fbpx

Introduction to Doors & Windows รู้จักรูปแบบของบานประตู-หน้าต่าง

Introduction to Doors & Windows รู้จักรูปแบบของบานประตู-หน้าต่าง

ประตู-หน้าต่างคือส่วนประกอบพื้นฐานที่สุดของบ้าน แต่เพราะดูเป็นเรื่องง่าย หลายคนก็เลยละเลย ทั้งที่จริงแล้วประตู-หน้าต่างคือผู้ช่วยสำคัญที่เสริมลุกให้ตัวบ้านเข้ากับคอนเซ็ปต์ที่ออกแบบไว้ และยังช่วยครีเอตรูปแบบของพื้นที่ตามฟังก์ชั่นการใช้งานที่ต้องการอีกต่างหาก

ทีนี้พอจะต้องเลือกประตูและหน้าต่างก็เริ่มคิดไม่ออกแล้วว่า ควรจะเริ่มต้นจากตรงไหน เรามาไล่ดูประตู-หน้าต่างแต่ละแบบกันดีกว่า ในที่นี้เราเลือกแบ่งประเภทตามรูปแบบการเปิด แล้วค่อยๆ ดูไปทีละตัวว่าถูกใจกับหน้าตาหรือฟังก์ชั่นการใช้งานของตัวไหน แล้วเรื่องดีไซน์ก็จะตามมาได้เอง

บานเปิด (Swing Door) บานเปิดแบบธรรมดาสามัญที่สุด ความพิเศษที่เกิดขึ้นจึงอยู่ที่วิธีการดีไซน์หน้าบานให้เข้ากับสไตล์ของบ้านและระดับความเป็นส่วนตัวที่ต้องการ ข้อดีจึงอยู่ที่ใช้งานง่าย เปิดออกได้สุดบาน แต่ต้องคำนึงถึงทั้งเรื่องระยะเปิดว่าจุดที่จะเปิดบานต้องไม่มีอะไรกีดขวาง และเมื่อเปิดหน้าบานทิ้งไว้แล้วไม่ไปขวางพื้นที่อื่น

บานเปิดแบบคู่ (Swing Bifold Door) บานเปิดแบบคู่ถูกแบ่งครึ่งออกเป็นสองบาน ประหยัดระยะเปิดที่ไม่ต้องกว้างเท่ากับบานเปิดสะวิงแบบเดี่ยว หรือหากต้องการไซส์แบบบานสะวิงธรรมดา ก็จะได้ทางเข้าห้องที่ใหญ่ขึ้นอีกแบบดับเบิ้ล แต่พอมีสองบาน การติดตั้งหน้าบานจะต้องทำงานเบิ้ลขึ้นเป็นสองเท่าจากหน้าบานเดี่ยว และจะต้องติดตั้งระยะบน-ล่างให้เท่ากันทั้งสองบานเพื่อให้งานดูเรียบร้อยสวยงาม

เครดิตภาพ : mydomaine

บานหมุน (Pivot Door) ประตูแบบบานหมุนมักพบใช้เป็นส่วนกั้นแบ่งและเชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างสองห้องมากกว่าที่จะใช้เป็นประตูทางเข้าหลัก นั่นก็เพราะจุดหมุนซึ่งอยู่ตรงกลางทำให้บานเปิดหมุนออกได้เพียง 90 องศา จึงมักใช้หน้าบานตั้งแต่ 2 บานขึ้นไปเพื่อเปิดระยะผ่านเข้าออกให้กว้างขวางขึ้น แต่หากใช้บานเดียวสำหรับเป็นทางเข้าออกก็ทำได้เช่นกัน แต่ต้องควบคุมบาลานซ์ของหน้าบานจากจุดหมุนที่ต้องเลื่อนไปใกล้ขอบบานประตูมากขึ้น ซึ่งควรปรึกษาช่างผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้คำนวณระยะและการติดตั้งให้

เครดิตภาพ : archdaily

บานหมุนแนวนอน (Vertical Pivot Window) บานหมุนแบบแนวนอนถูกนำมาใช้กับหน้าต่างสำหรับระบายอากาศ เพราะมุมที่เปิดออกทำได้มากที่สุดเพียง 90 องศา ซึ่งหากติดตั้งอุปกรณ์ล็อกที่หนาแน่น ก็จะสามารถปรับระดับองศาการเปิดที่ต้องการได้

เครดิตภาพ : hannaskoog

บานเฟี้ยม (Accordian Door) ข้อดีของบานเฟี้ยมที่สามารถเปิดออกได้เพื่อเชื่อมบริเวณทั้งสองพื้นที่เข้าด้วยกันโดยไม่มีอะไรขวางกั้น ทำให้นิยมใช้บานเฟี้ยมกับห้องที่เชื่อมต่อกับพื้นที่สวน และพื้นที่ภายในห้องที่มีขนาดจำกัด แต่การติดตั้งบานเฟี้ยมแนะนำให้ควรติดตรึงไว้กับทั้งรางทั้งเหนือบานและบนพื้น เพื่อป้องกันหน้าบานแกว่งเมื่อต้องเปิดปิดบ่อยๆ ส่งผลถึงเรื่องอายุการใช้งานและอันตรายอื่นๆ ที่อาจตามมา

บานเลื่อนแบบแขวน (Top-Hung Sliding Door) บานเลื่อนแบบแขวนให้ลุกแบบโรงนา ซึ่งมีข้อดีคือ ไม่จำเป็นต้องทำรางบนพื้น เมื่อเปิดหน้าบานออกจึงราบเรียบเสมอกันทั้งสองห้อง ไม่มีการเดินสะดุด แต่ข้อเสียก็คือ หากบานประตูหนักมากและตัวแขวนด้านบนรับน้ำหนักได้ไม่ดี รวมทั้งการเปิดปิดบ่อยๆ แรงๆ ก็อาจทำให้หน้าบานตกเร็ว

เครดิตภาพ : studiomunge

บานกระทุ้ง (Awning) เพียงย้ายบานพับจากด้านข้างขึ้นไปไว้ด้านบน หน้าต่างบานเปิดธรรมดาก็กลายเป็นหน้าต่างบานกระทุ้งแล้ว หน้าต่างแบบนี้เหมาะสำหรับใช้ระบายอากาศ และป้องกันแสงสะท้อนจากแดดจัดของวัน ข้อแนะนำสำคัญคือควรติดตั้งอุปกรณ์ประกอบ เช่น บานพับและขอสับให้แข็งแรงมากๆ เพราะบานพับเป็นตัวรับน้ำหนักเพียงตัวเดียวของหน้าบาน

บานชัตเตอร์ (Shutter Window) บานชัตเตอร์มักพบมากกับการใช้หน้าบานเป็นเกล็ดไม้ เพื่อความโปร่งโล่ง และสามารถระบายอากาศร้อนขึ้นด้านบนออกสู่ซี่ระหว่างเกล็ดไม้ได้ จึงเหมาะสำหรับใช้เป็นพื้นที่แบ่งระหว่างส่วนในบ้านกับพื้นที่สวนนอกบ้าน บานชัตเตอร์ประกอบด้วยส่วนรับน้ำหนักสองส่วน ได้แก่ ส่วนบานพับและรางด้านข้างสำหรับขัดกำกับความสูงของการเปิด จึงควรเลือกอุปกรณ์ล็อกให้แข็งแรง

เครดิตภาพ : pinterest

บานเกล็ด (Louver Window) บานเกล็ดกระจกแบบหมุนเป็นประเภทของหน้าต่างบานเกล็ดที่เราคุ้นเคยกันดี แต่แท้จริงแล้วบานเกล็ดยังรวมถึงไม้ และวัสดุอื่นได้อีก ฟังก์ชั่นหลักของบานเกล็ดคือใช้ระบายอากาศภายในห้อง โดยบานเกล็ดจะมีข้อจำกัดเรื่องความกว้างเนื่องมาจากน้ำหนักของกระจก ถ้ายิ่งกว้างมาก น้ำหนักมาก อุปกรณ์ประกอบก็ยิ่งต้องหนาแน่นมาก แต่ข้อเสียของบานเกล็ดคือถอดง่าย จึงอาจไม่ปลอดภัยนักหากต้องติดตั้งกับงานภายนอกบ้าน

เครดิตภาพ : wearefound

บานฟิกข้างประตูทางเข้าหลัก (Sidelights) นอกจากบานหน้าต่างแบบที่เปิดได้แล้ว ยังมีบานกระจกหรือบานหน้าต่างแบบติดตรึง หรือที่เรียกว่าบานฟิกอีก ซึ่งใช้สำหรับเป็นพื้นที่รับแสงธรรมชาติจากนอกบ้านเข้ามาสร้างแสงสว่างภายในบ้าน โดยนอกจากบานฟิกธรรมดาแล้ว บานฟิกที่ติดอยู่ข้างประตูบ้านหลักยังมีชื่อเรียกเฉพาะว่า Sidelights แต่เดิมเป็นช่องสำหรับมองออกไปนอกบ้าน แต่ปัจจุบันซึ่งสามารถใช้กระจกเป็นวัสดุประตูได้ ก็ยังมีการติดตั้งกรอบบานฟิกข้างประตูทางเข้าหลักเพื่อความสวยงาม และเปิดมุมมองการรับแสงจากภายนอกให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก

เครดิตภาพ : homestratophere

Leave a Reply

Your email address will not be published.

You may use these <abbr title="HyperText Markup Language">HTML</abbr> tags and attributes: <a href="" title=""> <abbr title=""> <acronym title=""> <b> <blockquote cite=""> <cite> <code> <del datetime=""> <em> <i> <q cite=""> <s> <strike> <strong>

*