังกับของบานประตูที่จะต้องซ่อนเข้าไป การซ่อนวงกบเข้าไปในผนัง หรือการซ่อนฝังรางเลื่อนบนให้แนบเนียนไปกับพื้นผิวรอบข้าง เพื่อให้เก็บหน้าบานและเก็บงานได้เรียบร้อยสวยงาม รวมไปถึงการติดตั้งตัวหยุดบานในพื้นที่การหยุดหน้าบานที่เหมาะสม  

6 หลายบานเลื่อนรวบไปเก็บทีเดียว

วิธีการเปิดหน้าบานให้สุดอีกแบบ คือการเลื่อนหน้าบาน ไม่ว่าจะเป็น 2, 3, 4 หรือ 6 หน้าบานเข้าไปเก็บที่ผนังด้านใดด้านหนึ่ง สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือรูปแบบของรางล่างที่ต้องจำนวนรางต้องรองรับกับจำนวนหน้าบาน จึงควรเลือกรูปแบบรางล่างตั้งแต่ขั้นตอนการก่อสร้าง ว่าจะเป็นรางล่างแบบฝังลงในพื้น หรือแบบวางบนพื้น แต่ที่สำคัญคือต้องทำความสะอาดง่าย ระบายน้ำฝนได้ดี เพราะรางล่างมักมีปัญหาของฝุ่นหรือน้ำฝนลงไปกักขัง ยิ่งจำนวนรางมาก ก็ต้องทำความสะอาดมากขึ้นด้วย  

7 บานเลื่อนคู่เข้ามุม

ภาพ Bob Gundu

เปิดรับทัศนวิสัยให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ด้วยการใช้บานเลื่อนเปิดออกจากมุมไปเก็บกับด้านผนัง โครงสร้างของเสาเอ็นและทับหลังของกรอบบานจะต้องคำนวณสำหรับการติดตั้งบานเลื่อนเข้ามุมโดยเฉพาะ จุดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือจุดที่ชนกันตรงมุมของบานประตูทั้งสอง อุปกรณ์ประกอบจะต้องแข็งแรง และควรติดตั้งยางกันกระแทกเพื่อลดแรงลง พร้อมกับเพื่อปิดซีลหน้าบานให้แน่นสนิท รวมทั้งตัวรางควรเลือกให้เหมาะสมพอดีกับประตู เพื่อที่หน้าบานจะได้ไม่แกว่งเวลาเลื่อนเปิด หรือกระแทกกันแรงเกินไปเมื่อเลื่อนปิด