ความจริงเรื่องการติดตั้งมุ้งลวด
ในขณะที่เราต้องการระบายอากาศและความโปร่งโล่งให้กับบ้าน แมลงและยุงก็เป็นสิ่งกวนใจที่มาพร้อมอากาศเสมอ มุ้งลวดจึงเป็นทางเลือกที่ทุกบ้านเลือกใช้กับช่องเปิด ไม่ว่าจะเป็นกับช่องประตูหรือหน้าต่าง เบื้องหลังตะแกรงลวดบางๆ นี้ ยังมีรายละเอียดซ่อนอยู่มากมายที่ชวนให้คุณมาทำความรู้จักตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าในบ้านที่ต้องอาศัยอยู่ทุกวัน
เลือกมุ้งลวดจากฟังก์ชั่นที่ต้องการ
ฟังก์ชั่นของมุ้งลวดอย่างที่เราคุ้นเคยกัน คือมุ้งลวดที่ติดตั้งกับกรอบบานของประตู-หน้าต่าง ซึ่งก็มีจำแนกตามรูปแบบการใช้งานลงไปอีกว่า จะเลือกใช้เป็นมุ้งลวดแบบบานเลื่อนหรือบานเปิด-ปิดสำหรับติดตั้งเสริมกับบานประตูทั้งแบบทึบหรือแบบกระจก ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ใช้งานว่าเหมาะสมกับรูปแบบใด เช่น ประตูทางเข้าหลักของบ้านที่ใช้เป็นบานทึบแบบเปิดออก อาจเลือกใช้มุ้งลวดแบบบานเลื่อนหากมีพื้นที่สองข้างของหน้าบานเหลือสำหรับการเลื่อนออก ช่วยเพิ่มพื้นที่การใช้งานภายในบ้านมากกว่าการใช้มุ้งลวดแบบบานเปิด-ปิด ที่ต้องเผื่อพื้นที่สำหรับการเปิด-ปิดมุ้งลวดภายในบ้านอีก นอกจากนั้นยังมีมุ้งลวดแบบอื่นๆ เพื่อแก้ไขจุดบกพร่องของมุ้งลวดแบบเดิมๆ อย่างเรื่องความสะดวกในการใช้งานและความสวยงาม เช่น การใช้มุ้งลวดพับจีบ ซึ่งเมื่อเปิดใช้งานจะใช้การสไลด์แล้วตัวมุ้งลวดจะถูกพับซ้อนกันเข้าไปเก็บอยู่ในขอบของหน้าบานแบบบานเฟี้ยม จึงสามารถเปิดหน้าบานออกได้สุด และไม่เกะกะระหว่างการใช้งาน อีกแบบคือมุ้งลวดม้วนเก็บที่ทำงานเหมือนกับม่านม้วน นั่นคือเมื่อไม่ต้องการใช้งาน ก็ม้วนไปเก็บอยู่กับขอบวงกบของหน้าต่าง และบานรางเลื่อนเองก็สามารถม้วนเก็บไปกับตัวม่านได้ในกรณีติดตั้งกับประตู ซึ่งแบบม้วนก็เพิ่มเรื่องความทนทานในการใช้งานมุ้งลวดขึ้นไปได้อีก
(เครดิตภาพ archdaily)
เลือกวัสดุตามงบประมาณ
แน่นอนว่าอีกปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกชนิดของวัสดุมุ้งลวดคือเรื่องราคา เพราะวัสดุแต่ละประเภทก็มีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไป วัสดุสำหรับมุ้งลวดก็มีทั้งเส้นอะลูมิเนียมแบบที่เราเห็นกันตั้งแต่เด็ก ถึงจะมีข้อดีเรื่องความโปร่ง แต่ก็มีข้อเสียในเรื่องความทนทานที่เรามักเห็นกันบ่อยๆ ว่าพอใช้งานไปสักพัก เส้นอะลูมิเนียมจะเปราะเมื่อโดนความชื้นมากๆ มุ้งลวดแบบไฟเบอร์ เป็นวัสดุที่แก้ไขข้อเสียของมุ้งลวดอะลูมิเนียมตรงที่ไม่เป็นสนิม และไม่สะท้อนแสงแวววาว แต่หากเมื่อใช้งานไปนานเข้าก็อาจฉีกขาดได้ง่าย หรือถ้าโดนแรงกระแทกจังๆ ก็อาจเสียรูปทรงในการใช้งานไปเลย อีกแบบก็คือ มุ้งลวด uPVC จากวัสดุพลาสติก ที่มีการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับตัวมุ้งลวดด้วยการเติมสารป้องกันรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตและป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น ภายในห้องจึงอยู่สบายและประหยัดพลังงานจากการใช้เครื่องปรับอากาศ วัสดุอีกแบบที่นำมาทำมุ้งลวดคือไนล่อน แต่ก็มีความแตกต่างจากสองแบบข้างต้นคือ แม้จะเหนียว แต่ความทึบของเส้นลวดทำให้ดูไม่โปร่ง ส่งผลต่อการระบายอากาศซึ่งไม่ดีเท่าที่ควร รวมทั้งมุ้งลวดนิรภัยที่ทำจากเหล็กกล้าไร้สนิม ที่มีหัวใจหลักในเรื่องความแข็งแรงทนทาน และสามารถติดตั้งได้กับบ้านริมทะเลที่มักเกิดการกัดกร่อนจากไอเกลือ
(เครดิตภาพ newblinds)
ติดตั้งมุ้งลวด ด้านในหรือด้านนอก?
การติดตั้งทั้งสองแบบก็มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกันไป แบบที่นิยมกันในบ้านเราคือการติดตั้งจากด้านใน เพราะอิงจากทิศทางการเปิดประตูบ้านที่ต้องผลักออกจากตัวบ้าน รวมทั้งความนิยมของการใช้วัสดุมุ้งลวดแบบอะลูมิเนียมซึ่งบอบบางและเสื่อมสภาพเร็ว จึงมักติดตั้งมุ้งลวดเอาไว้ในบ้านเพื่อให้สะดวกต่อการดูแลรักษาและเปลี่ยนใหม่ แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หากเราเลือกวัสดุของมุ้งลวดที่แข็งแรงมาตั้งแต่ต้น การติดตั้งมุ้งลวดเอาไว้ด้านนอกเป็นทางเลือกที่ดี เพราะฝุ่นละอองต่างๆ ที่ผ่านจากอากาศภายนอกเข้าสู่ภายในบ้านจะถูกดักจับขั้นต้นที่มุ้งลวด เมื่อเราปิดบานหน้าต่างด้านใน ฝุ่นก็จะยังคงกักอยู่นอกหน้าต่าง ไม่เข้ามาก่อกวนและกำเนิดโรคภูมิแพ้ ข้อดีต่อมาคือ อายุการใช้งานของมุ้งลวดจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเวลาใช้งานเราเพียงเปิดปิดหน้าต่างเท่านั้น ไม่ต้องแตะต้องกับตัวมุ้งลวดเลย ไม่เหมือนกับปกติที่ต้องเปิดมุ้งลวดก่อนถึงจะปิดหน้าต่างได้ บางทีมือก็เผลอไปโดนตัวมุ้งลวดจนเสียรูปร่างไปอีก ถัดมาคือเรื่องการดูแลรักษาและทำความสะอาด เพราะกักฝุ่นเอาไว้ข้างนอกทั้งหมด การทำความสะอาดก็ทำได้ง่าย ไม่เปรอะเปื้อนพื้นที่ภายในบ้าน รวมทั้งตัวน้ำฝนเองก็ช่วยชะล้างทำความสะอาดมุ้งลวดไปในตัวด้วย ส่วนใครที่กลัวเรื่องความแข็งแรงในฤดูพายุฝน ตัวกรอบมุ้งลวดเองก็มีระบบกันยกบาน ป้องกันมุ้งลวดร่วงหล่น จึงอยู่บนพื้นที่ติดตั้งได้อย่างแน่นหนา
(เครดิตภาพ archdaily)
จากทั้งหมดที่เล่ามา น่าจะพอเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับการตัดสินใจเลือกมุ้งลวดครั้งต่อไป ทั้งในเรื่องฟังก์ชั่น วัสดุ รวมถึงเรื่องรูปแบบการติดตั้ง ซึ่งข้อหลังอาจจะดูผิดแปลกจากความคุ้นเคยของช่างชาวไทยอยู่บ้าง แต่ด้วยคุณภาพมาตรฐานของวัสดุก็จะเป็นคำตอบให้ได้ว่า แบบไหนคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบ้านหลังนี้ของคุณ