เทรนด์สถาปัตยกรรมโลกยุคหลังโควิด-19
การเกิดอุบัติการณ์ครั้งใหญ่แต่ละครั้ง มักเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ทุกคนได้กลับมาหวนคิดถึงความเป็นอยู่แท้จริงที่มนุษย์ต้องการ หลังจากที่เราต่างก็ทุ่มเทใช้เวลานอกบ้าน ทำงานหามรุ่งหามค่ำกันเสียเป็นส่วนมาก
กับยุคโควิด-19 ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ จากมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมทำให้เราได้กลับมาอยู่บ้านมากขึ้น ให้ความเอาใจใส่กับพื้นที่อยู่อาศัยกันมากยิ่งขึ้น ด้วยการเติมสิ่งที่สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้สีเขียว หรือการจัดสรรพื้นที่ที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากบ้านแต่ละหลังสู่ภาพรวมของชุมชน สถาปนิกและภูมิสถาปนิกเองก็ได้ทบทวนถึงรูปแบบอาคารที่ความต้องการใช้สอยตอบรับกับพฤติกรรมมากยิ่งขึ้น โดยเน้นที่ความปลอดภัย และสุขภาวะสร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะ
เพราะไวรัสตัวร้ายเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น การรักษาร่างกายให้แข็งแรงจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่จะต่อสู้กับโรคร้ายเหล่านี้ให้ได้ คีย์เวิร์ดสำคัญของงานสถาปัตยกรรมในยุคหลังโควิด-19 จึงเป็นเรื่องของการสร้างสุขภาวะที่ดีในทุกพื้นที่ที่เราต้องการใช้งาน ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์พร้อมกับเทคโนโลยีเพื่อสร้างการใช้งานพื้นที่ที่ปลอดภัย และเสริมสร้างร่างกายที่แข็งแรง
เครดิตภาพ : Photo by Paige Cody on UnsplashTouchless Technology
ประเด็นสำคัญที่ได้รับการพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ หลังจากเกิดปรากฏการณ์โควิด-19 ซึ่งติดต่อจากการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส นั่นคือการลดการสัมผัสกับสิ่งของรอบตัวให้ได้มากที่สุด เทคโนโลยีอัตโนมัติต่างๆ จึงถูกนำมาใช้งาน จากเดิมอาจจะเพียงใช้งานเพื่อเพิ่มความสะดวก แต่มาถึงปัจจุบัน จุดประสงค์สำคัญของการไม่ต้องแตะต้องพื้นผิวของวัสดุจึงเป็นเรื่องของการป้องกันการติดเชื้อไวรัสแบบไม่รู้ตัว
จากเดิมที่เราคุ้นเคยกับก๊อกน้ำแบบไม่ต้องสัมผัส ประตูเซ็นเซอร์อัตโนมัติ หรือการสั่งการเปิดปิดระบบไฟด้วยสมาร์ทโฟนภายในบ้าน เหล่านี้จะถูกขยายขอบเขตออกสู่การใช้งานให้ครอบคลุมกับการใช้งานวัสดุอุปกรณ์ที่แต่เดิมต้องใช้การสัมผัส โดยเฉพาะกับพื้นที่สาธารณะ ตัวอย่างเช่น ลิฟต์สั่งการด้วยเสียง การใช้เซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหวเพื่อช่วยในการเปิดปิดอุปกรณ์ หรือการควบคุมการปิดเปิดระบบจากส่วนกลางเพื่อลดการสัมผัสให้ได้มากที่สุด
เครดิตภาพ Photo by Sergey Zolkin on UnsplashSelf-Cleaning Space
วัสดุของอนาคตคือ Self-Cleaning Materials หรือวัสดุที่ทำความสะอาดตัวเองได้ ที่มีการพัฒนานวัตกรรมด้านวัสดุในหัวเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และยิ่งเข้มข้นอีกในยุคที่ทุกคนต้องรักษาความสะอาดเป็นพิเศษ
มองตั้งแต่ภาพรวมขนาดใหญ่ ยกตัวอย่างห้องน้ำทำความสะอาดตัวเองได้ กำลังมีการพัฒนาห้องน้ำที่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อทันทีหลังการใช้งานทุกครั้ง เพื่อเพิ่มความสะอาดและปลอดภัยโดยเฉพาะกับพื้นที่สาธารณะ อย่างในโรงแรม ห้างสรรพสินค้า รวมทั้งเพิ่มการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการสัมผัสเชื้อโรค อย่างที่เราเคยต้องสกรีนเครื่องตรวจสอบโลหะก่อนเข้าห้างสรรพสินค้าทุกครั้ง ก็จะมีการเพิ่มเติม Temperature Screening การสกรีนตรวจสอบอุณหภูมิร่างการ หรือการฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตก่อนเข้าสู่พื้นที่ปิดที่มีผู้ใช้งานจำนวนมาก
ลึกลงไปจนถึงภาพรวมของงานวัสดุที่ผู้ผลิตหลายรายต่างก็พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำความสะอาดตัวเองได้ หรืออย่างน้อยก็ต้องทำความสะอาดง่าย เพื่อเพิ่มความเข้มข้นของความสะอาดให้มากขึ้น ยกตัวอย่างผู้ผลิตผืนผ้าและฟินนิชชิ่งหลายรายกำลังพัฒนาพื้นผิวสัมผัสด้วยการผสมสารเคมีลงในเส้นใยที่มีคุณสมบัติต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย
เครดิตภาพ Photo by Tedward Quinn on UnsplashSmall and Vertical Solutions
เพราะการต้องกลับมาทำงานที่บ้าน ทำให้หลายคนกลับมาดูแลใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในบ้านมากขึ้น หลักการง่ายๆ อย่างการระบายอากาศยังคงใช้งานได้ดีกับที่อยู่อาศัย สำหรับประเทศไทยแล้วนี่คือหลักการเบื้องต้นเพื่อสร้างสุขภาวะให้กับบ้าน ทั้งการเปิดบ้านหน้าต่างให้ลมผ่านอยู่เสมอ การเพิ่มการไหลเวียนอากาศด้วยการใช้โถงแบบดับเบิ้ลสเปซ
แต่สำหรับในต่างประเทศที่มีพื้นที่จำกัด วิกฤตการณ์ครั้งนี้ทำให้นักออกแบบต้องกลับมาให้ความรู้กับผู้คนในเรื่องการระบายอากาศและการสร้างสุขภาวะที่ดีภายในบ้านอีกครั้งหนึ่ง พื้นที่ที่เคยอยู่อย่างแออัด ต้องจัดให้มีทางระบายอากาศ หรือการออกแบบที่เหมาะกับแต่ละภูมิประเทศ เพื่อให้การอยู่บ้านสร้างคุณภาพชีวิต และสุขภาพร่างกายที่ดี ไม่แพ้กับออกไปแฮ็งก์เอ๊าต์นอกบ้านอย่างไลฟ์สไตล์เช่นที่เคยเป็นมา
เครดิตภาพ Photo by on Unsplash
Healthy Working
สิ่งที่วิกฤตการณ์ครั้งนี้กระทบกับหลายภาคส่วนคือรูปแบบการทำงาน งานหลายประเภทสามารถกลับมาทำที่บ้านได้ ดังนั้นการทำงานที่ไหนก็ได้ จะต้องทำงานอย่างมีสุขภาพที่ดีด้วย หลังจากที่ยุคก่อนหน้าทำงานกันหนักมากและจริงจัง หรืองานอีกหลายประเภทที่เอากลับมาทำที่บ้านไม่ได้ ก็ต้องมีการทบทวนการจัดรูปแบบการทำงานที่ทั้งกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ แต่ก็ยังปลอดภัยรักษาระยะห่างได้ดี
พัฒนาพื้นที่ทำงานจากที่เคยเป็นกั้นคอกต่างคนต่างทำงานเป็นสัดเป็นส่วน มาสู่ยุคของการระดมสมองด้วยการเปิด Open Planning และพื้นที่ส่วนกลางที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ลงมือทำงานร่วมกัน มายุคนี้โจทย์จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรให้การระดมสมองครั้งนี้ปลอดภัยด้วย เราจะเห็นได้จากหลายที่เลือกใช้วัสดุใสอย่างอะคริลิก หรือโพลิคาร์บอเนตซึ่งมีความใส เพื่อให้ยังสร้างปฏิสัมพันธ์ไปได้พร้อมกับความปลอดภัย รวมทั้งการที่หลายองค์กรมีการจัดพื้นที่ทำงานให้มีสุขภาวะที่ดี ทั้งในเรื่องการระบายอากาศ การเติมบรรยากาศ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ที่เหมาะกับประเภทของการทำงานที่แตกต่างกัน
แม้การเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรมในครั้งนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นแบบยิ่งใหญ่ หากแต่ริเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงทางแนวคิดที่ทุกคนหันมาใส่ใจสถาปัตยกรรมเพื่อสร้างสุขภาพที่ดีมากขึ้น ด้วยการบูรณาการความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยี จากส่วนผสมเล็กน้อยเหล่านี้ จะรวบรวมกลายเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ที่ตอบรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตได้อย่างแข็งแรง ปลอดภัย และมีความสุข
เครดิตภาพ Photo by Austin Distel on Unsplash